Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อน-หลังรับยาสงบประสาททางหลอดเลือดดำ

MU DENT faculty of dentistry

คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อน-หลังรับยาสงบประสาททางหลอดเลือดดำ

รศ.พญ.เบญจมาศ อภิพันธุ์

ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

การให้ยาสงบประสาททางหลอดเลือดดำ
คือ การบริหารยาสงบประสาทเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดความวิตกกังวล โดยที่ผู้ป่วยยังมีสติอยู่สามารถทำตามคำสั่งของทันตแพทย์ได้ ซึ่งในวิธีการสงบประสาทด้วยวิธีนี้ ทำให้ผู้ป่วยสงบมากขึ้น และมักจะทำในหัตถการหรือการผ่าตัดที่ใช้เวลาไม่นาน

 

ทีมวิสัญญี คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการด้านวิสัญญี ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการผ่าตัด ให้ได้รับความปลอดภัยและพึงพอใจในการบริการของหน่วยวิสัญญี บุคลากรกลุ่มนี้คือ วิสัญญีแพทย์,วิสัญญีพยาบาล และผู้ช่วยวิสัญญี

 

คำแนะนำการปฏิบัติตัว ก่อน การได้รับยาสงบประสาททางหลอดเลือดดำ

1. งดน้ำ นม เครื่องดื่ม และอาหารทุกชนิด หลัง 24.00 น.
เพื่อป้องกันอันตรายจากการอาเจียนและสำลักเศษอาหารเข้าหลอดลม/ปอด

2. ท่านต้องแจ้งประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานประจำ
เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาเบาหวาน ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาโรคหัวใจ วิตามินหรืออาหารเสริม รวมทั้งยาสมุนไพรต่างๆ ให้แพทย์ทราบ และนำยามาในวันผ่าตัดซึ่งยาบางชนิดต้องรับประทานในเช้าวันผ่าตัดกับน้ำปริมาณเล็กน้อย และยาบางชนิดต้องงด

3. แจ้งการแพ้ยาหรือสารทุกชนิด การผ่าตัดในอดีต และปัญหาสุขภาพอื่นๆ
ประวัติเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับใช้ในการวางแผนและให้การรักษา

4. ควรงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
เพื่อลดเสมหะและลดการไอ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหายใจ

5. ต้องมีญาติมาด้วย
เพื่อช่วยเหลือในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เป็นผู้ดูแลระหว่างท่านเดินทางกลับบ้าน และสามารถดูแลท่านได้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

6. ถ้าตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
จะต้องแจ้งให้ทีมวิสัญญีทราบ เพราะยาสามารถผ่านรกและอาจเกิดผลเสียต่อทารกได้ ถ้าเป็นการผ่าตัดที่ไม่รีบด่วน ควรจะทำหลังจากคลอดบุตร

7. ถอดฟันปลอมที่ถอดได้/คอนแทคเลนส์/เครื่องประดับทุกชนิด
ฝากเก็บไว้กับญาติ ก่อนไปห้องผ่าตัด

8. กรณีเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ
เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หรือมีน้ำมูก ต้องแจ้งทีมวิสัญญีให้ทราบโดยละเอียด ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องหายจากอาการดังกล่าว อย่างน้อย 2 สัปดาห์ จึงจะสามารถให้ยาสงบประสาทโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

9. ควรล้างสีเล็บ และควรตัดเล็บมือให้สั้น
เพื่อจะวัดค่าออกซิเจนทางปลายนิ้ว และสังเกตความเปลี่ยนแปลงจากการขาดออกซิเจน

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

การให้ยาสงบประสาททางหลอดเลือดดำ มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ บางครั้งอาจมีอันตรายถึงชีวิต การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดของทีมวิสัญญี จะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้

ภาวะแทรกซ้อนอันตรายหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมี 2 ประเภท คือ ความรุนแรงเล็กน้อยและรุนแรงมาก

ภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงเล็กน้อย อาจเกิดขึ้นบ่อย แต่ไม่เป็นอันตราย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เสียชีวิตจากการระงับความรู้สึก การหายใจล้มเหลว หัวใจล้มเหลว โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง(Anaphylaxis) พบน้อยมาก

ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค และชนิดของการผ่าตัด ตลอดจนการเตรียมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด กล่าวคือ ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง

 

การปฏิบัติตัว หลัง การได้รับยาสงบประสาททางหลอดเลือดดำ

1. ให้กลับบ้านพร้อมญาติและพักผ่อนภายหลังจากการผ่าตัด
2. ไม่ควรทำกิจกรรมต่างๆ ภายหลังการผ่าตัด และควรอยู่ภายใต้การดูแลของญาติอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งหายจากอาการมึนงง ประมาณ 24 ชั่วโมง
3. อาการมึนงง อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับยาสงบประสาท

– ให้นอนราบสักครู่
– ให้ดื่มน้ำหวานเล็กน้อย

4. ไม่ควรรับประทานอาหารหลักทันที หากรู้สึกหิวให้รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก,ข้าวต้ม เป็นต้น
5. ไม่ขับยานพาหนะ ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
6. ไม่ใช้ของมีคมหรือเครื่องจักรกล ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
7. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
8. ไม่ทำธุรกรรมหรือสัญญาข้อตกลงใดๆ ภายใน 24 ชั่วโมง
9. หากมีอาการผิดปกติ ให้กลับมาพบแพทย์ก่อนวันนัดหมาย

คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อน-หลัง รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วไป

MU DENT faculty of dentistry

คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อน-หลัง รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วไป

รศ.พญ.เบญจมาศ อภิพันธุ์

ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

การระงับความรู้สึกแบบทั่วไป

คือ การให้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยหลับ ปราศจากความกลัวและความวิตกกังวลไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการผ่าตัดได้ ด้วยการให้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำและมีการสูดยาดมสลบเข้าทางระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย
ทีมวิสัญญี

คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการด้านวิสัญญี ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการผ่าตัด ให้ได้รับความปลอดภัยและพึงพอใจในการบริการของหน่วยวิสัญญี บุคลากรกลุ่มนี้คือ วิสัญญีแพทย์,วิสัญญีพยาบาล และผู้ช่วยวิสัญญี

 

คำแนะนำการปฏิบัติตน ก่อน การได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป

1. งดน้ำ นม เครื่องดื่ม และอาหารทุกชนิด หลัง 24.00 น. หรืออย่างน้อย 8 ชั่วโมง
เพื่อป้องกันอันตรายจากการอาเจียนและสำลักเศษอาหารเข้าหลอดลม/ปอด

2. ท่านต้องแจ้งประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานประจำ
เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาเบาหวาน ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น รวมถึงวิตามินอาหารเสริม และยาสมุนไพรต่างๆ ให้แพทย์ทราบ และนำยามาในวันผ่าตัด ซึ่งยาบางชนิดต้องรับประทานในเช้าวันผ่าตัดกับน้ำปริมาณเล็กน้อย และยาบางชนิดต้องงด

3. แจ้งการแพ้ยา อาหารหรือสารทุกชนิด การผ่าตัดในอดีต และปัญหาสุขภาพอื่นๆ
ประวัติเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับใช้ในการวางแผนและให้การรักษา

4. ควรงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
เพื่อลดเสมหะและลดการไอ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหายใจ

5. ควรล้างสีเล็บ และควรตัดเล็บมือให้สั้น
เพื่อจะวัดค่าออกซิเจนทางปลายนิ้ว และสังเกตความเปลี่ยนแปลงจากการขาดออกซิเจน

6. ในกรณีที่มารับการผ่าตัดบางชนิด ซึ่งไม่ต้องนอนพักค้างคืนในโรงพยาบาล ต้องมีญาติมาด้วย
เพื่อช่วยเหลือในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เป็นผู้ดูแลระหว่างเดินทางกลับบ้าน และสามารถดูแลท่านได้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

7. หากตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
จะต้องแจ้งให้ทีมวิสัญญีทราบ เพราะยาสามารถผ่านรกและอาจเกิดผลเสียต่อทารกได้ ถ้าเป็นการผ่าตัดที่ไม่รีบด่วน ควรจะทำหลังจากคลอดบุตร

8. ถอดฟันปลอมที่ถอดได้/คอนแทคเลนส์/เครื่องประดับทุกชนิด
ฝากเก็บไว้กับญาติ ก่อนไปห้องผ่าตัด ถ้ามีฟันโยกควรแจ้งให้ทีมวิสัญญีทราบ

9. กรณีเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ
เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หรือมีน้ำมูก ต้องแจ้งทีมวิสัญญีให้ทราบโดยละเอียด ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องหายจากอาการดังกล่าว อย่างน้อย 2 สัปดาห์ จึงจะสามารถให้ยาระงับความรู้สึกโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

การระงับความรู้สึกแบบทั่วไป มีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้เสมอ การให้ยาแม้เป็นขนาดที่แนะนำ ก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดของทีมวิสัญญี จะป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้

ภาวะแทรกซ้อนอันตรายหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมี 2 ประเภท คือ ความรุนแรงเล็กน้อยและรุนแรงมาก

ภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงเล็กน้อย อาจเกิดขึ้นบ่อย แต่ไม่เป็นอันตราย ได้แก่

– คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
– เจ็บคอ เสียงแหบ
– ฟันโยก ฟันบิ่น ฟันหัก
– ปัสสาวะลำบาก
– สับสน สะลึมสะลือ หรือมีอาการหลงลืมได้ในระยะแรก
– ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
– เจ็บปวดแผลผ่าตัดมากกว่าปกติ

 

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

เสียชีวิตจากการระงับความรู้สึก เส้นโลหิตในสมองแตก การหายใจล้มเหลว หัวใจล้มเหลว อัมพาตหรือแขนขาอ่อนแรง โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง(Anaphylaxis) พบน้อยมาก ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค และชนิดของการผ่าตัด การเตรียมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด กล่าวคือถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง

 

การปฏิบัติตัว หลัง การได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป

1. ฝึกการหายใจ โดยให้ผู้ป่วยหายใจเข้าเต็มที่ช้าๆ และหายใจออกยาวๆ ทันทีที่รู้สึกตัวดีใน 1 – 2 ชั่วโมง โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหรือศีรษะสูง เพื่อการขยายของทรวงอกได้เต็มที่ จากนั้นสูดหายใจเข้าลึกๆ ทางจมูก แล้วค่อยๆผ่อนออกทางปาก ทำเช่นนี้ประมาณ 5 – 10 ครั้ง ทุกชั่วโมงหลังผ่าตัด จะช่วยให้ปอดขยายตัวและลดภาวะแทรกซ้อนของระบบหายใจ เช่น ภาวะปอดแฟบหลังผ่าตัด หากมีอาการหายใจหอบเหนื่อยให้แจ้งแพทย์ทันที

2. หากมีอาการเจ็บคอ ให้จิบน้ำในปริมาณเล็กน้อย บ่อยครั้ง อาการจะดีขึ้น
ใน 1 – 3 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีเสียงแหบ ให้แจ้งแพทย์ทันที

3. ขี้ผึ้งที่ใช้ป้ายตาจะหมดไปได้เอง หลังจากที่ล้างทำความสะอาดใบหน้า หากมีอาการตามัวลง มองไม่ชัดเท่าเดิม ให้แจ้งแพทย์ทันที

 

การปฏิบัติตัว หลัง การได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป (กรณี ไม่ได้ นอนพักรักษาตัวที่ รพ.)

1. ให้กลับบ้านพร้อมญาติและพักผ่อนภายหลังจากการผ่าตัด
2. ไม่ควรทำกิจกรรมต่างๆ ภายหลังการผ่าตัด และควรอยู่ภายใต้การดูแลของญาติอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งหายจากอาการมึนงง ประมาณ 24 ชั่วโมง
3. อาการมึนงง อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป

– ให้นอนราบสักครู่
– ให้ดื่มน้ำหวานเล็กน้อย

4. ไม่ควรรับประทานอาหารหลักทันที หากรู้สึกหิวให้รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม เป็นต้น
5. ไม่ขับยานพาหนะ ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
6. ไม่ใช้ของมีคมหรือเครื่องจักรกล ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
7. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
8. ไม่ทำธุรกรรมหรือสัญญาข้อตกลงใดๆ ภายใน 24 ชั่วโมง
9. หากมีอาการผิดปกติ ให้กลับมาพบแพทย์ก่อนวันนัดหมาย

คำแนะนำการปฏิบัติตนหลังการผ่าตัดขากรรไกร

MU DENT faculty of dentistry

คำแนะนำการปฏิบัติตนหลังการผ่าตัดขากรรไกร

ผศ.ทพ. สุรกิจ วิสุทธิวัฒนากร

ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

อาการสำคัญ
– หลังการผ่าตัดจะทำให้เกิดการปวดและบวมได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะจะบวมมากในช่วง 3 วันแรก และจะดีขึ้น หลังผ่านไป 1 – 2 สัปดาห์ สามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยยาแก้ปวดที่ทันตแพทย์จ่ายให้เมื่อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน
– อาการชาหลังผ่าตัดเป็นสิ่งปกติ การผ่าตัดขากรรไกรบนสามารถทำให้ริมฝีปากบน แก้ม และปีกจมูกชาได้ การผ่าตัดขากรรไกรล่างสามารถทำให้ริมฝีปากล่าง คาง หรือลิ้นชาได้ อาการชาจะค่อยๆ ดีขึ้น วิตามิน B1 – 6 – 12 สามารถบรรเทาอาการชาได้เร็วขึ้น

 

ระยะเวลาในการพักรักษา
– ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัดอาจกินเวลาประมาณ 3 ถึง 5 วัน
– หลังทันตแพทย์พิจารณาให้กลับบ้านได้แล้ว จะทำการนัดติดตามดูอาการทุกสัปดาห์จนกว่าจะครบ 1 เดือน เพื่อตัดไหม ล้างแผล และปรับการสบฟัน
– กรณีใส่แผ่นพลาสติกใส ที่ติดอยู่กับฟันบนจะเอาออกประมาณ 1 เดือน หลังการผ่าตัด
– ทันตแพทย์อาจจะใช้ยางดึงขากรรไกรบนและล่าง เพื่อแก้ไขการกัดฟันไม่ลงหรือฟันไม่สบกัน ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ระหว่างนี้ผู้ป่วยให้รับประทานน้ำและอาหารเหลวทางปาก ผ่านทางกระบอกฉีดยา ช้อน ถ้วย ใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ เมื่อการสบฟันดีขึ้น ผู้ป่วยจะนัดพบกับทันตแพทย์จัดฟันเพื่อทำการจัดฟันต่อไป

 

คำแนะนำการปฏิบัติตนขณะกลับไปพักรักษาต่อที่บ้าน
1. การรับประทานยา ควรรับประทานยาตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด/ครบถ้วน ห้ามหยุดยา/เพิ่มหรือลด ขนาดยาเองโดยเด็ดขาด หากมีปัญหาให้รีบติดต่อกลับ
2. การรับประทานน้ำและอาหาร ควรรับประทานอาหารเหลวใสในช่วงสัปดาห์แรกของการผ่าตัดหรืออาหารปั่น เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดของบาดแผลในช่องปาก ไม่ควรเคี้ยวอาหารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 – 3 เดือน หรือตามทันตแพทย์แนะนำ เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 สามารถเริ่มรับประทานอาหารอ่อนนิ่มได้ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ตุ๋น เกี๊ยมอี๋ และสามารถรับประทานอาหารปกติ (ไม่กรอบ – แข็ง) ได้ เมื่อผ่าตัดไปแล้ว 3 เดือน
3. การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน สามารถทำได้ตามปกติ 1 – 2 สัปดาห์แรก ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้แรงหนัก เช่น ยกของ วิ่ง เนื่องจากร่างกายมีการสูญเสียเลือด หลังจากสัปดาห์ที่ 2 สามารถออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้ หลังสัปดาห์ที่ 12 สามารถออกกำลังกายแบบแอโรบิค วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ได้ ควรหลีกเลี่ยง กีฬาที่มีการปะทะ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเลย์บอล หรือ กีฬาโลดโผน
4. การนอนหลับ ควรนอนศีรษะสูง 30 องศา ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยให้ยุบบวมเร็วขึ้น
5. อาจรู้สึกว่ายังมีไหมเย็บอยู่ในช่องปาก ซึ่งไหมดังกล่าวทันตแพทย์จะนัดมาตัดไหม 2 – 3 สัปดาห์ หลังผ่าตัด
6. การประคบเย็น ควรประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมประมาณ 3 – 7 วัน หลังผ่าตัด การประคบอุ่น สามารถประคบหลังจากประคบเย็นอีก 3 – 7 วัน หรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์
7. การรักษาความสะอาด ควรรักษาความสะอาดในช่องปากอยู่เสมอโดยการบ้วนปากและเริ่มแปรงฟันได้หลังผ่าตัดวันที่ 2 โดยใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กขนนิ่มของเด็กและควรแปรงอย่างนุ่มนวล ระมัดระวัง อาจใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลัง 7 วัน
8. ควรหลีกเลี่ยงการขากเสมหะแรงๆ การล้วงเข้าไปในช่องปาก ห้ามเขี่ยแผลเล่น เพราะอาจทำให้แผลเปิดและฉีกขาด มีเลือดออกจากแผลในช่องปากได้ หากมีเลือดออกในช่องปากหรือจมูกให้นอนยกศีรษะสูง ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือ Cold Pack บริเวณขากรรไกรและคอและมาพบทันตแพทย์โดยเร็ว
9. การสังเกตภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการรุนแรงควรมาพบทันตแพทย์ก่อนวันนัดหมายได้

 

ภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่ผู้ป่วยควรกลับมาพบแพทย์โดยเร็ว
– มีเลือดสีแดงสดจำนวนมากออกทางปาก จมูก หากมีอาการให้รีบประคบเย็นนอกช่องปากแล้วมาพบแพทย์โดยเร็ว (24 ชม.)
– มีอาการบวมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังออกจากโรงพยาบาล อาจเป็นได้จากการติดเชื้อหรือมีเลือดออกภายในผิวหนัง
– มีการหายใจลำบาก กลืนน้ำไม่ลง คอบวม เจ็บ เสียงแหบแห้ง
– ขากรรไกรมีการขยับเปลี่ยนตำแหน่งอย่างผิดสังเกต ใบหน้าผิดรูปอย่างชัดเจน
– ได้รับการกระทบกระแทกบริเวณศีรษะ ใบหน้า อย่างรุนแรง
– ภาวะเลือดออกมากผิดปกติหลังผ่าตัด (พบได้น้อย)
– เวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาจมีสำลักขึ้นจมูกได้ จึงควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารอย่างช้าๆ และอย่างระมัดระวัง
– การผ่าตัดไม่เป็นไปตามแผนการรักษา

 

การนัดตรวจหลังออกจากโรงพยาบาล
ทันตแพทย์จะนัดมาดูแผลผ่าตัดทุก 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และหลังจากนั้นประมาณ 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด การผ่าตัดจะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น หลังเนื้อเยื่อของทางเดินหายใจยุบบวม ประมาณ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักกลับไปทำงานได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน แพทย์และทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาเพื่อประเมินผลการรักษาเป็นระยะๆ

ฟันเกิน

MU DENT faculty of dentistry

ฟันเกิน

อ.ทพ.ธีรณัฐ ชัยยะสมุทร

ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่ามนุษย์ทั่วไปจะมีฟันน้ำนม จำนวน 20 ซี่ และ ฟันแท้ 32 ซี่ แต่หากมีจำนวนฟันมากเกินกว่านั้นจะเรียกว่า “ฟันเกิน” โดยที่ฟันเกินนั้นสามารถเกิดขึ้นเพียงซี่เดียวหรือหลายซี่, ตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่งในขากรรไกรก็ได้ โดยจากสถิติแล้วสามารถพบฟันเกินในขากรรไกรบนได้มากกว่าขากรรไกรล่าง ร่วมกับมีอุบัติการณ์การเกิดฟันเกินในเพศชายมากกว่าหญิงประมาณ 2:1 พบในช่วงฟันน้ำนมประมาณ 0.3-0.8% และช่วงฟันแท้ประมาณ 1.5-3.5%1

 

สาเหตุการเกิดฟันเกินปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีหลายทฤษฎีที่ได้ถูกกล่าวถึงอย่างเช่น อาจเกิดจากแบ่งตัวที่มากเกินไปของแถบบุผิวต้นกำเนิดฟัน (dental lamina) หรือแม้แต่การแบ่งตัวของหน่อฟันที่ผิดปกติ (Tooth germ dichotomy) แต่อย่างไรก็ตามในการศึกษาของ Rao และ Chidzonga เชื่อว่าสาเหตุของการเกิดฟันเกินนั้นเกิดจากหลายปัจจัยทั้งสภาวะแวดล้อมและพันธุกรรม2ร่วมกัน

 

ฟันเกินส่วนมากมักจะพบร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ อย่างปากแหว่งเพดานโหว่หรือพบในกลุ่มอาการของโรคหลายชนิด เช่น Gardner syndrome, Down syndrome, Cleidocranial dysplasia เป็นต้น อย่างไรก็ดีการพบความผิดปกติเฉพาะฟันเกินอย่างเดียวนั้นพบได้น้อย

 

วิธีการตรวจภายในช่องปากและภาพถ่ายรังสีมีความจำเป็นในการวินิจฉัยและระบุตำแหน่งของฟันเกิน โดยในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์มีการพัฒนาไปอย่างมาก สามารถใช้ภาพถ่ายรังสีคอมพิวเตอร์ สร้างเป็นภาพ 3 มิติ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งของฟันเกินได้อย่างแม่นยำ และวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

 

ฟันเกินอาจจะไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย และตรวจพบได้โดยบังเอิญจากภาพถ่ายรังสีขณะผู้ป่วยมารับการตรวจสุขภาพฟัน แต่กระนั้นแล้วฟันเกินอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้มากมาย เช่น ฟันเกินงอกขึ้นมาในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม, รบกวนการงอกของฟันซี่อื่นๆ ส่งผลให้ฟันซ้อนเก หรือช่องห่าง, เกิดเป็นฟันเกินคุดเนื่องจากอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถงอกขึ้นมาในช่องปากได้ อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดเป็นถุงน้ำและเนื้องอกได้อีกด้วย3,4 ทำให้ทันตแพทย์ส่วนมากจึงแนะนำให้ทำการรักษาโดยการผ่าตัดนำฟันเกินออกเมื่อรากฟันข้างเคียงเจริญสมบูรณ์แล้วเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำภยันตรายให้รากฟันข้างเคียงซึ่งส่งผลให้เกิดการเจริญของรากฟันผิดปกติ ส่วนทางเลือกในการรักษานั้น ทันตแพทย์อาจจะพิจารณานำฟันเกินขึ้นมาในช่องปากแทนที่ฟันธรรมชาติในบางกรณี ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือในการรักษาจากทั้งศัลยแพทย์ช่องปากและทันตแพทย์จัดฟันร่วมกัน

 

1. Garvey MT, Barry HJ, Blake M. Supernumerary teeth–an overview of classification, diagnosis and management. J Can Dent Assoc. 1999;65:612-6.
2. Rao PV, Chidzonga MM. Supernumerary teeth:literature review. Cent Afr J Med. 2001;47:22-26.
3. Bayrak S, Dalci K, Sari S. Case report: Evaluation of supernumerary teeth with computerized tomography. Oral Surg Oral Med Oral Pathol Oral Radiol Endod. 2005;100:e65-9.
4. De Oliveira Gomes C, Drummond SN, Jham BC, Abdo EN, Mesquita RA. A survey of 460 supernumerary teeth in Brazilian children and adolescents. Int J Paediatr Dent. 2008;18:98-106.

การปลูกถ่ายฟัน (Tooth transplantation)

MU DENT faculty of dentistry

การปลูกถ่ายฟัน (Tooth transplantation)

อ.ทพ.พฤทธิ์ ชิวปรีชา

ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

การปลูกถ่ายฟัน

คือ การปลูกถ่ายฟันของตัวผู้ป่วยเองแทนที่ลงในช่องว่างที่มีการสูญเสียฟันไปก่อนกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากฟันผุที่ลุกลามมากจนไม่สามารถรักษาได้ ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุที่มีการแตกของตัวฟันและรากฟัน จนต้องถอนฟันซี่นั้นไป

ช่องว่างที่เกิดจากการสูญเสียฟันไปนั้นจำเป็นต้องได้รับการทดแทนด้วยฟันปลอมเพื่อให้ผู้ป่วยยังสามารถเคี้ยวอาหารได้อย่างปกติ และเป็นการป้องกันไม่ให้ฟันที่อยู่ข้างเคียงรวมถึงฟันคู่สบล้มและงอกย้อยเข้ามาสู่ช่องว่าง

การปลูกถ่ายฟันจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาสำหรับการแทนที่ช่องว่างที่เกิดจากการถอนฟันไปแทนการใส่ฟันปลอม

โดยส่วนมากฟันที่จะใช้ในการปลูกถ่ายคือฟันกรามคุด ซึ่งเป็นฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ในช่องปากหรือขึ้นได้ไม่เต็มซี่ ส่วนใหญ่จะเป็นฟันกรามซี่ในสุดของขากรรไกรบนและล่าง ทั้งด้านซ้ายและขวาซึ่งมักจะไม่มีพื้นที่เพียงพอในการขึ้น ส่งผลทำให้เกิดบริเวณที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ หรืออาจมีการพัฒนาของรอยโรคในลักษณะต่างๆ รอบฟันคุด

จากผลเสียต่างๆ ของการเก็บฟันคุดไว้ในระยะยาวทำให้ผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดฟันคุดออก แต่เมื่อมองถึงประโยชน์อีกด้านของฟันคุด ฟันคุดที่ยังไม่ขึ้นมาในช่องปากเปรียบเสมือนอะไหล่ชั้นดีที่มีคุณภาพที่ราคาถูกที่สุด ในการนำมาทดแทนฟันในตำแหน่งปกติที่ผู้ป่วยถูกถอนไปก่อนเวลาอันสมควร โดยข้อดีของการรักษาวิธีนี้คือ แทนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำฟันปลอม ซึ่งถ้าเป็นฟันปลอมติดแน่นหรือรากฟันเทียมนั้น ราคาจะค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการใช้ฟันคุดของตัวเราเอง ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่ามาก พูดง่ายๆคือ “ ไหนๆ จะต้องผ่าฟันคุดออกแล้วแทนที่จะผ่าทิ้งก็เอามาใช้ซะเลย” ถ้าผลการรักษาสำเร็จ การใช้งานนั้นเทียบเคียงได้กับฟันจริง

ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงที่รากฟันกรามซี่สุดท้าย(ฟันคุดที่เราจะใช้) ยังไม่มีการปิดของรูเปิดปลายราก นั่นคือก่อนอายุ 20 ปี แต่บางคนอาจจะช้าได้ถึง 25 ปี ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการที่จะมีการงอกของเส้นเลือดในตำแหน่งที่เรานำฟันไปปลูกให้เข้าสู่โพรงในตัวฟันได้ง่ายขึ้น

 

ขั้นตอนและวิธีการปลูกถ่ายฟันคุด

เริ่มตั้งแต่การประเมินขนาดของช่องว่างที่มีการสูญเสียฟันไป ปริมาณของกระดูกที่มีอยู่ ความสะอาดภายในช่องปากของผู้ป่วย สำหรับในส่วนของตัวฟันที่จะนำมาปลูกนั้นจะมีการประเมินทั้งขนาดและความสมบูรณ์ของฟันคุด รวมไปถึงความเหมาะสมระหว่างขนาดของฟันคุดกับช่องว่างที่จะนำไปปลูกว่าเหมาะสมกันหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจในช่องปากร่วมกับการถ่ายภาพรังสี เพื่อเตรียมความพร้อมและวางแผนให้ดีที่สุดก่อนการผ่าตัด

สำหรับขั้นตอนการทำนั้น คล้ายกับการผ่าตัดฟันคุด ต่างกันตรงที่ใช้เวลาในการผ่าตัดนานกว่า เนื่องจากต้องระมัดระวังและทะนุถนอมฟันที่นำออกมาให้มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุด ถ้าผ่าฟันคุดปกติจะมีการแบ่งฟันออกเป็นส่วน เมื่อนำออกมาก็ทิ้งไป แต่ฟันปลูกเราแทบจะต้องอุ้มมันออกมากันเลยทีเดียว และที่ต่างกันอีกส่วนก็คือเราจะต้องเตรียมบริเวณที่จะนำฟันไปปลูก โดยการเตรียมและตกแต่งเบ้าฟันให้มีลักษณะใกล้เคียงกับฟันคุดที่จะนำมาปลูกมากที่สุด

หลังจากการผ่าตัดแล้วนั้น ผู้ป่วยจะต้องได้รับการติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วง 1 อาทิตย์ – 1 เดือนแรกที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก หลังจากพ้นช่วง 1 เดือนไป ผู้ป่วยยังคงต้องเข้ารับการติดตามผลอยู่แต่จะมีช่วงเวลาการนัดที่ห่างมากขึ้น

สำหรับการปลูกถ่ายฟันคุดในประเทศไทยมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในวงแคบเพราะต้องใช้ความชำนาญในการทำสูง อีกทั้งจำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยในการปฏิบัติตามคำแนะนำและกลับมาติดตามผลการรักษา ซึ่งก็เหมือนการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างนึงที่ในช่วงแรกจะมีความสำคัญมากเพราะจะปลูกติดหรือไม่นั้น ต้องอาศัยทั้งความละเอียดตั้งแต่ก่อนการรักษารวมถึงระหว่างขั้นตอนการทำและความร่วมมือจากผู้ป่วย จะว่าไปแล้วผลสำเร็จของการปลูกถ่ายฟันขึ้นกับหมอและผู้ป่วยครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว

ในส่วนของคณะทันตแพทย์มหิดลนั้นมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายฟันมามากกว่า 200 ซี่ ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือและกลับมาติดตามผลการรักษาตามนัดนั้น อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจมาก

เมื่อคุณฟันคุดจะทำอย่างไร

MU DENT faculty of dentistry

เมื่อคุณฟันคุดจะทำอย่างไร

ศ.ทพ. ณัฐเมศร์ วงศ์สิริฉัตร

ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

ฟันคุดเกิดจากสาเหตุใด

ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ เนื่องจากมีฟันเนื้อเยื่อหรือกระดูกปิดขวางอยู่ มักพบในฟันกรามซี่สุดท้ายและฟันเขี้ยว

 

ถ้าไม่ถอนจะมีอันตรายหรือไม่
ถ้าไม่ถอนฟันคุดออกมีโอกาสทำให้เกิดอันตรายได้ ขึ้นอยู่กับสภาพของฟันและเวลาที่ปล่อยทิ้งไว้ อาจะเกิดอันตรายได้ เช่น

 

1. การอักเสบของเหงือก
เมื่อฟันกรามซี่สุดท้ายขึ้น อาจจะมีการอักเสบของเหงือก เนื่องจากมีการติดเชื้อ มีอาการบวมแดง มีหนอง ทำให้ปวด มีไข้ และเจ็บคอ กลืนน้ำลายลำบาก และอ้าปากไม่ได้

 

2. ฟันซ้อนเก
ทำให้ปวดเนื่องจากมีแรงดันของฟันคุดไปดันซี่ข้างเคียง หรือกดบนเส้นประสาทที่อยู่ในขากรรไกรล่างและฟันคุด ซึ่งขึ้นชนฟันที่อยู่ข้างเคียงจะทำให้ฟันหน้าซ้อนเกได้

 

 

3. ถุงน้ำรอบฟันคุด

ทำให้เกิดโรคถุงน้ำและอาจเปลี่ยนเป็นเนื้องอกที่เรียกว่า “มะเร็งกรามช้าง” ซึ่งพบว่ามีสาเหตุเกิดจากฟันคุดถึง 33 % ถุงน้ำจะทำให้ฟันเคลื่อนที่ผิดจากตำแหน่งเดิมและละลายกระดูกรอบฟัน ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อฟันและเหงือกรอบๆ นั้นได้

 

 

4. ฟันข้างเคียงผุ
ฟันคุดซี่สุดท้ายที่ขึ้นชนฟันกรามซี่ติดกัน มักทำให้เกิดกลิ่นปากและฟันข้างเคียงผุ เนื่องจากมีเศษอาหารติดระหว่างฟันคุดและฟันข้างเคียง เนื่องจากทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง

 

 

การถอนฟันคุด ทำอย่างไร
เนื่องจากฟันคุดเป็นฟันที่มีฟันเนื้อเยื่อหรือกระดูกปิดขวางอยู่ จึงไม่สามารถใช้คีมจับถอนได้อย่างฟันปกติ จึงต้องใช้วิธี ผ่าเหงือก ตัดกระดูก และตัดฟันออกทีละชิ้น จึงสามารถเอาฟันคุดออกมาได้ทั้งหมด โดยไม่ทำอันตรายต่อฟันข้างเคียง หรือส่วนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้น

 

ข้อปฏิบัติหลังผ่าตัดฟันคุด
1. กัดผ้าก๊อตให้แน่นพอสมควรไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นเอาผ่าก๊อตออก
2. ถ้าเลือดไหลไม่หยุด ห้ามอมน้ำแข็ง ควรใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกและห่อผ้ามาประคบนอกปากบริเวณที่ผ่าตัดฟันคุด
3. แปรงฟันได้ตามปกติในวันรุ่งขึ้น แต่ต้องระวังไม่ให้แปรงฟันแรงๆ ตรงแผลผ่าตัด
4. ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ หลังผ่าตัด
5. ถ้าปวดให้รับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
6. ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบมาพบทันตแพทย์
7. ถ้ามีการเย็บแผลต้องกลับมาตัดไหมภายใน 7 วัน หลังผ่าตัด

ขากรรไกรค้างทำอย่างไรดี

MU DENT faculty of dentistry

ขากรรไกรค้างทำอย่างไรดี

อ.ดร.ทพญ. นามรัฐ ฉัตรไชยยันต์

ภาควิชาวิทยาระบบบดเคี้ยว

ขากรรไกรค้างเป็นอย่างไร

คนทั่วไปมักใช้คำว่าอ้าปากค้างหรือกรามค้างเพื่ออธิบาย 2 อาการ คือ
1. อ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้
2. อ้าปากได้น้อยกว่าปกติ

การอ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้ ทางการแพทย์ เรียกว่า ขากรรไกรค้างหรืออ้าปากค้าง แต่เมื่ออ้าปากแล้วไม่สามารถอ้าปากได้กว้างตามปกติ เรียกว่า อ้าปากได้จำกัดหรืออ้าปากไม่ขึ้น

 

อ้าปากค้างเกิดจากอะไร
โดยทั่วไปเมื่อเราอ้าปากและหุบปาก ข้อต่อขากรรไกรที่อยู่บริเวณหน้ารูหูจะหมุนและเคลื่อนไปมาในเบ้ากระดูก ซึ่งเป็นส่วนที่ติดกับกระโหลกศีรษะ เมื่ออ้าปากหัวข้อต่อขากรรไกรและหมอนรองข้อต่อขากรรไกรจะเคลื่อนออกจากเบ้ากระดูกและเคลื่อนกลับเข้าเบ้ากระดูกเมื่อหุบปาก เมื่ออ้าปากค้างหัวข้อต่อขากรรไกรจะเคลื่อนพ้นเบ้ากระดูกออกมาขัดค้างอยู่นอกเบ้า และไม่สามารถเคลื่อนกลับเข้าที่ได้ เราจึงไม่สามารถหุบปากลงได้ตามปกติ เช่น เมื่อหาวกว้างๆ หัวเราะกว้างๆ รับประทานอาหารคำโตๆ อ้าปากกว้างเพื่อทำฟันนานๆ ซึ่งอาจเกิดเสียงดังบริเวณข้อต่อขากรรไกรเมื่อเกิดขากรรไกรค้างและขณะเกิดอาการมักรู้สึกเจ็บปวดร่วมด้วย

 

เมื่ออ้าปากค้างควรทำอย่างไร

เมื่ออ้าปากค้างต้องพยายามสงบใจและอย่าตกใจเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวเกร็งมากขึ้น และไม่สามารถจัดตำแหน่งขากรรไกรเข้าที่ได้ บางครั้งเมื่อผู้ป่วยพยายามขยับขากรรไกรไปมาหรือนวดคลึงบริเวณหน้าหูและข้างแก้มเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อก็จะสามารถหุบปากลงได้เอง ทั้งนี้ห้ามตบหรือชกใบหน้าและขากรรไกรหรือพยายามหุบปากลงทั้งที่ข้อต่อขากรรไกรยังค้างอยู่ เพราะจะทำให้เจ็บมากขึ้น

หากลองรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ควรรับการรักษาอย่างฉุกเฉินจากแพทย์หรือทันตแพทย์ที่จะจัดขากรรไกรให้เข้าที่ได้ หากกล้ามเนื้อบดเคี้ยวของผู้ป่วยเกร็งมาก ผู้ป่วยอาจได้รับยาเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดความกังวล ซึ่งจะเอื้อให้แพทย์และทันตแพทย์จัดขากรรไกรเข้าที่ได้ง่ายขึ้น เมื่อสามารถหุบปากลงได้แล้วไม่ควรอ้าปากกว้างๆ อีก เพราะอาจทำให้อ้าปากค้างอีกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ้าปากค้างขณะทำฟันสามารถประคบบริเวณหน้าหูหรือข้างแก้มด้วยผ้าห่อน้ำแข็งเพื่อลดอาการเจ็บปวด ควรรับประทานอาหารอ่อนจนกว่าจะหายเจ็บและถ้ายังเจ็บมากสามารถรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ (NSAIDs) สักระยะได้

 

อ้าปากค้างป้องกันได้อย่างไร

– หลีกเลี่ยงการอ้าปากกว้างมากๆ เช่น เวลาหาวให้เอามือประคองใต้คาง เวลารับประทานอาหารให้ตัดอาหารเป็นคำเล็กๆ
– เวลาทำฟันให้แจ้งทันตแพทย์หากมีประวัติเคยมีขากรรไกรค้าง หรือขอพักเป็นระยะเพื่อหุบปากลงหากรู้สึกเมื่อย
– หมั่นบริหารขากรรไกร หากมีอาการอ้าปากค้างบ่อยๆ โดยวางปลายลิ้นที่เพดานปากบริเวณเหงือกหลังฟันหน้าบน แล้วอ้าปากจนกว้างที่สุด โดยให้ปลายลิ้นยังแตะบริเวณนี้ตลอดเวลา ไม่ดันฟันหน้าเพราะอาจทำให้ฟันหน้ายื่น ค้างอยู่ท่านี้ประมาณ 6 วินาที ทำซ้ำ 6 ครั้ง นับเป็น 1 รอบ ทำวันละ 6 รอบ ท่าบริหารนี้จะเป็นการฝึกให้ผู้ป่วยอ้าปากอยู่ในวงจำกัดที่หัวข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนอยู่ภายในเบ้ากระดูก ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอ้าปากได้แคบลงซึ่งจะไม่ทำให้อ้าปากกว้างเกินจำกัดและอ้าปากค้างต่อไป

หากดูแลขากรรไกรแล้วยังคงอ้าปากค้างและไม่สามารถเอากลับเข้าที่ได้ด้วยตนเองบ่อยๆ ทันตแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างของข้อต่อขากรรไกร

 

เฝือกสบฟัน

MU DENT faculty of dentistry

เฝือกสบฟัน

ศ.คลินิก ทพญ.ณัฏยา อัศววรฤทธิ์

ผศ.ทพ.ธัช อิทธิกุล

ภาควิชาวิทยาระบบบดเคี้ยว

เฝือกสบฟันคืออะไร
เฝือกสบฟัน หรือ Occlusal splint
เป็นเครื่องมือทางทันตกรรมอย่างหนึ่งที่ทันตแพทย์
ทำให้ผู้ป่วยใส่ในช่องปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
ของข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว
และยังป้องกันฟันสึกในกรณีที่ผู้ป่วยนอนกัดฟัน

 

เฝือกสบฟันเหมาะกับใครบ้าง
เฝือกสบฟันเหมาะสมกับผู้ที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรบางประเภท เช่น
1. มีนิสัยนอนกัดฟัน หรือขบเน้นฟันในเวลากลางวัน
มีการใช้งานกล้ามเนื้อบดเคี้ยวมากกว่าปกติ
ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรได้
2. มีเสียงคลิกและติดขัดเวลาอ้าปากหรือหุบปาก
3. มีภาวะข้อเสื่อมของขากรรไกร

 

เฝือกสบฟันช่วยคุณได้อย่างไร
เฝือกสบฟันช่วยกระจายแรงสบฟันอย่างเหมาะสม ทำให้ลดแรงที่กล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอาการปวด นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันฟันสึกจากการนอนกัดฟันได้

 

ชนิดของเฝือกสบฟัน
1. เฝือกสบฟันชนิดอ่อน (Soft Occlusal Splint) เป็นเฝือกสบฟันที่ทำจากวัสดุนิ่ม ทำได้ง่ายและรวดเร็ว มักใช้ในกรณีที่
– ผู้ป่วยอายุน้อย ขากรรไกรยังมีการเจริญเติบโต จึงไม่ขัดขวางการเจริญเติบโตของขากรรไกร
– ใช้บำบัดฉุกเฉินในผู้ป่วยที่มีอาการปวดมาก ใช้ชั่วคราวระหว่างรอทำเฝือกสบฟันชนิดแข็ง
– ใช้ในกรณีอื่นๆ เช่น ป้องกันฟันสึกกร่อนจากการว่ายน้ำที่ต้องสัมผัสน้ำคลอรีนเป็นเวลานานๆ ใช้ป้องกันการกระทบกระแทกขณะเล่นกีฬาบางประเภท เป็นต้น

 

ข้อเสีย เฝือกสบฟันชนิดอ่อน มีอายุการใช้งานสั้น ไม่ทนทาน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อยๆ และบางครั้งอาจทำให้นอนกัดฟันมากขึ้นได้

2. เฝือกสบฟันชนิดแข็ง (Hard Occlusal splint) ทำจากพลาสติกชนิดแข็ง มีอายุการใช้งานนานกว่าเฝือกสบฟันชนิดอ่อน มักใช้ในกรณีที่
– นอนกัดฟัน เพื่อป้องกันฟันสึก และช่วยลดอาการเมื่อยล้าขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว
– ผู้ป่วยมีนิสัยขบเน้นฟันในเวลากลางวัน แล้วแก้นิสัยไม่หาย
– มีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรบางประเภท เช่น ข้อต่อขากรรไกรเสื่อม หรือมีเสียงคลิกและติดขัดเวลาอ้าปากหรือหุบปาก (บางราย)

 

ข้อเสีย เฝือกสบฟันชนิดแข็ง ใช้เวลาทำนาน จึงต้องเสียเวลามากกว่าเฝือกสบฟันชนิดอ่อน เฝือกสบฟันชนิดนี้อาจขัดขวางการเจริญเติบโตของขากรรไกรจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้ในเด็กที่ยังมีการเจริญเติบโตของขากรรไกรอยู่
แต่มีข้อดีที่สำคัญ คือ ทำให้การสบฟันมีเสถียรภาพขณะใส่และกล้ามเนื้อผ่อนคลายได้ดีกว่า

 

ข้อแนะนำในการใช้ เฝือกสบฟัน
– ควรใส่เฝือกสบฟันเฉพาะเวลากลางคืนหรือตามที่ทันตแพทย์ผู้รักษากำหนด
– โดยปกติเมื่อเริ่มใส่เฝือกสบฟัน อาจรู้สึกตึงเล็กน้อยที่ฟันประมาณ 2 – 3 นาที
– หากมีอาการเจ็บฟันจากการใส่เฝือกสบฟันควรถอดออก และรีบมาพบทันตแพทย์เพื่อปรับแต่งแก้ไข
– ขณะใส่เฝือกสบฟัน อาจมีน้ำลายไหลมากกว่าปกติในช่วงแรกๆ เมื่อใส่จนชินแล้วก็จะรู้สึกเป็นปกติ
– เมื่อถอดเฝือกสบฟัน อาจรู้สึกว่าการสบฟันเปลี่ยนไป หรือกัดฟันได้ไม่เหมือนเดิม สักครู่จึงจะรู้สึกกัดฟันได้ตามปกติ
– ควรทำความสะอาดเฝือกสบฟันทุกวัน โดยใช้แปรงสีฟันและยาสีฟันแปรงทั้งด้านนอกและด้านใน และแช่น้ำสะอาดเก็บในภาชนะที่มีฝาปิด เปลี่ยนน้ำทุกวัน

นอนกัดฟัน ทำอย่างไรดี

MU DENT faculty of dentistry

นอนกัดฟัน ทำอย่างไรดี

ศ.คลินิก ทพญ.ณัฏยา อัศววรฤทธิ์

ภาควิชาวิทยาระบบบดเคี้ยว

เป็นการทำงานนอกหน้าที่ของระบบบดเคี้ยวในขณะนอนหลับ ที่ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวหดตัวผิดปกติ จึงเกิดการกัดฟัน จัดเป็นความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่ง (Sleep disorders)

 

รู้ได้อย่างไรว่าเรานอนกัดฟัน

– ส่วนมากคนที่นอนด้วยเขาจะบอกเราได้ แต่บางทีหรือบางคนถ้ากัดฟันแบบกัดแน่น ไม่ไถฟันไปมา ก็ไม่ได้ยินเสียง
– อาจสังเกตตัวเองว่าตื่นนอนแล้วรู้สึกเมื่อยหรือเจ็บตึงที่บริเวณแก้ม หน้าหู หรือมีข้อต่อขากรรไกรขยับลำบาก ติดๆ ขัดๆ
– ถ้าให้ทันตแพทย์ตรวจจะพบมีฟันสึกผิดปกติ ไม่สมกับอายุ ดูบริเวณแก้มด้านในและที่ขอบลิ้น มีรอยหยักตามแนวสบฟันชัดเจน แต่ต้องดูประกอบกันหลายอย่าง และอาจใช้เครื่องมือที่ช่วยทดสอบว่านอนกัดฟัน

 

สาเหตุ

– ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบว่าอาจมีบางอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม ความเครียด วิตกกังวล
– การรับประทานยาที่ช่วยปรับสารในสมอง
– โรคบางอย่าง เช่น Parkinson ที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
– ความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ (Sleep disorders)

 

กล้ามเนื้อ
ถ้าเป็นน้อยก็อาจมีอาการเมื่อยๆ บริเวณแก้ม หน้าหู ตอนตื่นนอน

 

ฟัน
ฟันสึก แตก หรือร้าว ซึ่งอาจถึงขั้นต้องถอน

 

ข้อต่อขากรรไกร
ถ้าเป็นมากอาจจะเจ็บจนอ้าปากไม่ออก ขยับขากรรไกรลำบากจนถึงขั้นข้อต่อขากรรไกรเสื่อม

 

วิธีการรักษา
เนื่องจากยังหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ทำให้อาการนอนกัดฟันหายไป เราจึงต้องรักษาตามอาการและป้องกันการเสียหายที่จะเกิดขึ้น เช่น

 

ใส่เฝือกสบฟัน
– เพื่อป้องกันฟันสึก ฟันแตก ฟันหัก
– ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรลดความเกร็ง ความตึง

 

ฝึกการผ่อนคลาย
เช่น การฟังเพลงเบาๆ การทำสมาธิ การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย จะทำอย่างไรก็ได้ตามที่ชอบและสบายใจ แต่ไม่ใช่นั่งเล่นเกมส์ หรือใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนเกร็ง ไม่ใช่การพักผ่อนที่แท้จริง

ภาพรังสี Cone Beam CT

MU DENT faculty of dentistry

ภาพรังสี Cone Beam CT

รศ.ดร.ทพญ.สุชยา ดำรงค์ศรี

ภาควิชารังสีวิทยาช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

ภาพรังสี Cone Beam CT คืออะไร
ภาพรังสี Cone Beam CT ได้จากการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ลำรังสีรูปกรวย(Cone beam computed tomography, CBCT) มีการหมุนของรังสีเอกซ์รูปกรวยรอบศีรษะผู้ป่วย 1 รอบ และมีตัวรับภาพเป็นพื้นที่ (area detector) อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับแหล่งกำเนิดรังสี แล้วใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลสร้างภาพให้เห็นเป็นชั้นบางๆ ของระนาบต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน คือ ระนาบตามแกน (axial plane) ระนาบแบ่งหน้าหลัง (coronal plane) ระนาบแบ่งซ้ายขวา (sagittal plane) รวมทั้งสร้างเป็นภาพสามมิติ เครื่อง CBCT แต่ละเครื่องมีขนาดของบริเวณที่ถ่ายเป็นรูปทรงกระบอก (Field of view,FOV) และขนาดของจุดภาพสามมิติ (voxel size) ไม่เท่ากัน รวมทั้งซอฟแวร์ที่ใช้ดูภาพของแต่ละเครื่องก็ไม่เหมือนกัน ดังแสดงในตารางที่ 1 หากต้องการภาพรังสี CBCT ที่มีรายละเอียดสูง ควรเลือก FOV เล็กและ voxel size เล็ก เช่น ในงานเอ็นโดดอนต์ แต่ในกรณีที่ต้องการเห็นทั้งกระโหลกศีรษะใบหน้าและขากรรไกร เช่น ในการวางแผนผ่าตัดขากรรไกร ควรเลือกเครื่องที่สามารถถ่าย FOV ใหญ่ ได้

 

ประโยชน์ของภาพรังสี Cone Beam CT ในทางทันตกรรม
เพื่อประกอบการวางแผนการรักษาในงานทันตกรรมรากเทียม หาตำแหน่งและรูปร่างของฟันฝัง ฟันเกิน ฟันคุด และตำแหน่งหมายกายวิภาคที่สำคัญ ประเมินลักษณะข้อต่อขากรรไกร รูปร่างของคลองรากฟันที่ซับซ้อน แสดงให้เห็นพยาธิสภาพปลายรากขนาดเล็กที่ไม่เห็นจากภาพรังสีรอบปลายราก รอยหักของฟันและกระดูกใบหน้าขากรรไกร รวมทั้งรอยโรคต่างๆ ของกระดูกขากรรไกรใบหน้าขากรรไกร เป็นต้น

 

ข้อจำกัดของภาพรังสี Cone Beam CT

– ไม่สามารถแยกชนิดของเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissues) ได้
– ไม่สามารถบอกค่า CT number ได้
– ราคาแพงกว่าการถ่ายภาพรังสีเทคนิคธรรมดา
– ปริมาณรังสีมากกว่าภาพรังสีทางทันตกรรมทั่วไป
– มีสิ่งแปลกปน (artifact) จากครอบฟันโลหะ วัสดุอุดอะมัลกัม รากเทียม ฟันเดือย วัสดุอุดคลองรากฟัน เป็นต้น

 

*** ส่งถ่ายภาพรังสี Cone Beam CT กรุณาโทรมานัดล่วงหน้า ***
คลินิกรังสีวิทยาช่องปากและใบหน้าจากรรไกร
ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา โทร. 02-200-7773, 02-200-7777 ต่อ 3341 – 5