Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

MU DENT faculty of dentistry

ฟันเกิน

อ.ทพ.ธีรณัฐ ชัยยะสมุทร

ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่ามนุษย์ทั่วไปจะมีฟันน้ำนม จำนวน 20 ซี่ และ ฟันแท้ 32 ซี่ แต่หากมีจำนวนฟันมากเกินกว่านั้นจะเรียกว่า “ฟันเกิน” โดยที่ฟันเกินนั้นสามารถเกิดขึ้นเพียงซี่เดียวหรือหลายซี่, ตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่งในขากรรไกรก็ได้ โดยจากสถิติแล้วสามารถพบฟันเกินในขากรรไกรบนได้มากกว่าขากรรไกรล่าง ร่วมกับมีอุบัติการณ์การเกิดฟันเกินในเพศชายมากกว่าหญิงประมาณ 2:1 พบในช่วงฟันน้ำนมประมาณ 0.3-0.8% และช่วงฟันแท้ประมาณ 1.5-3.5%1

 

สาเหตุการเกิดฟันเกินปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีหลายทฤษฎีที่ได้ถูกกล่าวถึงอย่างเช่น อาจเกิดจากแบ่งตัวที่มากเกินไปของแถบบุผิวต้นกำเนิดฟัน (dental lamina) หรือแม้แต่การแบ่งตัวของหน่อฟันที่ผิดปกติ (Tooth germ dichotomy) แต่อย่างไรก็ตามในการศึกษาของ Rao และ Chidzonga เชื่อว่าสาเหตุของการเกิดฟันเกินนั้นเกิดจากหลายปัจจัยทั้งสภาวะแวดล้อมและพันธุกรรม2ร่วมกัน

 

ฟันเกินส่วนมากมักจะพบร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ อย่างปากแหว่งเพดานโหว่หรือพบในกลุ่มอาการของโรคหลายชนิด เช่น Gardner syndrome, Down syndrome, Cleidocranial dysplasia เป็นต้น อย่างไรก็ดีการพบความผิดปกติเฉพาะฟันเกินอย่างเดียวนั้นพบได้น้อย

 

วิธีการตรวจภายในช่องปากและภาพถ่ายรังสีมีความจำเป็นในการวินิจฉัยและระบุตำแหน่งของฟันเกิน โดยในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์มีการพัฒนาไปอย่างมาก สามารถใช้ภาพถ่ายรังสีคอมพิวเตอร์ สร้างเป็นภาพ 3 มิติ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งของฟันเกินได้อย่างแม่นยำ และวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

 

ฟันเกินอาจจะไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย และตรวจพบได้โดยบังเอิญจากภาพถ่ายรังสีขณะผู้ป่วยมารับการตรวจสุขภาพฟัน แต่กระนั้นแล้วฟันเกินอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้มากมาย เช่น ฟันเกินงอกขึ้นมาในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม, รบกวนการงอกของฟันซี่อื่นๆ ส่งผลให้ฟันซ้อนเก หรือช่องห่าง, เกิดเป็นฟันเกินคุดเนื่องจากอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถงอกขึ้นมาในช่องปากได้ อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดเป็นถุงน้ำและเนื้องอกได้อีกด้วย3,4 ทำให้ทันตแพทย์ส่วนมากจึงแนะนำให้ทำการรักษาโดยการผ่าตัดนำฟันเกินออกเมื่อรากฟันข้างเคียงเจริญสมบูรณ์แล้วเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำภยันตรายให้รากฟันข้างเคียงซึ่งส่งผลให้เกิดการเจริญของรากฟันผิดปกติ ส่วนทางเลือกในการรักษานั้น ทันตแพทย์อาจจะพิจารณานำฟันเกินขึ้นมาในช่องปากแทนที่ฟันธรรมชาติในบางกรณี ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือในการรักษาจากทั้งศัลยแพทย์ช่องปากและทันตแพทย์จัดฟันร่วมกัน

 

1. Garvey MT, Barry HJ, Blake M. Supernumerary teeth–an overview of classification, diagnosis and management. J Can Dent Assoc. 1999;65:612-6.
2. Rao PV, Chidzonga MM. Supernumerary teeth:literature review. Cent Afr J Med. 2001;47:22-26.
3. Bayrak S, Dalci K, Sari S. Case report: Evaluation of supernumerary teeth with computerized tomography. Oral Surg Oral Med Oral Pathol Oral Radiol Endod. 2005;100:e65-9.
4. De Oliveira Gomes C, Drummond SN, Jham BC, Abdo EN, Mesquita RA. A survey of 460 supernumerary teeth in Brazilian children and adolescents. Int J Paediatr Dent. 2008;18:98-106.

Post Views: 368