การให้ยาสงบประสาททางหลอดเลือดดำ
คือ การบริหารยาสงบประสาทเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดความวิตกกังวล โดยที่ผู้ป่วยยังมีสติอยู่สามารถทำตามคำสั่งของทันตแพทย์ได้ ซึ่งในวิธีการสงบประสาทด้วยวิธีนี้ ทำให้ผู้ป่วยสงบมากขึ้น และมักจะทำในหัตถการหรือการผ่าตัดที่ใช้เวลาไม่นาน
ทีมวิสัญญี คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการด้านวิสัญญี ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการผ่าตัด ให้ได้รับความปลอดภัยและพึงพอใจในการบริการของหน่วยวิสัญญี บุคลากรกลุ่มนี้คือ วิสัญญีแพทย์,วิสัญญีพยาบาล และผู้ช่วยวิสัญญี
คำแนะนำการปฏิบัติตัว ก่อน การได้รับยาสงบประสาททางหลอดเลือดดำ
1. งดน้ำ นม เครื่องดื่ม และอาหารทุกชนิด หลัง 24.00 น.
เพื่อป้องกันอันตรายจากการอาเจียนและสำลักเศษอาหารเข้าหลอดลม/ปอด
2. ท่านต้องแจ้งประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานประจำ
เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาเบาหวาน ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาโรคหัวใจ วิตามินหรืออาหารเสริม รวมทั้งยาสมุนไพรต่างๆ ให้แพทย์ทราบ และนำยามาในวันผ่าตัดซึ่งยาบางชนิดต้องรับประทานในเช้าวันผ่าตัดกับน้ำปริมาณเล็กน้อย และยาบางชนิดต้องงด
3. แจ้งการแพ้ยาหรือสารทุกชนิด การผ่าตัดในอดีต และปัญหาสุขภาพอื่นๆ
ประวัติเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับใช้ในการวางแผนและให้การรักษา
4. ควรงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
เพื่อลดเสมหะและลดการไอ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหายใจ
5. ต้องมีญาติมาด้วย
เพื่อช่วยเหลือในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เป็นผู้ดูแลระหว่างท่านเดินทางกลับบ้าน และสามารถดูแลท่านได้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
6. ถ้าตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
จะต้องแจ้งให้ทีมวิสัญญีทราบ เพราะยาสามารถผ่านรกและอาจเกิดผลเสียต่อทารกได้ ถ้าเป็นการผ่าตัดที่ไม่รีบด่วน ควรจะทำหลังจากคลอดบุตร
7. ถอดฟันปลอมที่ถอดได้/คอนแทคเลนส์/เครื่องประดับทุกชนิด
ฝากเก็บไว้กับญาติ ก่อนไปห้องผ่าตัด
8. กรณีเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ
เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หรือมีน้ำมูก ต้องแจ้งทีมวิสัญญีให้ทราบโดยละเอียด ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องหายจากอาการดังกล่าว อย่างน้อย 2 สัปดาห์ จึงจะสามารถให้ยาสงบประสาทโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
9. ควรล้างสีเล็บ และควรตัดเล็บมือให้สั้น
เพื่อจะวัดค่าออกซิเจนทางปลายนิ้ว และสังเกตความเปลี่ยนแปลงจากการขาดออกซิเจน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
การให้ยาสงบประสาททางหลอดเลือดดำ มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ บางครั้งอาจมีอันตรายถึงชีวิต การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดของทีมวิสัญญี จะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้
ภาวะแทรกซ้อนอันตรายหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมี 2 ประเภท คือ ความรุนแรงเล็กน้อยและรุนแรงมาก
ภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงเล็กน้อย อาจเกิดขึ้นบ่อย แต่ไม่เป็นอันตราย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เสียชีวิตจากการระงับความรู้สึก การหายใจล้มเหลว หัวใจล้มเหลว โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง(Anaphylaxis) พบน้อยมาก
ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค และชนิดของการผ่าตัด ตลอดจนการเตรียมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด กล่าวคือ ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง
การปฏิบัติตัว หลัง การได้รับยาสงบประสาททางหลอดเลือดดำ
1. ให้กลับบ้านพร้อมญาติและพักผ่อนภายหลังจากการผ่าตัด
2. ไม่ควรทำกิจกรรมต่างๆ ภายหลังการผ่าตัด และควรอยู่ภายใต้การดูแลของญาติอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งหายจากอาการมึนงง ประมาณ 24 ชั่วโมง
3. อาการมึนงง อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับยาสงบประสาท
– ให้นอนราบสักครู่
– ให้ดื่มน้ำหวานเล็กน้อย
4. ไม่ควรรับประทานอาหารหลักทันที หากรู้สึกหิวให้รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก,ข้าวต้ม เป็นต้น
5. ไม่ขับยานพาหนะ ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
6. ไม่ใช้ของมีคมหรือเครื่องจักรกล ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
7. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
8. ไม่ทำธุรกรรมหรือสัญญาข้อตกลงใดๆ ภายใน 24 ชั่วโมง
9. หากมีอาการผิดปกติ ให้กลับมาพบแพทย์ก่อนวันนัดหมาย
เลขที่ 888 ม.6 ถ.บรมราชชนนี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
เบอร์ตรง 0-2849-6600