ภาพรังสี Cone Beam CT คืออะไร
ภาพรังสี Cone Beam CT ได้จากการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ลำรังสีรูปกรวย(Cone beam computed tomography, CBCT) มีการหมุนของรังสีเอกซ์รูปกรวยรอบศีรษะผู้ป่วย 1 รอบ และมีตัวรับภาพเป็นพื้นที่ (area detector) อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับแหล่งกำเนิดรังสี แล้วใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลสร้างภาพให้เห็นเป็นชั้นบางๆ ของระนาบต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน คือ ระนาบตามแกน (axial plane) ระนาบแบ่งหน้าหลัง (coronal plane) ระนาบแบ่งซ้ายขวา (sagittal plane) รวมทั้งสร้างเป็นภาพสามมิติ เครื่อง CBCT แต่ละเครื่องมีขนาดของบริเวณที่ถ่ายเป็นรูปทรงกระบอก (Field of view,FOV) และขนาดของจุดภาพสามมิติ (voxel size) ไม่เท่ากัน รวมทั้งซอฟแวร์ที่ใช้ดูภาพของแต่ละเครื่องก็ไม่เหมือนกัน ดังแสดงในตารางที่ 1 หากต้องการภาพรังสี CBCT ที่มีรายละเอียดสูง ควรเลือก FOV เล็กและ voxel size เล็ก เช่น ในงานเอ็นโดดอนต์ แต่ในกรณีที่ต้องการเห็นทั้งกระโหลกศีรษะใบหน้าและขากรรไกร เช่น ในการวางแผนผ่าตัดขากรรไกร ควรเลือกเครื่องที่สามารถถ่าย FOV ใหญ่ ได้
ประโยชน์ของภาพรังสี Cone Beam CT ในทางทันตกรรม
เพื่อประกอบการวางแผนการรักษาในงานทันตกรรมรากเทียม หาตำแหน่งและรูปร่างของฟันฝัง ฟันเกิน ฟันคุด และตำแหน่งหมายกายวิภาคที่สำคัญ ประเมินลักษณะข้อต่อขากรรไกร รูปร่างของคลองรากฟันที่ซับซ้อน แสดงให้เห็นพยาธิสภาพปลายรากขนาดเล็กที่ไม่เห็นจากภาพรังสีรอบปลายราก รอยหักของฟันและกระดูกใบหน้าขากรรไกร รวมทั้งรอยโรคต่างๆ ของกระดูกขากรรไกรใบหน้าขากรรไกร เป็นต้น
ข้อจำกัดของภาพรังสี Cone Beam CT
– ไม่สามารถแยกชนิดของเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissues) ได้
– ไม่สามารถบอกค่า CT number ได้
– ราคาแพงกว่าการถ่ายภาพรังสีเทคนิคธรรมดา
– ปริมาณรังสีมากกว่าภาพรังสีทางทันตกรรมทั่วไป
– มีสิ่งแปลกปน (artifact) จากครอบฟันโลหะ วัสดุอุดอะมัลกัม รากเทียม ฟันเดือย วัสดุอุดคลองรากฟัน เป็นต้น
*** ส่งถ่ายภาพรังสี Cone Beam CT กรุณาโทรมานัดล่วงหน้า ***
คลินิกรังสีวิทยาช่องปากและใบหน้าจากรรไกร
ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา โทร. 02-200-7773, 02-200-7777 ต่อ 3341 – 5
เลขที่ 888 ม.6 ถ.บรมราชชนนี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
เบอร์ตรง 0-2849-6600