INTRANET

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

MU DENT faculty of dentistry

ขากรรไกรค้างทำอย่างไรดี

อ.ดร.ทพญ. นามรัฐ ฉัตรไชยยันต์

ภาควิชาวิทยาระบบบดเคี้ยว

ขากรรไกรค้างเป็นอย่างไร

คนทั่วไปมักใช้คำว่าอ้าปากค้างหรือกรามค้างเพื่ออธิบาย 2 อาการ คือ
1. อ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้
2. อ้าปากได้น้อยกว่าปกติ

การอ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้ ทางการแพทย์ เรียกว่า ขากรรไกรค้างหรืออ้าปากค้าง แต่เมื่ออ้าปากแล้วไม่สามารถอ้าปากได้กว้างตามปกติ เรียกว่า อ้าปากได้จำกัดหรืออ้าปากไม่ขึ้น

 

อ้าปากค้างเกิดจากอะไร
โดยทั่วไปเมื่อเราอ้าปากและหุบปาก ข้อต่อขากรรไกรที่อยู่บริเวณหน้ารูหูจะหมุนและเคลื่อนไปมาในเบ้ากระดูก ซึ่งเป็นส่วนที่ติดกับกระโหลกศีรษะ เมื่ออ้าปากหัวข้อต่อขากรรไกรและหมอนรองข้อต่อขากรรไกรจะเคลื่อนออกจากเบ้ากระดูกและเคลื่อนกลับเข้าเบ้ากระดูกเมื่อหุบปาก เมื่ออ้าปากค้างหัวข้อต่อขากรรไกรจะเคลื่อนพ้นเบ้ากระดูกออกมาขัดค้างอยู่นอกเบ้า และไม่สามารถเคลื่อนกลับเข้าที่ได้ เราจึงไม่สามารถหุบปากลงได้ตามปกติ เช่น เมื่อหาวกว้างๆ หัวเราะกว้างๆ รับประทานอาหารคำโตๆ อ้าปากกว้างเพื่อทำฟันนานๆ ซึ่งอาจเกิดเสียงดังบริเวณข้อต่อขากรรไกรเมื่อเกิดขากรรไกรค้างและขณะเกิดอาการมักรู้สึกเจ็บปวดร่วมด้วย

 

เมื่ออ้าปากค้างควรทำอย่างไร

เมื่ออ้าปากค้างต้องพยายามสงบใจและอย่าตกใจเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวเกร็งมากขึ้น และไม่สามารถจัดตำแหน่งขากรรไกรเข้าที่ได้ บางครั้งเมื่อผู้ป่วยพยายามขยับขากรรไกรไปมาหรือนวดคลึงบริเวณหน้าหูและข้างแก้มเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อก็จะสามารถหุบปากลงได้เอง ทั้งนี้ห้ามตบหรือชกใบหน้าและขากรรไกรหรือพยายามหุบปากลงทั้งที่ข้อต่อขากรรไกรยังค้างอยู่ เพราะจะทำให้เจ็บมากขึ้น

หากลองรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ควรรับการรักษาอย่างฉุกเฉินจากแพทย์หรือทันตแพทย์ที่จะจัดขากรรไกรให้เข้าที่ได้ หากกล้ามเนื้อบดเคี้ยวของผู้ป่วยเกร็งมาก ผู้ป่วยอาจได้รับยาเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดความกังวล ซึ่งจะเอื้อให้แพทย์และทันตแพทย์จัดขากรรไกรเข้าที่ได้ง่ายขึ้น เมื่อสามารถหุบปากลงได้แล้วไม่ควรอ้าปากกว้างๆ อีก เพราะอาจทำให้อ้าปากค้างอีกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ้าปากค้างขณะทำฟันสามารถประคบบริเวณหน้าหูหรือข้างแก้มด้วยผ้าห่อน้ำแข็งเพื่อลดอาการเจ็บปวด ควรรับประทานอาหารอ่อนจนกว่าจะหายเจ็บและถ้ายังเจ็บมากสามารถรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ (NSAIDs) สักระยะได้

 

อ้าปากค้างป้องกันได้อย่างไร

– หลีกเลี่ยงการอ้าปากกว้างมากๆ เช่น เวลาหาวให้เอามือประคองใต้คาง เวลารับประทานอาหารให้ตัดอาหารเป็นคำเล็กๆ
– เวลาทำฟันให้แจ้งทันตแพทย์หากมีประวัติเคยมีขากรรไกรค้าง หรือขอพักเป็นระยะเพื่อหุบปากลงหากรู้สึกเมื่อย
– หมั่นบริหารขากรรไกร หากมีอาการอ้าปากค้างบ่อยๆ โดยวางปลายลิ้นที่เพดานปากบริเวณเหงือกหลังฟันหน้าบน แล้วอ้าปากจนกว้างที่สุด โดยให้ปลายลิ้นยังแตะบริเวณนี้ตลอดเวลา ไม่ดันฟันหน้าเพราะอาจทำให้ฟันหน้ายื่น ค้างอยู่ท่านี้ประมาณ 6 วินาที ทำซ้ำ 6 ครั้ง นับเป็น 1 รอบ ทำวันละ 6 รอบ ท่าบริหารนี้จะเป็นการฝึกให้ผู้ป่วยอ้าปากอยู่ในวงจำกัดที่หัวข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนอยู่ภายในเบ้ากระดูก ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอ้าปากได้แคบลงซึ่งจะไม่ทำให้อ้าปากกว้างเกินจำกัดและอ้าปากค้างต่อไป

หากดูแลขากรรไกรแล้วยังคงอ้าปากค้างและไม่สามารถเอากลับเข้าที่ได้ด้วยตนเองบ่อยๆ ทันตแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างของข้อต่อขากรรไกร

 
Post Views: 164