การปลูกถ่ายฟัน
คือ การปลูกถ่ายฟันของตัวผู้ป่วยเองแทนที่ลงในช่องว่างที่มีการสูญเสียฟันไปก่อนกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากฟันผุที่ลุกลามมากจนไม่สามารถรักษาได้ ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุที่มีการแตกของตัวฟันและรากฟัน จนต้องถอนฟันซี่นั้นไป
ช่องว่างที่เกิดจากการสูญเสียฟันไปนั้นจำเป็นต้องได้รับการทดแทนด้วยฟันปลอมเพื่อให้ผู้ป่วยยังสามารถเคี้ยวอาหารได้อย่างปกติ และเป็นการป้องกันไม่ให้ฟันที่อยู่ข้างเคียงรวมถึงฟันคู่สบล้มและงอกย้อยเข้ามาสู่ช่องว่าง
การปลูกถ่ายฟันจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาสำหรับการแทนที่ช่องว่างที่เกิดจากการถอนฟันไปแทนการใส่ฟันปลอม
โดยส่วนมากฟันที่จะใช้ในการปลูกถ่ายคือฟันกรามคุด ซึ่งเป็นฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ในช่องปากหรือขึ้นได้ไม่เต็มซี่ ส่วนใหญ่จะเป็นฟันกรามซี่ในสุดของขากรรไกรบนและล่าง ทั้งด้านซ้ายและขวาซึ่งมักจะไม่มีพื้นที่เพียงพอในการขึ้น ส่งผลทำให้เกิดบริเวณที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ หรืออาจมีการพัฒนาของรอยโรคในลักษณะต่างๆ รอบฟันคุด
จากผลเสียต่างๆ ของการเก็บฟันคุดไว้ในระยะยาวทำให้ผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดฟันคุดออก แต่เมื่อมองถึงประโยชน์อีกด้านของฟันคุด ฟันคุดที่ยังไม่ขึ้นมาในช่องปากเปรียบเสมือนอะไหล่ชั้นดีที่มีคุณภาพที่ราคาถูกที่สุด ในการนำมาทดแทนฟันในตำแหน่งปกติที่ผู้ป่วยถูกถอนไปก่อนเวลาอันสมควร โดยข้อดีของการรักษาวิธีนี้คือ แทนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำฟันปลอม ซึ่งถ้าเป็นฟันปลอมติดแน่นหรือรากฟันเทียมนั้น ราคาจะค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการใช้ฟันคุดของตัวเราเอง ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่ามาก พูดง่ายๆคือ “ ไหนๆ จะต้องผ่าฟันคุดออกแล้วแทนที่จะผ่าทิ้งก็เอามาใช้ซะเลย” ถ้าผลการรักษาสำเร็จ การใช้งานนั้นเทียบเคียงได้กับฟันจริง
ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงที่รากฟันกรามซี่สุดท้าย(ฟันคุดที่เราจะใช้) ยังไม่มีการปิดของรูเปิดปลายราก นั่นคือก่อนอายุ 20 ปี แต่บางคนอาจจะช้าได้ถึง 25 ปี ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการที่จะมีการงอกของเส้นเลือดในตำแหน่งที่เรานำฟันไปปลูกให้เข้าสู่โพรงในตัวฟันได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนและวิธีการปลูกถ่ายฟันคุด
เริ่มตั้งแต่การประเมินขนาดของช่องว่างที่มีการสูญเสียฟันไป ปริมาณของกระดูกที่มีอยู่ ความสะอาดภายในช่องปากของผู้ป่วย สำหรับในส่วนของตัวฟันที่จะนำมาปลูกนั้นจะมีการประเมินทั้งขนาดและความสมบูรณ์ของฟันคุด รวมไปถึงความเหมาะสมระหว่างขนาดของฟันคุดกับช่องว่างที่จะนำไปปลูกว่าเหมาะสมกันหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจในช่องปากร่วมกับการถ่ายภาพรังสี เพื่อเตรียมความพร้อมและวางแผนให้ดีที่สุดก่อนการผ่าตัด
สำหรับขั้นตอนการทำนั้น คล้ายกับการผ่าตัดฟันคุด ต่างกันตรงที่ใช้เวลาในการผ่าตัดนานกว่า เนื่องจากต้องระมัดระวังและทะนุถนอมฟันที่นำออกมาให้มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุด ถ้าผ่าฟันคุดปกติจะมีการแบ่งฟันออกเป็นส่วน เมื่อนำออกมาก็ทิ้งไป แต่ฟันปลูกเราแทบจะต้องอุ้มมันออกมากันเลยทีเดียว และที่ต่างกันอีกส่วนก็คือเราจะต้องเตรียมบริเวณที่จะนำฟันไปปลูก โดยการเตรียมและตกแต่งเบ้าฟันให้มีลักษณะใกล้เคียงกับฟันคุดที่จะนำมาปลูกมากที่สุด
หลังจากการผ่าตัดแล้วนั้น ผู้ป่วยจะต้องได้รับการติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วง 1 อาทิตย์ – 1 เดือนแรกที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก หลังจากพ้นช่วง 1 เดือนไป ผู้ป่วยยังคงต้องเข้ารับการติดตามผลอยู่แต่จะมีช่วงเวลาการนัดที่ห่างมากขึ้น
สำหรับการปลูกถ่ายฟันคุดในประเทศไทยมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในวงแคบเพราะต้องใช้ความชำนาญในการทำสูง อีกทั้งจำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยในการปฏิบัติตามคำแนะนำและกลับมาติดตามผลการรักษา ซึ่งก็เหมือนการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างนึงที่ในช่วงแรกจะมีความสำคัญมากเพราะจะปลูกติดหรือไม่นั้น ต้องอาศัยทั้งความละเอียดตั้งแต่ก่อนการรักษารวมถึงระหว่างขั้นตอนการทำและความร่วมมือจากผู้ป่วย จะว่าไปแล้วผลสำเร็จของการปลูกถ่ายฟันขึ้นกับหมอและผู้ป่วยครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
ในส่วนของคณะทันตแพทย์มหิดลนั้นมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายฟันมามากกว่า 200 ซี่ ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือและกลับมาติดตามผลการรักษาตามนัดนั้น อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจมาก
เลขที่ 888 ม.6 ถ.บรมราชชนนี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
เบอร์ตรง 0-2849-6600