INTRANET

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

การดูแลสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์

การดูแลสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์

เมื่ออายุครรภ์ 4 – 6 เดือน 
ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและทำความสะอาดช่องปาก ไม่ควรรอจนกระทั่งมีอาการ

 

แปรงฟันให้สะอาด 
อย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ นาน 2 นาที ร่วมกับการทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน

 

หลังอาเจียนจากการแพ้ท้องหรือทานอาหารเปรี้ยว 
ควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าทุกครั้ง

 

หลีกเลี่ยง 
การกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน นมเปรี้ยว

 

เมื่อสุขภาพช่องปากไม่ดีขณะตั้งครรภ์จะส่งผลต่อลูกอย่างไร

 

ภาวะโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ

เกิดจากการดูแลทำความสะอาดช่องปากไม่เพียงพอ อาจจะทำให้เกิดภาวะ “คลอดก่อนกำหนด” หรือ “น้ำหนักตัวแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์” ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อลูกน้อยตามมา เช่น มีอัตราการเสียชีวิตแรกคลอดและอัตราการเจ็บป่วยสูง มีโอกาสที่ทารกจะมีความผิดปกติแต่กำเนิด ได้แก่ ความผิดปกติของระบบหายใจ สมอง และพัฒนาการ

 

การกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง

– มารดาเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเป็นเบาหวานในอนาคตและมีภาวะแทรกซ้อนทั้งขณะตั้งครรภ์และจากการคลอด เช่น ครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด
– ลูกมีโอกาสน้ำหนักแรกคลอดมากและภาวะหายใจเร็วในทารกแรกคลอดได้

ผศ.ทพญ. กันยวัชร์ รัตนสุวรรณ

ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปากและปริทันตวิทยา

ครอบฟันและสะพานฟัน

ครอบฟันและสะพานฟัน

การทำครอบฟัน (Crown)

เป็นการบูรณะฟันโดยการใช้วัสดุทั้งซี่เพื่อทำให้ฟันซี่นั้นแข็งแรงขึ้น หรือตกแต่งรูปทรงให้ฟันสวยงามหรือเป็นระเบียบมากขึ้น

 

เมื่อใดจึงจะทำครอบฟัน

ข้อดีของครอบฟัน

– เพื่อบูรณะให้ฟันกลับมามีรูปร่างเหมือนเดิม
– สามารถปรับแต่งรูปร่างและการเรียงตัวของฟันได้
– ในฟันมีความผิดปกติ โครงสร้างฟันอ่อนแอ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ฟันได้

 

การทำสะพานฟัน (Bridge)

เป็นการทดแทนฟันที่สูญเสียไป ด้วยการยึดซี่ฟันปลอมเข้ากับฟันซี่ข้างเคียงอย่างถาวร (ถอดออกมาล้างไม่ได้) อย่างไรก็ดี ฟันซี่ข้างเคียงจะถูกกรอเพื่อเตรียมเป็นหลักของสะพานฟัน

 

เมื่อใดจึงจะทำสะพานฟัน
ช่องฟันที่หายไปเป็นช่องขนาดเล็ก (ขนาดประมาณ 1-2 ซี่) โดยมีฟันที่จะใช้เป็นฟันหลักยึดสะพานฟัน 2 ซี่ อยู่ข้างๆ ช่องฟันที่หายไป

 

 

ข้อดีของสะพานฟัน

– สามารถทดแทนฟันซี่ที่สูญเสียไป ช่วยป้องกันการล้มของฟันซี่ข้างเคียง หรือการงอกของฟันคู่สบมายังช่องว่างระหว่างฟัน
– สะพานฟันสามารถออกแบบให้ดูเป็นธรรมชาติ คล้ายคลึงกับฟันตามธรรมชาติของผู้ป่วย ไว้ทดแทนช่องว่างจากการสูญเสียฟัน เพิ่มความสวยงามอีกด้วย

การดูแลรักษาครอบฟันและสะพานฟัน

 

– การแปรงฟัน

ควรแปรงฟันหลังอาหารทุกครั้ง โดยแปรงบริเวณผิวด้านบน และด้านข้างของฟัน เหมือนกับการแปรงฟันทั่วไป บางกรณีควรใช้แปรงซอกฟันทำความสะอาดบริเวณช่องว่างระหว่างฟันร่วมด้วยเพื่อความสะอาดยิ่งขึ้น

 

– การใช้ไหมขัดฟัน

ควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันและใต้สะพานฟันเพื่อกำจัดเศษอาหารและแบคทีเรียบริเวณซอกฟัน อย่างน้อยวันละครั้ง


– การพบทันตแพทย์

ควรพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน หรือ ปีละ 2 ครั้ง

 

“เมื่อได้เห็นรอยยิ้มสะพานฟัน ไม่เปลี่ยนผันจากฟันจริงมากเท่าไหร่ ยิ้มสวยได้ทุกวันไม่อายใคร เพราะนี่ไงยิ้มสวยด้วยสะพานฟัน”

รศ.ดร.ทพ. ชูชัย อนันต์มานะ

ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์

การเตรียมลูกไปพบทันตแพทย์ครั้งแรก

การเตรียมลูกไปพบทันตแพทย์ครั้งแรก

เด็กส่วนใหญ่เมื่อไปพบทันตแพทย์ครั้งแรก มักจะมีความกลัวและวิตกกังวลในการรักษา คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมตัวลูกเพื่อไปพบทันตแพทย์ได้หลายวิธี ได้แก่

 

1. เล่านิทานเกี่ยวกับการทำฟันและดูวิดีโอเกี่ยวกับการทำฟัน คุณพ่อคุณแม่อาจเล่านิทานที่เกี่ยวข้องกับการทำฟันของเด็ก เช่น นิทานเรื่องลูกหมูมาทำฟัน เพื่อเสริมความเข้าใจบทบาทของทันตแพทย์ หรือ ดูวิดีโอให้ความรู้ว่าในวันแรกทันตแพทย์จะทำอะไร ซึ่งมักเป็นงานง่ายๆ เช่น การตรวจฟัน ทำให้เด็กมีความคุ้นเคยกับการทำฟัน

 

2. เล่นบทบาทสมมติ เตรียมตัวก่อนเจอสถานการณ์จริง คุณพ่อคุณแม่เล่นเป็นทันตแพทย์ ให้ลูกเล่นเป็นคนไข้ หรือกลับบทบาทกัน ซักซ้อมก่อนว่ามีขั้นตอนอะไรบ้างในการมาตรวจฟันครั้งแรก เล่าสถานการณ์ที่ลูกจะต้องเจอ พอมาพบทันตแพทย์จริงลูกจะเข้าใจว่ากำลังทำอะไรและเขาควรทำตัวอย่างไร จะช่วยลดความกลัวได้

 

3. ให้ดูตัวอย่างที่ดี พาลูกไปพบทันตแพทย์พร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ หรือพี่ที่เคยทำฟันแล้วร่วมมือดี ให้ลูกดูตัวอย่างว่าทำฟันอย่างไร โดยวันที่เลือกไปดูนั้น ควรเป็นการรักษาที่ง่ายๆ เช่น ตรวจฟัน เพื่อให้เกิดการเลียนแบบตัวอย่างที่ดี

 

4. บอกความจริง อย่าโกหกลูก อย่าโกหกหลอกลวงลูก ให้พูดตามความจริง อย่าหลอกว่าจะพาไปที่อื่น แต่จริงๆ พามาทำฟันจะทำให้ลูกต่อต้านมากขึ้น

 

5. สร้างทัศนคติที่ดีต่อการไปพบทันตแพทย์ ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันตั้งแต่ยังไม่มีฟันผุ หรืออาการเจ็บปวด ย่อมได้รับความร่วมมือและความทรงจำที่ดีกว่า เพราะการไปตรวจฟันเป็นประจำ ลูกจะมีฟันที่ต้องอุดน้อยกว่า หากลูกมาพบทันตแพทย์ครั้งแรกตอนที่ปวดฟันมา หรือมีฟันผุมากๆ การรักษาจะยุ่งยากซับซ้อน และใช้เวลาการรักษานาน จะทำให้เด็กมีความทรงจำที่ไม่ดีต่อการทำฟันและฝังใจได้ ต่อไปเด็กก็จะไม่ให้ความร่วมมือในการทำฟัน

 

6. อย่าขู่ลูกจนกลัวการมาพบทันตแพทย์ หลีกเลี่ยงการใช้คำที่น่ากลัว (เช่น ฉีดยา ถอนฟัน เจ็บ) หรือใช้ทันตแพทย์มาขู่ลูก ให้ใช้คำอื่นแทน แต่ทำให้ทันตแพทย์เป็นเหมือนฮีโร่ที่จะมาช่วยให้ฟันของลูกดี ไม่ใช่ให้ทันตแพทย์เป็นผู้ร้ายที่จะมาทำให้ลูกเจ็บ อาจตั้งบทบาทของทันตแพทย์เป็นเพื่อนที่จะมาคอยแนะนำให้ลูกแปรงฟัน หรือเป็นคุณครูที่จะมาสอนให้ลูกแปรงฟันให้เก่ง

 

7. ให้ลูกคุ้นเคยกับการแปรงฟัน การแปรงฟันให้ลูกทุกวัน จะสร้างความคุ้นเคยกับการตรวจในช่องปาก โดยอาจให้ซ้อมอ้าปากกว้างค้างไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ดูฟัน พอลูกมาทำฟันจริงก็จะยอมอ้าปากให้ตรวจฟันได้ง่าย

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook page : มหิดลรักฟันน้ำนม

อ.ทพญ.อภิชญา มโนเพ็ชรเกษม

ภาควิชาทันตกรรมเด็ก

ขากรรไกรค้างทำอย่างไรดี ?

ขากรรไกรค้างทำอย่างไรดี ?

ขากรรไกรค้างเป็นอย่างไร

 

คนทั่วไปมักใช้คำว่าอ้าปากค้างหรือกรามค้างเพื่ออธิบาย 2 อาการ คือ

1. อ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้
2. อ้าปากได้น้อยกว่าปกติ

 

การอ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้ ทางการแพทย์ เรียกว่า ขากรรไกรค้างหรืออ้าปากค้าง แต่เมื่ออ้าปากแล้วไม่สามารถอ้าปากได้กว้างตามปกติ เรียกว่า อ้าปากได้จำกัดหรืออ้าปากไม่ขึ้น

 

อ้าปากค้างเกิดจากอะไร

โดยทั่วไปเมื่อเราอ้าปากและหุบปาก ข้อต่อขากรรไกรที่อยู่บริเวณหน้ารูหูจะหมุนและเคลื่อนไปมาในเบ้ากระดูก ซึ่งเป็นส่วนที่ติดกับกระโหลกศีรษะ เมื่ออ้าปากหัวข้อต่อขากรรไกรและหมอนรองข้อต่อขากรรไกรจะเคลื่อนออกจากเบ้ากระดูกและเคลื่อนกลับเข้าเบ้ากระดูกเมื่อหุบปาก เมื่ออ้าปากค้างหัวข้อต่อขากรรไกรจะเคลื่อนพ้นเบ้ากระดูกออกมาขัดค้างอยู่นอกเบ้า และไม่สามารถเคลื่อนกลับเข้าที่ได้ เราจึงไม่สามารถหุบปากลงได้ตามปกติ เช่น เมื่อหาวกว้างๆ หัวเราะกว้างๆ รับประทานอาหารคำโตๆ อ้าปากกว้างเพื่อทำฟันนานๆ ซึ่งอาจเกิดเสียงดังบริเวณข้อต่อขากรรไกรเมื่อเกิดขากรรไกรค้างและขณะเกิดอาการมักรู้สึกเจ็บปวดร่วมด้วย

เมื่ออ้าปากค้างควรทำอย่างไร

เมื่ออ้าปากค้างต้องพยายามสงบใจและอย่าตกใจเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวเกร็งมากขึ้น และไม่สามารถจัดตำแหน่งขากรรไกรเข้าที่ได้ บางครั้งเมื่อผู้ป่วยพยายามขยับขากรรไกรไปมาหรือนวดคลึงบริเวณหน้าหูและข้างแก้มเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อก็จะสามารถหุบปากลงได้เอง ทั้งนี้ห้ามตบหรือชกใบหน้าและขากรรไกรหรือพยายามหุบปากลงทั้งที่ข้อต่อขากรรไกรยังค้างอยู่ เพราะจะทำให้เจ็บมากขึ้น

 

หากลองรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ควรรับการรักษาอย่างฉุกเฉินจากแพทย์หรือทันตแพทย์ที่จะจัดขากรรไกรให้เข้าที่ได้ หากกล้ามเนื้อบดเคี้ยวของผู้ป่วยเกร็งมาก ผู้ป่วยอาจได้รับยาเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดความกังวล ซึ่งจะเอื้อให้แพทย์และทันตแพทย์จัดขากรรไกรเข้าที่ได้ง่ายขึ้น เมื่อสามารถหุบปากลงได้แล้วไม่ควรอ้าปากกว้างๆ อีก เพราะอาจทำให้อ้าปากค้างอีกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ้าปากค้างขณะทำฟันสามารถประคบบริเวณหน้าหูหรือข้างแก้มด้วยน้ำเย็นเพื่อลดอาการเจ็บปวด ควรรับประทานอาหารอ่อนจนกว่าจะหายเจ็บและถ้ายังเจ็บมากสามารถรับประทานยาต้านการอักเสบสักระยะได้

อ้าปากค้างมีการรักษาอย่างไร

– หลีกเลี่ยงการอ้าปากกว้างมากๆ เช่น เวลาหาวให้เอามือประคองใต้คาง เวลารับประทานอาหารให้ตัดอาหารเป็นคำเล็กๆ
– เวลาทำฟันให้แจ้งทันตแพทย์หากมีประวัติเคยมีขากรรไกรค้าง หรือขอพักเป็นระยะเพื่อหุบปากลงหากรู้สึกเมื่อย
– หมั่นบริหารขากรรไกร หากมีอาการอ้าปากค้างบ่อยๆ โดยวางปลายลิ้นที่เพดานปากบริเวณเหงือกหลังฟันหน้าบน แล้วอ้าปากจนกว้างที่สุด โดยให้ปลายลิ้นยังแตะบริเวณนี้ตลอดเวลา ไม่ดันฟันหน้าเพราะอาจทำให้ฟันหน้ายื่น ค้างอยู่ท่านี้ประมาณ 6 วินาที ทำซ้ำ 6 ครั้ง นับเป็น 1 รอบ ทำวันละ 6 รอบ ท่าบริหารนี้จะเป็นการฝึกให้ผู้ป่วยอ้าปากอยู่ในวงจำกัดที่หัวข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนอยู่ภายในเบ้ากระดูก ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอ้าปากได้แคบลงซึ่งจะไม่ทำให้อ้าปากกว้างเกินจำกัดและอ้าปากค้างต่อไป

หากดูแลขากรรไกรแล้วยังคงอ้าปากค้างและไม่สามารถเอากลับเข้าที่ได้ด้วยตนเองบ่อยๆ
ทันตแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างของข้อต่อขากรรไกร

อ.ดร.ทพญ. นามรัฐ ฉัตรไชยยันต์

ภาควิชาวิทยาระบบบดเคี้ยว

ความผิดปกติของการสบฟันในผู้ป่วยวัยเด็ก

ความผิดปกติของการสบฟันในผู้ป่วยวัยเด็ก

การสบฟันลึก หมายถึง ระยะเหลื่อมแนวดิ่งที่ฟันหน้ามากกว่า 1/3 ของความสูงของฟันหน้าล่าง สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะฟันน้ำนมและระยะฟันชุดผสม (ช่วงที่ฟันแท้ยังขึ้นไม่ครบและยังมีฟันน้ำนมเหลืออยู่) ในการรักษาจะอาศัยการแก้ไขด้วยเครื่องมือทันตกรรมจัดฟันชนิดถอดได้ หรือเครื่องมือฟังก์ชันนอล เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรล่าง

การสบฟันเปิด ที่พบได้บ่อย มักพบที่ฟันหน้าบนล่างไม่สบกัน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการดูดนิ้ว การกลืนที่ผิดปกติ โดยในการรักษาควรให้ฝึกวางตำแหน่งลิ้นให้กลืนอย่างถูกต้อง ร่วมกับการใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ โดยอาจเป็นเครื่องที่ช่วยในการขยายขากรรไกร หรือเป็นเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น

ฟันสบคร่อม หมายถึง ลักษณะที่ฟันล่างสบคร่อมฟันบน (โดยปกติฟันบนจะสบคร่อมฟันล่าง) พบได้ทั้งในฟันหน้าและฟันหลัง ฟันสบคร่อมควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ด้วยการใส่เครื่องมือถอดได้ที่ติดสปริงหรือสกรูและเพลทเพื่อยกฟันหลัง และสามารถดันฟันที่สบคร่อมออกมา หรืออาจใช้ร่วมกับเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นก็ได้

ฟันซ้อนเก มักพบในระยะฟันชุดผสม ฟันแท้ที่ขึ้นมาทดแทนจะมีขนาดใหญ่กว่าฟันน้ำนมที่หลุดออกไป ฟันจึงขึ้นมาเบียดซ้อนกัน หรือเกิดจากการสูญเสียฟันน้ำนมบางซี่ไปก่อนกำหนด ทำให้ฟันข้างเคียงเคลื่อนที่เข้ามาแทน การรักษาขึ้นอยู่กับการตรวจวินิจฉัยโดยทันตแพทย์ว่าควรทำเลยหรือรอจนฟันแท้ขึ้นจบครบได้

คราวนี้ทุกคนก็พอจะทราบแล้วว่าลักษณะการสบฟันที่ผิดปกติในวัยเด็กเป็นอย่างไร สาเหตุหลักๆ มักมีด้วยกัน 3 ประการ

1. จากการมีลักษณะนิสัยการดูดนิ้ว, การกลืนที่ผิดปกติ ซึ่งเรื่องนี้คุณแม่คุณพ่อก็ต้องดูกันตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ กันเลย
2. การดูแลฟันน้ำนมไม่ถูกต้อง ทำไมต้องดูแลฟันน้ำนมให้ดี เพราะฟันน้ำนมนอกจากจะมีไว้บดเคี้ยวตามธรรมชาต ช่วยในการออกเสียงแล้วยังเป็นผู้ดูแลช่องว่างเตรียมไว้ให้ฟันแท้ที่จะขึ้นมาทดแทนด้วย ถ้าเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาอันควรช่องว่างสำหรับฟันแท้จะมีไม่พอ เกิดปัญหาฟันซ้อนเกตามมาได้
3. สาเหตุจากกรรมพันธุ์ ไม่เพียงแต่มีผลเฉพาะกับฟัน เช่น ลักษณะรูปร่างของฟัน ขนาดฟัน จำนวนฟัน เท่านั้น ยังส่งผลต่อลักษณะของโครงหน้าอีกด้วย เช่น หน้ากลม หน้ารูปไข่ หน้าเหลี่ยม คางสั้น คางยื่น เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมิน วินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมจากทันตแพทย์เฉพาะทางสาขา ทันตกรรมจัดฟัน

อ.ทพ.พงศธร พู่ทองคำ

ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน

ฟัน(น้ำนม) ผุ

ฟัน(น้ำนม) ผุ

ปัญหาฟันน้ำนมผุเกิดจากอะไร ?

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฟันน้ำนมผุ มาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว การปล่อยให้เด็กนอนหลับคาขวดนม ทำให้น้ำตาลที่อยู่ในนม สามารถเข้าไปทำลายเคลือบฟันของเด็กได้ เพราะคราบจุลินทรีย์จะย่อยน้ำตาลในนมที่ค้างอยู่บนผิวฟัน ทำให้เกิดการสะสมของกรด ละลายผิวฟันเป็นรู นอกจากเรื่องขวดนมแล้ว ปัญหาฟันน้ำนมผุ ยังอาจเกิดได้จากโครงสร้างของฟันเด็กที่ไม่สมบูรณ์ อาจเป็นเพราะคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย แม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กยุคนี้ฟันผุง่ายก็คือ การรับประทานขนมตามใจชอบ แล้วไม่ยอมแปรงฟันนั่นเอง  อีกทั้งผู้ปกครองหลายคนมักมีความเชื่อผิดๆ ว่า เดี๋ยวฟันน้ำนมก็ต้องหลุดไป มีฟันแท้มาแทนที่ จึงไม่ได้ใส่ใจการรับประทานขนมและการแปรงฟันของลูกมากนัก และลูกก็ยังไม่สามารถทำความสะอาดฟันอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้ฟันผุได้ง่ายนั่นเอง

 

ฟันน้ำนมผุได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ?

ปัญหาฟันน้ำนมผุหรือฟันผุในวัยเด็ก สามารถเกิดได้ตั้งแต่เด็กมีฟันขึ้นในช่องปาก ซึ่งก็คืออายุประมาณ 6 เดือน  เนื่องจากชั้นเคลือบฟันน้ำนมหนาประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้เท่านั้น ทำให้ฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่ามาก และยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เป็นองค์ประกอบน้อยกว่าอีก โดยฟันน้ำนมซี่หน้าบนจะผุได้ง่ายกว่าฟันหน้าล่าง รวมทั้งอีกจุดที่ผุง่ายก็คือ ฟันกรามด้านบดเคี้ยว เพราะเป็นซี่ใน ขนมหวานมักติดค้างอยู่ในร่องฟัน จึงทำความสะอาดได้ยากนั่นเอง

รู้จัก 3 ระยะ ของโรคฟันผุ

  1. ฟันผุในระยะแรก จะพบลักษณะรอยโรคขุ่นขาวบริเวณเคลือบฟันหรือหลุมร่องฟัน ซึ่งจะยังไม่แสดงอาการ
  2. ฟันผุที่ชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน จะมีการแตกหักของเนื้อฟันจนเกิดรอยผุเป็นรูบนตัวฟัน เด็กจะเริ่มมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน เวลาเศษอาหารติด
  3. ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน จะมีอาการปวดฟัน ประสาทฟันอักเสบร่วมกับการอักเสบของเหงือกและอวัยวะรอบๆ ฟัน

การรักษาฟันน้ำนมผุ

หากลูกมีฟันผุระยะแรกเริ่ม คุณหมอจะให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารและการทำความสะอาดหรือเคลือบหลุมร่องฟัน คุณหมอจะทำการอุดฟันหรือครอบฟันในฟันที่ผุถึงชั้นเนื้อฟัน แต่หากฟันผุทะลุเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน คุณหมอจะต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน หรือถอนฟันแทน แต่สำหรับกรณีที่ฟันผุยังไม่ได้ทำลายรากฟัน และกระดูกเบ้าฟันไปมาก คุณหมอจะแนะนำให้เก็บรักษาฟันน้ำนมไว้ใช้งาน รอจนฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่ การอุดฟันที่ผุลึกมาก การถอนฟัน หรือการรักษารากฟัน คุณหมอจะใช้ยาชา เพื่อไม่ให้เด็กๆ รู้สึกเจ็บปวดจนทนไม่ไหว

 

วิธีป้องกันไม่ให้ฟันน้ำนมผุ

– ฝึกให้เด็กทารกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม
– สอนให้เด็กใช้แก้วน้ำแทนขวดนมและฝึกดูดจากหลอด ตั้งแต่อายุ 6 – 12 เดือน และควรเลิกใช้ขวดนม เมื่ออายุ 1 ปี ไปแล้ว
– ฝึกนิสัยไม่ให้ลูกทานขนมจุบจิบ อาหารรสหวาน เพราะเป็นสาเหตุของฟันผุ หากลูกอยากรับประทานให้รับประทานในมื้ออาหาร
– เลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ไม่เติมน้ำตาลและไม่ทำให้ฟันผุ เช่น นมจืด ผลไม้ แซนวิสทูน่า ปลาเส้น เป็นต้น
– ให้ลูกบ้วนปากหลังดื่มนม รับประทานขนม หรือหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
– แปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง เวลาเช้า – ก่อนนอน
– เมื่อลูกอายุ 4 ขวบ ฝึกให้ลูกแปรงฟันอย่างถูกวิธี และช่วยแปรงซ้ำเป็นประจำ
– พาลูกไปพบทันตแพทย์ ตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อจะได้รับความรู้และแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างถูกต้อง

อ.ทพญ. วรณัน ประพันธ์ศิลป์

ภาควิชาทันตกรรมเด็ก

นอนกัดฟันคืออะไร

นอนกัดฟันคืออะไร

เป็นการทำงานนอกหน้าที่ของระบบบดเคี้ยวในขณะนอนหลับ ที่ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวหดตัวผิดปกติ จึงเกิดการกัดฟัน จัดเป็นความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่ง (Sleep disorders)

 

รู้ได้อย่างไรว่าเรานอนกัดฟัน

  • ส่วนมากคนที่นอนด้วยเขาจะบอกเราได้ แต่บางทีหรือบางคนถ้ากัดฟันแบบกัดแน่น ไม่ไถฟันไปมา ก็ไม่ได้ยินเสียง
  • อาจสังเกตตัวเองว่าตื่นนอนแล้วรู้สึกเมื่อยหรือเจ็บตึงที่บริเวณแก้ม หน้าหู หรือมีข้อต่อขากรรไกรขยับลำบาก ติดๆ ขัดๆ
  • ถ้าให้ทันตแพทย์ตรวจจะพบมีฟันสึกผิดปกติ ไม่สมกับอายุ ดูบริเวณแก้มด้านในและที่ขอบลิ้น มีรอยหยักตามแนวสบฟันชัดเจน แต่ต้องดูประกอบกันหลายอย่าง และอาจใช้เครื่องมือที่ช่วยทดสอบว่านอนกัดฟัน

สาเหตุ

  • ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบว่าอาจมีบางอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม ความเครียด วิตกกังวล
  • การรับประทานยาที่ช่วยปรับสารในสมอง
  • โรคบางอย่าง เช่น Parkinson ที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
  • ความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ (Sleep disorders)

 

อาการหรือผลเสียหายที่เกิดขึ้น

กล้ามเนื้อ

ถ้าเป็นน้อยก็อาจมีอาการเมื่อยๆ บริเวณแก้ม หน้าหู ตอนตื่นนอน

 

ฟัน

ฟันสึก แตก หรือร้าว ซึ่งอาจถึงขั้นต้องถอน

 

ข้อต่อขากรรไกร

ถ้าเป็นมากอาจจะเจ็บจนอ้าปากไม่ออก ขยับขากรรไกรลำบากจนถึงขั้นข้อต่อขากรรไกรเสื่อม

 

วิธีการรักษา

เนื่องจากยังหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ทำให้อาการนอนกัดฟันหายไป เราจึงต้องรักษาตามอาการและป้องกันการเสียหายที่จะเกิดขึ้น เช่น

ใส่เฝือกสบฟัน

  • เพื่อป้องกันฟันสึก ฟันแตก ฟันหัก
  • ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรลดความเกร็ง ความตึง

 

ฝึกการผ่อนคลาย

เช่น การฟังเพลงเบาๆ การทำสมาธิ การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย จะทำอย่างไรก็ได้ตามที่ชอบและสบายใจ แต่ไม่ใช่นั่งเล่นเกมส์ หรือใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนเกร็ง ไม่ใช่การพักผ่อนที่แท้จริง

ศ.คลินิก ทพญ. ณัฏยา อัศววรฤทธิ์

ภาควิชาวิทยาระบบบดเคี้ยว

ความสำคัญของน้ำลาย

ความสำคัญของน้ำลาย

น้ำลายคืออะไร และ ผลิตจากไหน ?

น้ำลาย (Saliva) คือ ของเหลวที่ถูกหลั่งในช่องปาก ถูกผลิตจากต่อมน้ำลายหลัก (Major salivary glands) และต่อมน้ำลายย่อย (Minor salivary glands) ต่อมน้ำลายหลักมีด้วยกัน 3 คู่ มีขนาดใหญ่ และแต่ละคู่มีตำแหน่งแตกต่างกันในช่องปาก ดังนี้

ส่วนประกอบของน้ำลายมีอะไรบ้าง ?

ส่วนประกอบของน้ำลายมนุษย์ ประกอบด้วย น้ำ ถึงร้อยละ 99.5 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 0.5 ประกอบไปด้วย อิเล็กโทรไลท์ (Electrolytes) หรือเกลือแร่ ได้แก่ โซเดียม โปแตสเซียม คลอไรด์ ไบคาร์บอเนทและฟอสเฟต มูกเมือก (Mucus) ประกอบด้วยแป้งและโปรตีน สารต้านเชื้อแบคทีเรีย และเอนไซม์ย่อยอาหารจำพวกแป้ง และไขมัน

 

น้ำลาย มีประโยชน์อย่างไร ?

  1. ก่อให้เกิดความชุ่มชื่นในช่องปาก และป้องกันเนื้อเยื่อในช่องปากจากภยันตรายต่าง ๆ ระหว่างการเคี้ยว การกลืน และการพูดคุย
  2. ช่วยในการย่อยอาหาร น้ำลายช่วยทำให้อาหารมีความนุ่มง่ายต่อการย่อย และยังมีองค์ประกอบของเอนไซม์ Amylase และ Lipase ที่ช่วยในการย่อยอาหารจำพวกแป้ง และไขมัน ตามลำดับ ก่อนส่งต่อไปยังกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก
  3. ช่วยป้องกันฟันผุ โดยน้ำลายทำหน้าที่เป็นสารบัฟเฟอร์จากองค์ประกอบของอิเล็กโทรไลท์ ควบคุมความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมในช่องปาก อยู่ที่ประมาณ pH 6.2 – 7.4 ซึ่งถ้าสมดุลในส่วนนี้ถูกรบกวน เกิดความเป็นกรดที่สูงขึ้น จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดความเป็นด่างที่สูงขึ้น จะมีโอกาสเกิดหินปูนได้มาก ทำให้เกิดโรคปริทันต์
  4. ช่วยในการรับรส โดยส่งเสริมการทำหน้าที่ของปุ่มรับรส เราจะสังเกตเห็นได้ว่าในคนไข้ที่มีน้ำลายน้อย เช่น ผู้สูงอายุ หรือคนไข้ที่ทานยาที่มีผลต่อการลดการหลั่งน้ำลาย มักจะมีการรับรสที่ผิดปกติ
  5. ในน้ำลายมีสารที่ฆ่าเชื้อโรคได้ คือ สารอิมมูโนโกลบูลินเอ (IgA) แลคโตเฟอริน และแลคโตเพอร์ออกซิเดส เวลามีแผลในปาก สารเหล่านี้จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น  ฆ่าเชื้อโรคได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้น้ำลายมีประโยชน์มากมาย แต่ในขณะเดียวกันน้ำลายอาจเป็นส่วนที่แพร่กระจายเชื้อโรค ทำให้เกิดโรคติดต่อจากบุคคลหนึ่งสู่บุคคลหนึ่งได้เช่นกัน เช่น โรคเริม โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น

 

ปริมาณ น้ำลาย/วัน ในมนุษย์

โดยเฉลี่ยมีการศึกษารายงานว่าปริมาณน้ำลายถูกหลั่งอยู่ในช่วง 0.75 – 1.5 ลิตร/วัน และเป็นที่ยอมรับว่าปริมาณน้ำลายจะมีการหลั่งที่น้อยลง หรือหยุดผลิตระหว่างการนอนหลับ หรือในช่วงเวลากลางคืน จึงเป็นสาเหตุให้มีกลิ่นปาก ไม่มีตัวฆ่าเชื้อในช่องปาก

จากที่กล่าวมาข้างต้น น้ำลายมีความสำคัญอย่างมาก ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นต่อการหลั่งน้ำลายที่น้อยลง ด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิเช่น ภาวะสูงอายุ ยาที่มีผลลดการหลั่งน้ำลาย โรคทางระบบ เช่น เบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำลายติดเชื้อ มะเร็งต่อมน้ำลาย ภาวะหลังการรักษามะเร็งที่ศีรษะและลำคออาจจะด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด ซึ่งจะมีผลต่อต่อมน้ำลาย เมื่อต่อมน้ำลายมีความผิดปกติ หลั่งน้ำลายได้น้อย (Hyposalivation) จะส่งผลให้เกิดสภาวะปากแห้ง (Dry mouth / Xerostomia) เสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ในช่องปาก เช่น ฟันผุ โรคเหงือกและปริทันต์อักเสบ แผลอักเสบในช่องปาก กลิ่นปาก ติดเชื้อราในช่องปาก ถึงตอนนี้เราได้เรียนรู้ว่าน้ำลายไม่ใช่แค่ของเหลวธรรมดา ๆ แต่เป็นของเหลวที่ถูกสร้างขึ้นจากร่างกายมีความสำคัญช่วยทำให้เราดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หากเรามีความผิดปกติของน้ำลาย หรืออยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการหลั่งน้ำลายน้อยตามที่อธิบายข้างต้น เราควรจะสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรมีการดูแลเอาใจใส่สุขภาพช่องปากเป็นพิเศษด้วยตนเองจากทันตแพทย์และแพทย์

รศ.ดร.ทพ. ขจรเกียรติ เจนบดินทร์

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์

การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน

การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน

คำแนะนำการปฏิบัติตน

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน

เมื่อกลับไปพักรักษาต่อที่บ้าน

 

อาการ

– หลังการผ่าตัดจะทำให้เกิดการปวดและบวมได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะจะบวมมากในช่วง 3 วันแรก และจะดีขึ้นหลังผ่านไป 1 – 2 สัปดาห์ สามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยยาแก้ปวดที่ทันตแพทย์จ่ายให้เมื่อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน
– อาการชาหลังผ่าตัดเป็นสิ่งปกติ การผ่าตัดขากรรไกรบนสามารถทำให้ริมฝีปากบน แก้ม และปีกจมูกชาได้ การผ่าตัดขากรรไกรล่างสามารถทำให้ริมฝีปากล่าง คาง หรือลิ้นชาได้ อาการชาจะค่อยๆ ดีขึ้น

 

ระยะเวลาในการพักรักษา

– ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัดอาจกินเวลาประมาณ 3 ถึง 5 วัน
– หลังทันตแพทย์พิจารณาให้กลับบ้านได้แล้ว จะทำการนัดติดตามดูอาการทุกอาทิตย์จนกว่าจะครบ 1 เดือน
– กรณีใส่แผ่นพลาสติกใส จะติดอยู่กับฟันบนและจะเอาออกเมื่อครบ 1 เดือน หลังการผ่าตัด
– ทันตแพทย์อาจจะใช้ยางยึดขากรรไกรบนและล่างไว้ด้วยกัน ในกรณีที่กัดฟันไม่ลงหรือฟันไม่สบกัน ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องรับประทานน้ำและอาหารเหลวทางปาก ผ่านทางกระบอกฉีดยา หลังผ่าตัดประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะเอายางออกให้ ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวขากรรไกรบนและล่างได้ และสามารถรับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อนตามคำแนะนำของทันตแพทย์

 

คำแนะนำการปฏิบัติตนขณะกลับไปพักรักษาต่อที่บ้าน

1. การรับประทานยา ควรรับประทานยาตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด/ครบถ้วน ห้ามหยุดยา/เพิ่มหรือลด ขนาดยาเองโดยเด็ดขาด
2. การรับประทานน้ำและอาหาร ควรรับประทานอาหารเหลวใสในช่วงสัปดาห์แรกของการผ่าตัดหรืออาหารปั่น เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดของบาดแผลในช่องปาก ไม่ควรเคี้ยวอาหารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน หรือตามทันตแพทย์แนะนำ เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 สามารถเริ่มรับประทานอาหารอ่อนนิ่มได้ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ตุ๋น เกี๊ยมอี๋ และสามารถรับประทานอาหารปกติได้เมื่อผ่าตัดไปแล้ว 3 เดือน
3. การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน สามารถทำได้ตามปกติ 1 – 2 สัปดาห์แรก ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้แรงหนัก เช่น ยกของ วิ่ง เนื่องจากร่างกายมีการสูญเสียเลือด หลังจากสัปดาห์ที่ 2 สามารถออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน ยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้ หลังสัปดาห์ที่ 12 สามารถออกกำลังกายแบบ แอโรบิค วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ได้ ควรหลีกลี่ยง กีฬาที่มีการปะทะ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล หรือ กีฬาโลดโผน
4. การนอนหลับ ควรนอนศีรษะสูง 30 องศา ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยให้ยุบบวมเร็วขึ้น
5. อาจรู้สึกว่ายังมีไหมเย็บอยู่ในช่องปาก ซึ่งไหมดังกล่าวทันตแพทย์จะนัดมาตัดไหม 2 สัปดาห์ หลังผ่าตัด
6. การประคบเย็น ควรประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมประมาณ 3 – 4 วันแรก หลังผ่าตัด หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นประคบร้อน/อุ่น ต่อเนื่องอีก 2 – 3 วัน หรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์
7. การรักษาความสะอาด ควรรักษาความสะอาดในช่องปากอยู่เสมอโดยการบ้วนปากและเริ่มแปรงฟันได้หลังผ่าตัดวันที่ 2 โดยใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กขนนิ่มของเด็กและควรแปรงอย่างนุ่มนวล ระมัดระวัง อาจใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
8. ควรหลีกเลี่ยงการขากเสมหะแรงๆ การล้วงเข้าไปในช่องปาก ห้ามเขี่ยแผลเล่น เพราะอาจทำให้แผลเปิดและฉีกขาด มีเลือดออกจากแผลในช่องปากได้ หากมีเลือดออกในช่องปากให้นอนยกศรีษะสูง ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือ Cold Pack บริเวณขากรรไกรและคอ
9. การสังเกตภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการรุนแรงควรมาพบทันตแพทย์ก่อนวันนัดหมายได้

 

ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

– อาจมีอาการชาบริเวณเหงือกด้านบนหรือด้านล่าง หรือบริเวณริมฝีปากหรือคางได้ เนื่องจากอาจมีการกระทบกระเทือนบริเวณเส้นประสาทสัมผัสที่มาเลี้ยงบริเวณดังกล่าวจากการผ่าตัด
– การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด (พบได้น้อย)
– อาการปวดแผลหลังผ่าตัด อาจปวดหรือเจ็บรอบปากหลังผ่าตัด เนื่องจากเนื้อเยื่อของช่องปาก อาจสัมผัสกับลวดหรือเครื่องมือที่อยู่บริเวณฟันและเหงือกได้
– ภาวะเลือดออกมากผิดปกติหลังผ่าตัด (พบได้น้อย)
– กระดูกขากรรไกรบนตายจากการขาดเลือดมาเลี้ยง (พบได้น้อย)
– กระดูกขากรรไกรบนและล่างที่เลื่อนมาด้านหน้า เกิดการเลื่อนตัวไม่ยึดติดกัน เนื่องจากวัสดุที่ใช้ยึดกระดูกหลวมหรือเคลื่อน มักพบในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินมากๆ อาจทำให้รูปหน้าหรือการสบฟันผิดปกติไปจากเดิมที่ควรจะเป็น
– เวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาจมีสำลักขึ้นจมูกได้ จึงควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารอย่างช้าๆ และอย่างระมัดระวัง
– การผ่าตัดไม่เป็นไปตามแผนการรักษา

 

การนัดตรวจหลังออกจากโรงพยาบาล

ทันตแพทย์จะนัดมาดูแผลผ่าตัดทุก 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และหลังจากนั้นประมาณ 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด การผ่าตัดจะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น หลังเนื้อเยื่อของทางเดินหายใจยุบบวม ประมาณ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักกลับไปทำงานได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน แพทย์และทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาเพื่อประเมินผลการรักษาเป็นระยะๆ

ฟันตกกระ (Dental Fluorosis)

ฟันตกกระ (Dental Fluorosis)

คำจำกัดความและสาเหตุ

คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเนื่องจากการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินปกติเป็นระยะเวลานานช่วงระหว่างการสร้างฟัน ซึ่งฟลูออไรด์ที่ได้รับจะไปขัดขวางการสร้างชั้นเคลือบฟัน (enamel) ทำให้ผิวเคลือบฟันเกิดเป็นรูพรุน และแสดงออกมาเป็นบริเวณที่มีสีขาวขุ่น โดยผิวเคลือบฟันบริเวณดังกล่าวจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ เสี่ยงต่อการสูญเสียชั้นเคลือบฟันได้ง่าย
ภาวะฟันตกกระมักพบในพื้นที่ที่มีฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำสูง หรือพื้นที่ที่นำน้ำบาดาลมาใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงการให้ฟลูออไรด์เสริมแก่เด็กโดยที่ไม่ได้ประเมินถึงปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับจากน้ำดื่มอยู่แล้ว

 

ลักษณะทางคลินิก

ลักษณะทางคลินิกของฟันตกกระมีหลายระดับขึ้นอยู่กับความรุนแรง โดยกรณีที่เป็นน้อยๆ มักแสดงออกเป็นบริเวณสีขาวขุ่นแต่มีผิวเรียบเหมือนปกติ และเป็นเฉพาะบางตำแหน่งบนผิวฟัน หากมีความรุนแรงมากขึ้น ผิวเคลือบฟันจะมีความขรุขระและอาจมีสีน้ำตาล กรณีที่รุนแรงมากๆ อาจพบการสูญเสียชั้นเคลือบฟัน เนื่องจากเคลือบฟันที่เกิดการตกกระมีความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ ทำให้ส่งผลเสียต่อความสวยงาม รวมถึงอาจเกิดการผุได้ง่าย

การป้องกันและแก้ไข

สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟันตกกระ โดยควรประเมินปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มก่อน หากมีปริมาณฟลูออไรด์ในระดับสูงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ฟลูออไรด์ชนิดเม็ดเสริมอีก บางครั้งอาจจำเป็นต้องลดปริมาณฟลูออไรด์ โดยการต้องต้มน้ำก่อนนำมาใช้หรือใช้น้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ยาสีฟันที่เราใช้อยู่เป็นประจำจะมีฟลูออไรด์ผสมอยู่แล้ว ซึ่งเพียงพอต่อการช่วยป้องกันฟันผุในบุคคลทั่วไป
ในฟันที่เกิดการตกกระขึ้นมาแล้ว การแก้ไขจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง โดยกรณีที่ไม่รุนแรง เช่น ผิวฟันมีสีขาวขุ่นบ้างเล็กน้อย แต่มีผิวเรียบเหมือนฟันปกติ ไม่มีการสูญเสียชั้นเคลือบฟัน สามารถแก้ไขได้โดยการฟอกสีฟันเพื่อปรับให้ฟันมีสีขาวขึ้นใกล้เคียงกัน หรืออาจใช้วิธีการที่เรียกว่า microabrasion ขัดเอาเฉพาะผิวฟันส่วนบนที่มีสีขาวขุ่นนั้นออกไป หรือการใช้สารที่ส่งเสริมการคืนกลับของแร่ธาตุเข้าสู่ผิวฟัน เช่น CPP – ACP ทาที่ผิวฟัน ซึ่งจะช่วยให้รอยขุ่นขาวน้อยลงได้
แต่ถ้าภาวะการตกกระรุนแรงมากจนไม่สามารถแก้ไขโดยวิธีข้างต้นได้ อาจแก้ไขโดยการบูรณะฟันด้วยวัสดุบูรณะสีเหมือนฟัน กรณีฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม อาจบูรณะด้วยการเคลือบฟันเทียม (veneer) แต่ถ้าเกิดการสูญเสียชั้นเคลือบฟันในบริเวณกว้าง หรือชั้นเคลือบฟันมีความอ่อนแอมาก ควรได้รับการบูรณะด้วยการทำครอบฟัน

 

การรักษา
กรณีรุนแรงน้อย สามารถใช้สารที่ช่วยส่งเสริมการคืนกลับของแร่ธาตุทาที่ผิวฟันจะช่วยให้รอยขาวขุ่นที่ผิวฟันน้อยลงได้หรือใช้การฟอกสีฟัน

กรณีรุนแรงมาก แก้ไขด้วยการบูรณะผิวฟันใหม่ โดยใช้วัสดุอุดสีเหมือนฟัน หรือการทำวีเนียร์ แต่ถ้ากรณีสูญเสียผิวเคลือบฟันไปมาก อาจต้องทำครอบฟัน

ที่มาของภาพ : www.prohomine-dental-aid.org
: www.ammondmd.com

อ.ทพ. นัฑวิชญ์ นิยมสุจริต

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์