INTRANET

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

โรงเรียนเทคโนโลยีทันตกรรม

โรงเรียนเทคโนโลยีทันตกรรม

ประวัติโรงเรียนเทคโนโลยีทันตกรรม

โรงเรียนช่างทันตกรรม จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2514 ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ อิศระ ยุกตนันท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะนั้นมอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิงเพ็ญศรี สุทธิสารสุนทร หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ เสนอ “หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม” กำหนดให้เป็นการศึกษา ระดับอุดมศึกษาซึ่งใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปี ต่อจากประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ หรือเทียบเท่า หรือต่อจากโรงเรียนการช่างในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเทียบเท่าประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยได้รับความช่วยเหลือจากแผน โคลัมโบผ่านรัฐบาลสหราชอาณาจักร และได้รับความร่วมมือจากภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์  คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ เพื่อนำเสนอสภาการศึกษาแห่งชาติ เมื่อผ่านการพิจารณาจากสภาการศึกษาแห่งชาติ และได้รับการรับรองวุฒิจาก ก.พ. แล้วโรงเรียนช่างทันตกรรมจึงเริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ.2515 โรงเรียนได้รับความร่วมมือด้านการดำเนินการเรียน การสอนจากภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาทันตกรรมชุมชน หน่วยโสตทัศนศึกษา คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กองฟิสิกส์และวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน

จนกระทั่งปี พ.ศ.2522 ความต้องการบุคลากรช่างทันตกรรมจากกระทรวงสาธารณสุขสิ้นสุดลง โรงเรียนช่างทันตกรรมจึงงดรับนักศึกษาเป็นการชั่วคราว ต่อมาในปี พ.ศ.2532  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง จุไร  นาคะปักษิณ หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ในขณะนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตช่างทันตกรรม  จึงได้นำเสนอโครงการผลิตช่างทันตกรรมใหม่ตามลำดับขั้น จนคณะรัฐมนตรีมีมติให้โรงเรียนช่างทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนหลักสูตรช่างทันตกรรมอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2533 เพื่อสนองนโยบายและความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินต่อเนื่อง ตลอดจนรับร่างนโยบายเพิ่มหลักสูตรต่อเนื่องให้ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม สามารถเรียนต่อจนจบปริญญาตรีได้  เป็นการผลิตช่างทันตกรรมที่มีวุฒิเพื่อทำงานในหน่วยทันตกรรมในประเทศทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนงานทันตสาธารณสุขของประเทศ ต่อมาโรงเรียนงดรับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่าง   ทันตกรรมเป็นการชั่วคราวในปีการศึกษา 2549 เพื่อปรับปรุงหลักสูตร และเปิดรับนักศึกษาใหม่อีกครั้งในปีการศึกษา 2551 จนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ.2538 รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์เบ็ญจพจน์ ยศเนืองนิตย์ หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ และประธานคณะกรรมการโรงเรียนช่างทันตกรรม เสนอร่างหลักสูตร เทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม (ต่อเนื่อง 2 ปี) เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี ได้รับการพิจารณาอนุมัติ จากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดลครั้งที่ 286 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 คณะกรรมการพิจารณา กลั่นกรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนะให้ใช้ชื่อ “โรงเรียนเทคโนโลยีทันตกรรม” แทน “โรงเรียนช่างทันตกรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับภาระกิจ ของโรงเรียนซึ่งเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง 2 ปี) แล้ว ทบวงมหาวิทยาลัย ได้พิจารณารับทราบให้ความเห็นชอบหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2541 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2541 และสำนักงาน กพ. มีมติรับรองและรับทราบคุณวุฒิปริญญา อาจบรรจุได้ในอัตราเงินเดือนไม่สูงกว่า ท.3 (หนังสือที่ นร.0708.8/1484 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ในปีการศึกษา 2541 ได้ดำเนินการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก และมีผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรี ชื่อ เทคโนโลยีบัณฑิต (เทคโนโลยีทันตกรรม) ชื่อย่อ ทล.บ. (เทคโนโลยีทันตกรรม) จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกจำนวน 8 คน ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันพฤหัสบดีที่  6  กรกฎาคม  2543     ณ อาคารใหม่สวนอัมพร

ต่อมาในปีการศึกษา 2553  โรงเรียนงดรับนักศึกษา หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต  สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม (ต่อเนื่อง 2 ปี) ชั่วคราว เนื่องจากคณะฯ ดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๕๐ พรรษา และเปิดรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2554  กระทั่งปีการศึกษา 2555  โรงเรียนได้งดรับนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม (ต่อเนื่อง 2 ปี) อีกครั้งหนึ่ง เพื่อปรับปรุงหลักสูตรตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558

ปีการศึกษา 2561 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขออนุมัติปิดหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม (ต่อเนื่อง 2 ปี) เนื่องจากไม่สามารถปรับปรุงหลักสูตรได้ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558 สรุปรวมมีผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม (ต่อเนื่อง 2 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 8 รุ่น 71 คน

ปัจจุบันมีหลักสูตรที่โรงเรียนเทคโนโลยีทันตกรรมดำเนินการเรียนการสอน จำนวน 1 หลักสูตร คือ

หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม

รับนักศึกษาปีละประมาณ 15-20 คน  ใช้เวลาในการศึกษาตลอดหลักสูตร 2 ปี  แต่ไม่เกิน 4 ปี  โดยมีโครงสร้างหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2551 ดังนี้

หมวดวิชาศึกษาทั่วไป      19        หน่วยกิต

หมวดวิชาเฉพาะ             56        หน่วยกิต

หมวดวิชาเลือกเสรี          2          หน่วยกิต

รวม       77        หน่วยกิต   

ผู้สำเร็จการศึกษา จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม สามารถบรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานของ กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนในตำแหน่งช่างทันตกรรม หรือประกอบอาชีพอิสระ

ในปีการศึกษา 2551 โรงเรียนเทคโนโลยีทันตกรรมได้รับนักศึกษาชาวกัมพูชาจากโครงการผลิตทันตบุคลากรให้แก่โรงเรียนพระราชทาน และโรงเรียนในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม จำนวน 1 คน ปีการศึกษา 2553 จำนวน 1 คน และมีนโยบายรับต่อเนื่องเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนได้รับนักศึกษาชาวลาว 1 คน จากโครงการความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมพันธกิจการศึกษา การวิจัย และพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ ในประเทศเครือข่ายความร่วมมือทางทันตแพทย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IDCMR) เข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม


ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 35 รุ่น จำนวน 470 คน