Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

การเตรียมลูกไปพบทันตแพทย์ครั้งแรก

การเตรียมลูกไปพบทันตแพทย์ครั้งแรก

เด็กส่วนใหญ่เมื่อไปพบทันตแพทย์ครั้งแรก มักจะมีความกลัวและวิตกกังวลในการรักษา คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมตัวลูกเพื่อไปพบทันตแพทย์ได้หลายวิธี ได้แก่

 

1. เล่านิทานเกี่ยวกับการทำฟันและดูวิดีโอเกี่ยวกับการทำฟัน คุณพ่อคุณแม่อาจเล่านิทานที่เกี่ยวข้องกับการทำฟันของเด็ก เช่น นิทานเรื่องลูกหมูมาทำฟัน เพื่อเสริมความเข้าใจบทบาทของทันตแพทย์ หรือ ดูวิดีโอให้ความรู้ว่าในวันแรกทันตแพทย์จะทำอะไร ซึ่งมักเป็นงานง่ายๆ เช่น การตรวจฟัน ทำให้เด็กมีความคุ้นเคยกับการทำฟัน

 

2. เล่นบทบาทสมมติ เตรียมตัวก่อนเจอสถานการณ์จริง คุณพ่อคุณแม่เล่นเป็นทันตแพทย์ ให้ลูกเล่นเป็นคนไข้ หรือกลับบทบาทกัน ซักซ้อมก่อนว่ามีขั้นตอนอะไรบ้างในการมาตรวจฟันครั้งแรก เล่าสถานการณ์ที่ลูกจะต้องเจอ พอมาพบทันตแพทย์จริงลูกจะเข้าใจว่ากำลังทำอะไรและเขาควรทำตัวอย่างไร จะช่วยลดความกลัวได้

 

3. ให้ดูตัวอย่างที่ดี พาลูกไปพบทันตแพทย์พร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ หรือพี่ที่เคยทำฟันแล้วร่วมมือดี ให้ลูกดูตัวอย่างว่าทำฟันอย่างไร โดยวันที่เลือกไปดูนั้น ควรเป็นการรักษาที่ง่ายๆ เช่น ตรวจฟัน เพื่อให้เกิดการเลียนแบบตัวอย่างที่ดี

 

4. บอกความจริง อย่าโกหกลูก อย่าโกหกหลอกลวงลูก ให้พูดตามความจริง อย่าหลอกว่าจะพาไปที่อื่น แต่จริงๆ พามาทำฟันจะทำให้ลูกต่อต้านมากขึ้น

 

5. สร้างทัศนคติที่ดีต่อการไปพบทันตแพทย์ ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันตั้งแต่ยังไม่มีฟันผุ หรืออาการเจ็บปวด ย่อมได้รับความร่วมมือและความทรงจำที่ดีกว่า เพราะการไปตรวจฟันเป็นประจำ ลูกจะมีฟันที่ต้องอุดน้อยกว่า หากลูกมาพบทันตแพทย์ครั้งแรกตอนที่ปวดฟันมา หรือมีฟันผุมากๆ การรักษาจะยุ่งยากซับซ้อน และใช้เวลาการรักษานาน จะทำให้เด็กมีความทรงจำที่ไม่ดีต่อการทำฟันและฝังใจได้ ต่อไปเด็กก็จะไม่ให้ความร่วมมือในการทำฟัน

 

6. อย่าขู่ลูกจนกลัวการมาพบทันตแพทย์ หลีกเลี่ยงการใช้คำที่น่ากลัว (เช่น ฉีดยา ถอนฟัน เจ็บ) หรือใช้ทันตแพทย์มาขู่ลูก ให้ใช้คำอื่นแทน แต่ทำให้ทันตแพทย์เป็นเหมือนฮีโร่ที่จะมาช่วยให้ฟันของลูกดี ไม่ใช่ให้ทันตแพทย์เป็นผู้ร้ายที่จะมาทำให้ลูกเจ็บ อาจตั้งบทบาทของทันตแพทย์เป็นเพื่อนที่จะมาคอยแนะนำให้ลูกแปรงฟัน หรือเป็นคุณครูที่จะมาสอนให้ลูกแปรงฟันให้เก่ง

 

7. ให้ลูกคุ้นเคยกับการแปรงฟัน การแปรงฟันให้ลูกทุกวัน จะสร้างความคุ้นเคยกับการตรวจในช่องปาก โดยอาจให้ซ้อมอ้าปากกว้างค้างไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ดูฟัน พอลูกมาทำฟันจริงก็จะยอมอ้าปากให้ตรวจฟันได้ง่าย

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook page : มหิดลรักฟันน้ำนม

อ.ทพญ.อภิชญา มโนเพ็ชรเกษม

ภาควิชาทันตกรรมเด็ก

ฟัน(น้ำนม) ผุ

ฟัน(น้ำนม) ผุ

ปัญหาฟันน้ำนมผุเกิดจากอะไร ?

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฟันน้ำนมผุ มาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว การปล่อยให้เด็กนอนหลับคาขวดนม ทำให้น้ำตาลที่อยู่ในนม สามารถเข้าไปทำลายเคลือบฟันของเด็กได้ เพราะคราบจุลินทรีย์จะย่อยน้ำตาลในนมที่ค้างอยู่บนผิวฟัน ทำให้เกิดการสะสมของกรด ละลายผิวฟันเป็นรู นอกจากเรื่องขวดนมแล้ว ปัญหาฟันน้ำนมผุ ยังอาจเกิดได้จากโครงสร้างของฟันเด็กที่ไม่สมบูรณ์ อาจเป็นเพราะคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย แม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กยุคนี้ฟันผุง่ายก็คือ การรับประทานขนมตามใจชอบ แล้วไม่ยอมแปรงฟันนั่นเอง  อีกทั้งผู้ปกครองหลายคนมักมีความเชื่อผิดๆ ว่า เดี๋ยวฟันน้ำนมก็ต้องหลุดไป มีฟันแท้มาแทนที่ จึงไม่ได้ใส่ใจการรับประทานขนมและการแปรงฟันของลูกมากนัก และลูกก็ยังไม่สามารถทำความสะอาดฟันอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้ฟันผุได้ง่ายนั่นเอง

 

ฟันน้ำนมผุได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ?

ปัญหาฟันน้ำนมผุหรือฟันผุในวัยเด็ก สามารถเกิดได้ตั้งแต่เด็กมีฟันขึ้นในช่องปาก ซึ่งก็คืออายุประมาณ 6 เดือน  เนื่องจากชั้นเคลือบฟันน้ำนมหนาประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้เท่านั้น ทำให้ฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่ามาก และยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เป็นองค์ประกอบน้อยกว่าอีก โดยฟันน้ำนมซี่หน้าบนจะผุได้ง่ายกว่าฟันหน้าล่าง รวมทั้งอีกจุดที่ผุง่ายก็คือ ฟันกรามด้านบดเคี้ยว เพราะเป็นซี่ใน ขนมหวานมักติดค้างอยู่ในร่องฟัน จึงทำความสะอาดได้ยากนั่นเอง

รู้จัก 3 ระยะ ของโรคฟันผุ

  1. ฟันผุในระยะแรก จะพบลักษณะรอยโรคขุ่นขาวบริเวณเคลือบฟันหรือหลุมร่องฟัน ซึ่งจะยังไม่แสดงอาการ
  2. ฟันผุที่ชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน จะมีการแตกหักของเนื้อฟันจนเกิดรอยผุเป็นรูบนตัวฟัน เด็กจะเริ่มมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน เวลาเศษอาหารติด
  3. ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน จะมีอาการปวดฟัน ประสาทฟันอักเสบร่วมกับการอักเสบของเหงือกและอวัยวะรอบๆ ฟัน

การรักษาฟันน้ำนมผุ

หากลูกมีฟันผุระยะแรกเริ่ม คุณหมอจะให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารและการทำความสะอาดหรือเคลือบหลุมร่องฟัน คุณหมอจะทำการอุดฟันหรือครอบฟันในฟันที่ผุถึงชั้นเนื้อฟัน แต่หากฟันผุทะลุเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน คุณหมอจะต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน หรือถอนฟันแทน แต่สำหรับกรณีที่ฟันผุยังไม่ได้ทำลายรากฟัน และกระดูกเบ้าฟันไปมาก คุณหมอจะแนะนำให้เก็บรักษาฟันน้ำนมไว้ใช้งาน รอจนฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่ การอุดฟันที่ผุลึกมาก การถอนฟัน หรือการรักษารากฟัน คุณหมอจะใช้ยาชา เพื่อไม่ให้เด็กๆ รู้สึกเจ็บปวดจนทนไม่ไหว

 

วิธีป้องกันไม่ให้ฟันน้ำนมผุ

– ฝึกให้เด็กทารกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม
– สอนให้เด็กใช้แก้วน้ำแทนขวดนมและฝึกดูดจากหลอด ตั้งแต่อายุ 6 – 12 เดือน และควรเลิกใช้ขวดนม เมื่ออายุ 1 ปี ไปแล้ว
– ฝึกนิสัยไม่ให้ลูกทานขนมจุบจิบ อาหารรสหวาน เพราะเป็นสาเหตุของฟันผุ หากลูกอยากรับประทานให้รับประทานในมื้ออาหาร
– เลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ไม่เติมน้ำตาลและไม่ทำให้ฟันผุ เช่น นมจืด ผลไม้ แซนวิสทูน่า ปลาเส้น เป็นต้น
– ให้ลูกบ้วนปากหลังดื่มนม รับประทานขนม หรือหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
– แปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง เวลาเช้า – ก่อนนอน
– เมื่อลูกอายุ 4 ขวบ ฝึกให้ลูกแปรงฟันอย่างถูกวิธี และช่วยแปรงซ้ำเป็นประจำ
– พาลูกไปพบทันตแพทย์ ตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อจะได้รับความรู้และแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างถูกต้อง

อ.ทพญ. วรณัน ประพันธ์ศิลป์

ภาควิชาทันตกรรมเด็ก