เพื่อให้การทดลองในห้องปฏิบัติการวิจัย ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย และเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่ในห้องปฏิบัติการทุกคน ทุกคนปฏิบัติตามระเบียบการใช้ห้องปฏิบัติการวิจัยดังต่อไปนี้
1.สวมเสื้อคลุมปฏิบัติการและแว่นนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ หากไว้ผมยาวต้องรวบผมให้เรียบร้อยขณะทำปฏิบัติการและห้ามวางสิ่งของไม่จำเป็นภายในห้องปฏิบัติการ
2.ห้ามเล่นและห้ามรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ห้ามพาเด็กและสัตว์เลี้ยง หรือสูบบุหรี่ในห้องปฏิบัติการ
3.ห้ามทำการทดลองใดๆ นอกเหนือจากที่ได้มอบหมาย หรือไม่มีผู้ควบคุม
4.เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด ให้รายงานผู้ควบคุมทราบทันที
5.เมื่อใช้ปิเปตดูดสารละลาย ห้ามใช้ปากดูด และไม่ใช้เครื่องมือผิดประเภท
6.ใช้เครื่องแก้วด้วยความระมัดระวัง เมื่อทำเครื่องแก้วแตกต้องเก็บกวาดให้เรียบร้อย
7.ห้ามทิ้งสารเคมีใดๆ ลงในถังขยะ สารเคมีที่ละลายในน้ำได้ให้ละลายในน้ำแล้วเทลงอ่างน้ำทิ้ง สารที่ไม่ละลายในน้ำ ให้เทรวมกันในภาชนะที่เตรียมไว้
8. ก่อนใช้สารเคมีชนิดใดก็ตาม ให้อ่านฉลากชื่อสารให้แน่ใจเสียก่อน
9.ห้ามยกขวดหรือภาชนะใส่สารเคมีส่วนกลางไปใช้ที่โต๊ะ
10.สารเคมีที่ใช้ไม่หมด ไม่ควรใส่กลับลงในขวดเก็บสารนั้นอีก
11.ไม่ใช้ปิเปตหรือหลอดหยดที่ใช้แล้วดูดสารละลายจากขวดที่ต้องใช้ร่วมกันกับผู้อื่นหรือจากขวดที่มีหลอดหยดอยู่แล้ว เนื่องจากจะเกิดการปนเปื้อน
12. ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับ กรดเข้มข้น หรือแอมโมเนียให้ทำการทดลองในตู้ดูดควันเสมอ
13. ผู้ปฏิบัติงานต้องจัดวางเครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้งานบนโต๊ะให้เรียบร้อย
14. ผู้ปฏิบัติงานจัดทำป้ายแจ้งกิจกรรมที่กำลังปฏิบัติการ
15. รักษาความสะอาดเรียบร้อยในห้องปฏิบัติการ เมื่อทำการทดลองเสร็จสิ้นแล้ว ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดโต๊ะ ให้สะอาด ถ้าทำสารเคมีหกบนโต๊ะหรือบนพื้น ให้ทำความสะอาดทันที และล้างมือทุกครั้งก่อนออกจากห้องปฏิบัติการ
ความปลอดภัย เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการวิจัย ดังนั้นจึงต้องมีการจัดทำระบบความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน ป้องกันการสูญเสียทรัพย์สิน ตลอดจนชื่อเสียงขององค์กร เป็นต้น
การเกิดอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นเมื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดพลาดไปหรือผู้ปฏิบัติงานมีความประมาทละเลยเรื่องความปลอดภัย ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานทุกคนก่อนจะทำการใดๆ ในห้องปฏิบัติการ จึงจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลของงาน เพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันอันตรายและต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะการทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เพราะนอกจากอันตรายทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้ และการทำงานบางอย่างที่มีลักษณะเฉพาะด้าน ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทุกคน ต้องเพิ่มความระมัดระวังไม่ประมาทเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมี มีหลายรูปแบบตั้งแต่อันตรายน้อยไปจนถึงอันตรายรุนแรง ได้แก่ สารไวไฟ สารระเบิด สารออกซิไดส์ สารกัดกร่อน สารระคายเคือง สารพิษ สารกัมมันตรังสี สารก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ ดังนั้น จึงต้องทำงานกับสารเคมีด้วยความเอาใจใส่ และคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรกเสมอ
สารเคมีเข้าสู่ร่างกายได้ 4 ทาง คือ การสูดดม การผ่านเข้าตา ปาก การซึมผ่านผิวหนังหรือรอยบาดแผล และการทิ่มแทงของเครื่องแก้วแตก หรือของมีคมอื่นๆ ที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยเฉพาะเมื่อต้องการใช้สารเคมี เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายควรช่วยกันลดไอของสารเคมีในบรรยากาศของห้องปฏิบัติการ เช่น การใช้สารเคมีในปริมาณที่เหมาะสมเท่าที่ต้องการใช้และควรปิดฝาขวด หรือภาชนะให้สนิททันที อย่าปล่อยสารเคมีไว้ในภาชนะเปิด ถ้ามีสารที่มีพิษสูง ต้องทำในตู้ดูดควัน และต้องระมัดระวังอย่าให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน
ดังนั้นความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องเรียนรู้กฏระเบียบการใช้ห้องปฏิบัติการวิจัยอย่างปลอดภัย และปฏิบัติตามกฏระเบียบที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
ศึกษาแผนผังของห้องปฏิบัติการ เพื่อให้รู้ตำแหน่งที่ตั้งของอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ได้แก่ สัญญาณเตือนภัย เครื่องดับเพลิง ฝักบัวฉุกเฉิน อ่างล้างตาฉุกเฉิน และชุดปฐมพยาบาล รวมทั้งต้องรู้วัตถุประสงค์และทำความเข้าใจวิธีการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อได้ยินสัญญาณเตือนไฟ ควรปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ปฏิบัติงานอยู่ให้เรียบร้อย แล้วรีบลงจากอาคาร
ต้องรู้เส้นทางที่สั้นที่สุดที่สามารถออกสู่ภายนอกอาคารจากห้องปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว และควรศึกษาหาทางออกจากห้องปฏิบัติการอย่างน้อย 2 ทาง เพื่อเตรียมไว้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ถ้าจำเป็นต้องอพยพผู้คนออกจากอาคารให้ปิด และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังใช้อยู่เดินลงทางบันได ห้ามใช้ลิฟต์ ควบคุมสติระหว่างการอพยพ ควรเดินเร็วแต่ห้ามวิ่ง
ห้ามสวมรองเท้าแตะหรือรองเท้าเปิดด้านหน้าและเปิดส้น ควรสวมรองเท้าส้นเตี้ยที่หุ้มเท้าโดยรอบเพื่อป้องกัน สารเคมีที่บังเอิญหกรดไม่ให้ถูกเท้าโดยทันที
แต่งกายให้เหมาะสม อย่าสวมเสื้อที่รัดรูปหรือหลวมจนเกินไป ไม่ควรสวมเครื่องประดับหรือผูกเน็คไท ให้รวบและผูกผมยาวไว้หลังศีรษะ เพื่อป้องกันการเกี่ยวหรือเหนี่ยวรั้วสิ่งของต่างๆ ขณะทำการทดลอง ซึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ให้นำเอาเฉพาะสิ่งของจำเป็นเข้ามาในห้องปฏิบัติการ ได้แก่ หนังสือ สมุดจดบันทึกหรือสมุดเขียนรายงาน และเครื่องเขียน เป็นต้น กระเป๋าและสิ่งของอื่นๆ ควรเก็บไว้ในล็อกเกอร์หรือบริเวณที่จัดไว้ให้สำหรับวางของหน้าห้องปฏิบัติการ
เมื่อเข้ามาในห้องปฏิบัติการต้องสำรวม อย่าจับอุปกรณ์ เครื่องมือและสารเคมีใดๆ จนกระทั่งให้เริ่มทำการทดลองได้
อย่าหยอกล้อหรือวิ่งเล่นในห้องปฏิบัติการ เพราะอาจเกี่ยวหรือแกว่งถูกภาชนะบรรจุสารเคมีตกแตก
อย่ารับประทานอาหารและของคบเคี้ยวต่างๆ หรือเครื่องดื่มในห้องปฏิบัติการ
อย่าสูดดม และสัมผัสสารเคมีโดยตรง
ห้ามทำการทดลองโดยลำพังในห้องปฏิบัติการ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุอาจจะอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถ้ามีความจำเป็นต้องทำการทดลองนอกเวลาที่กำหนดให้ขออนุญาตผู้ควบคุมปฏิบัติการหรือหัวหน้าห้องปฏิบัติการ เพื่อพิจารณาว่าสมควรทำหรือไม่ หากทำได้ จะได้รับคำแนะนำว่าต้องทำด้วยวิธีอย่างไรจึงจะปลอดภัยมากที่สุด
ควรล้างมือทุกครั้งหลังจากทำการทดลองแต่ละขั้นตอนเสร็จ และต้องล้างด้วยสบู่ให้สะอาดก่อนออกจากห้อง ปฏิบัติการ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมี ถึงแม้ว่าจะสวมถุงมือขณะทำการทดลองตลอดเวลา เมื่อถอดถุงมือออกแล้ว ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
– อ่านและศึกษาการทดลองก่อนเข้าห้องปฏิบัติการ เพื่อทราบวัตถุประสงค์ และเหตุผลของการทำการทดลองทุกขั้นตอนก่อนเริ่มทำ เพราะจะทำให้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร
– ศึกษาสมบัติกายภาพและอันตรายของสารเคมีทุกชนิดที่ใช้ในการทดลอง ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลเหล่านี้ได้
ข้อมูล MSDS จากการดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ www.chemtrack.org
– หลักการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ไม่รับประทานอาหารและดื่มน้ำในห้องปฏิบัติการ ไม่ทำปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการวิจัยตามลำพัง ตลอดจนศึกษาคู่มือปฏิบัติการอย่างถี่ถ้วนก่อนเริ่มปฏิบัติการใดๆ
– ต้องสวมแว่นตานิรภัยตลอดเวลาที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อป้องกันสารเคมีหรือเศษแก้วแตกหรือสิ่งอื่นใด กระเด็นเข้าตา ไม่ควรใส่คอนแทกเลนส์ขณะทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการ เพราะเมื่อไอหรือสารเคมีเข้าตาจะถูกดูดเข้าไปใต้เลนส์ หากถอดคอนแทกเลนส์ออกและทำความสะอาดตาไม่ทันเวลา จะทำให้ตาเสียได้ ถ้าสารเคมีเข้าตาให้ล้างตาที่อ่างล้างตาฉุกเฉินทันที เป็นเวลานานอย่างน้อย 15 นาที โดยต้องเปิดตาให้กว้างและพลิกเปลือกตาด้านในออกขณะล้างตา ทุกคนจึงต้องรู้ตำแหน่งที่ตั้งและวิธีใช้อ่างล้างตาฉุกเฉิน ปกติแล้วต้องรีบล้างตาภายใน 15 วินาที หลังจากสารเคมีกระเด็นเข้าตา หากทำช้ากว่านี้ อาจทำให้สูญเสียตาได้
– ต้องสวมเสื้อคลุมปฏิบัติการตลอดเวลาที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อป้องกันสารเคมีที่หกหรือกระเด็น ไม่ให้สัมผัสกับร่างกายโดยตรง เมื่อสารเคมีสัมผัสกับผิวหน้า หรือหกรดมือหรือแขนเพียงเล็กน้อย ให้ล้างด้วยน้ำปริมาณมากอย่างรวดเร็วอาจใช้น้ำจากก๊อกน้ำ โดยปล่อยให้น้ำไหลชะล้างเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 นาที แต่ถ้าถูกขาหรือร่างกายเป็นบริเวณกว้าง ให้ถอดเสื้อที่เปื้อนสารเคมีออกอย่างรวดเร็วและซับหรือเช็ดสารเคมีตามร่างกายออกให้มากที่สุด แล้วจึงชำระล้างด้วยน้ำจากฝักบัวฉุกเฉิน ซึ่งจะปล่อยน้ำปริมาณมากในเวลาสั้น เพื่อชะล้างสารเคมีออกอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นให้รายงานการบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุต่อผู้ควบคุมปฏิบัติการหรือหัวหน้าห้องปฏิบัติการทราบทันที เพื่อดำเนินการตามวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
– ควรสวมถุงมือยางเมื่อต้องทำงานกับสารกัดกร่อน เป็นพิษ หรือระคายเคืองเป็นเวลานาน และล้างมือให้สะอาด ทุกครั้งเมื่อทำการทดลองเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำงานกับกรดและเบสแก่ อย่าให้ถูกผิวหนังเพราะจะทำให้ผิวหนังไหม้เกรียมได้ง่าย ถ้าเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง ต้องทำการทดลองในตู้ดูดควัน เพราะตู้ดูดควันจะดูดไอของสารและปล่อยออกนอกอาคารตลอดเวลา ถ้าไม่มีตู้ดูดควันให้ทำในบริเวณที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของไอของสารจนถึงขีดอันตราย
– ต้องตรวจสภาพของเครื่องแก้วทุกชิ้นก่อนนำไปใช้งานทุกครั้ง โดยยกเครื่องแก้วขึ้นดูด้วยการส่องกับแสงสว่าง และตรวจดูให้ทั่วเพื่อหารอยร้าว รอยบิ่น รอยแตก หรือลักษณะผิดปกติอื่นๆ ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้เครื่องแก้วแตกระหว่างทำการทดลองถ้าตรวจพบลักษณะผิดปกติของเครื่องแก้วให้เปลี่ยนทันที ไม่ควรนำไปใช้ให้ทิ้งเศษแก้วแตกและหลอด แคพิแลรีที่ใช้แล้วในภาชนะที่จัดไว้ ห้ามทิ้งเศษแก้วเหล่านี้ในถังขยะปกติ สำหรับเทอร์โมมิเตอร์ปรอทที่แตก จะต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะปรอทเป็นพิษและระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง ต้องรายงานให้ผู้ควบคุมปฏิบัติการหรือหัวหน้าห้องปฏิบัติการทราบ เพื่อกำจัดโดยทันที
– อ่านชื่อของสารเคมีที่ฉลากบนขวดให้แน่ใจว่าหยิบถูกต้องแล้ว ก่อนใช้สารเคมีและก่อนผสมสารเคมีใดๆ ต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งให้แน่ใจว่าหยิบสารเคมีมาถูกต้อง ห้ามใช้สารเคมีที่อยู่ในขวดหรือภาชนะอื่นที่ไม่มีฉลากบอกชื่อสารเคมี ให้ถ่ายเทสารเคมีมาใช้เพียงเล็กน้อยในปริมาณเท่าที่ต้องการ ส่วนเกินที่เหลือต้องกำจัดทิ้งตามคำแนะนำของผู้ควบคุมปฏิบัติการ หรือหัวหน้าห้องปฏิบัติการ ห้ามเทกลับคืนลงบรรจุขวดสารเพื่อป้องกันไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนในขวดบรรจุสาร ทุกครั้งที่ใช้รีเอเจนต์เสร็จแล้วต้องเช็ดรอบขวดภายนอกและปิดจุกหรือฝาให้เรียบร้อย
– ถ้าทำสารเคมีหกเลอะเล็กน้อย (น้อยกว่า 50 กรัม หรือ 50 มิลลิลิตร) บนพื้นห้องหรือบนโต๊ะปฏิบัติการจะต้องทำความสะอาดทันทีด้วยวิธีการที่ถูกต้อง แต่ถ้าทำหกปริมาณมาก (มากกว่า 50 กรัม หรือ 50 มิลลิลิตร) ให้รายงานผู้ควบคุมปฏิบัติการหรือหัวหน้าห้องปฏิบัติการทราบ ยกตัวอย่าง เช่น หากกระเปาะปรอทของเทอร์โมมิเตอร์แตกแล้ว หยดปรอทหลุดลอดออกมา ควรนำผงกำมะถันกลบก่อนเก็บอย่างถูกวิธี โดยนำใส่ถุงขยะสีขาวปิดปากถุงด้วยเชือกและนำไปทิ้งในถังขยะสารเคมีเพื่อรอกำจัดต่อไป
– เมื่อจะใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าควรตรวจสอบก่อนว่าสายไฟที่ต่อกับเครื่องมือไม่ชำรุด
– ในห้องปฏิบัติการต้องมีเครื่องดับเพลิงประจำห้องที่นิยมใช้ได้แก่ ประเภทคาร์บอนไดออกไซด์เหลว หรือผงเคมี เช่น โซเดียมไบคาร์บอเนต และแอมโมเนียมฟอสเฟต ผู้ปฏิบัติงานควรทราบตำแหน่งที่ตั้งและวิธีใช้เครื่องดับเพลิง
ในกรณีที่เกิดเพลิงลุกไหม้ในภาชนะ ให้ปิดหรือคลุมภาชนะนั้นทันทีด้วยภาชนะหรืออุปกรณ์อื่นใดที่อยู่ใกล้หรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดคลุมไฟทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม หากไฟลุกติดเสื้อผ้า ห้ามวิ่ง เพราะจะทำให้ไฟลุกมากขึ้น ให้นอนกลิ้งบนพื้นและคลุมด้วยผ้าห่มคลุมเพลิงหรือผ้าชุบน้ำ
– ทำงานในห้องปฏิบัติการด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องใช้ตัวทำละลายและสารเคมี-อินทรีย์ที่เป็นสารไวไฟและมีจุดวาบไฟต่ำ เช่น ไดเอทิลอีเทอร์ เพราะไอจะกระจายทั่วห้องได้อย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสเกิดไฟไหม้ได้ง่าย ไม่ควรนำตัวทำละลายที่ระเหยง่ายมาทำให้ร้อนโดยตั้งบนฮ๊อตเพลต (hot plate) หรือเตาไฟฟ้าโดยตรง เพราะถ้าตัวทำละลายหกหรือเดือดล้นออกมาจากภาชนะจะเกิดการลุกไหม้ได้ทันที
– กำจัดของเสียที่เกิดขึ้นตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในการทดลอง หลักเกณฑ์ทั่วไปคือ ของเสียที่เป็นสารละลายในน้ำ หรือในตัวทำละลายที่รวมเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ และมีปริมาณเล็กน้อย (3-10 มิลลิลิตร) ไม่มีเกลือโลหะหนัก สารประกอบ ไซยาไนด์ เกลือไนเทรต หรือสารอันตรายอื่นๆ ให้เทลงบ่อน้ำทิ้งได้เลยโดยต้องเปิดน้ำตามปริมาณมากเป็นเวลา 1-2 นาที สารละลายกรดและสารละลายเบสที่มีความเข้มข้นมากกว่า 10% ต้องทำให้เป็นกลางก่อน แล้วจึงเทลงท่อน้ำทิ้งและเปิดน้ำตามปริมาณมากได้ ของเสียบางอย่างต้องบำบัดก่อนเทลงท่อน้ำทิ้งซึ่งต้องศึกษาหาวิธีการไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่บางอย่างเทลงท่อน้ำทิ้งไม่ได้เลย เช่นตัวทำละลายอินทรีย์ที่มีแฮโลเจน สารละลายหรือของผสมที่มีเกลือของโลหะหนักหรือสารเป็นพิษให้เทในภาชนะที่จัดแยกไว้สำหรับเก็บของเสียแต่ละประเภท เพื่อรวบรวมและนำส่งไปกำจัดต่อไป
– ต้องล้างเครื่องแก้วให้สะอาด เพราะนอกจากเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการทดลองครั้งต่อไปแล้ว ยังเป็นการลดโอกาสการเกิดอันตรายจากปฏิกิริยารุนแรงที่อาจเกิดจากสารเคมีที่หลงเหลืออยู่ในเครื่องแก้วเหล่านั้น และควรเก็บเครื่องแก้วที่ล้างสะอาดแล้วและอุปกรณ์ต่างๆให้เรียบร้อย
– ต้องเช็ดโต๊ะปฏิบัติการให้สะอาดก่อนออกจากห้องปฏิบัติการ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสารเคมีใดตกค้างอยู่ อันอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่นที่จะมาทำการทดลองต่อไป
– ตรวจดูว่าได้ถอดปลั๊กไฟ ปิดวาล์วน้ำ และเก็บอุปกรณ์เครื่องมือทั้งหมดเข้าที่เรียบร้อย
ไฟไหม้
ไฟไหม้เป็นอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการเสมอ เมื่อมีการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือไม่ใช้หรือไม่ปล่อยให้มีไฟในห้องปฏิบัติการ การต้มตัวทำละลายอินทรีย์ต้องทำในอ่างน้ำร้อนเท่านั้น ห้ามทำให้ร้อนบนฮ็อตเพลตดดยตรง และไม่ควรปล่อยตัวทำละลายอินทรีย์ที่ระเหยง่ายไว้ในบีกเกอร์โดยไม่มีฝาปิด เพราะไอของตัวทำละลายจะแผ่ปกคลุมไปตามโต๊ะปฏิบัติการ และเมื่อติดไฟแล้วจะลุกลามมาที่บีกเกอร์ต้นเหตุ ทำให้เกิดไฟไหม้รุนแรงได้
การระเบิด
การระเบิดมักเกิดจากการต้มสารเคมีหรือทำปฏิกิริยาใดๆ ในภาชนะที่เป็นระบบปิดมิดชิด ก่อนเริ่มกลั่นหรือเริ่มทำปฏิกิริยาต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ามีช่องทางระบายไอออกจากระบบแล้ว
สารเคมีหกรด
อุบัติเหตุเล็กๆที่เกิดขึ้นบ่อยมาก คือ ผิวหนังไหม้เกรียม สาเหตุอาจเกิดจากสารเคมีหกรดตามร่างกาย และการทำงานที่เกี่ยวกับความร้อน เนื่องจากสารเคมีหลายประเภท เช่น กรดและเบส เป็นต้น มีสมบัติกัดกร่อนต่อผิวหนัง จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง ถ้าหกเลอะบนพื้นโต๊ะปฏิบัติการหรือที่ใดก็ตาม จะต้องทำความสะอาดทันทีด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้อื่น ถ้าหกเลอะปริมาณมากต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการมาจัดการ เมื่อสัมผัสกับสารเคมีเพียงเล็กน้อยให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที แต่ถ้าหกรดตัวเป็นบริเวณกว้าง ให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออก และเช็ดหรือซับสารเคมีออกจากตัวอย่างรวดเร็ว แล้วจึงชำระล้างโดยใช้ที่ล้างตัวฉุกเฉินนานอย่างน้อย 15 นาที กรณีกรดเข้มข้นหกในห้องปฏิบัติการ ควรใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต เป็นตัวปรับสภาพกรดให้เป็นกลาง (Neutralizing agent) และต้องแจ้งให้ผู้ที่อยู่บริเวณนี้ทราบทันที และในกรณีที่ต้องทำงานกับความร้อน ต้องใช้ถุงมือกันความร้อนหรืออุปกรณ์สำหรับหยิบหรือจับของร้อน
เครื่องแก้วแตกแล้วบาด
อุบัติเหตุแก้วบาดที่เกิดบ่อยที่สุด คือ ระหว่างการใช้งานเครื่องแก้ว และเทอร์โมมิเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาสวมต่อเครื่องแก้วกับเครื่องแก้วอีกชิ้นหนึ่งหรือสายยาง วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ ต้องหล่อลื่นเครื่องแก้วโดยใช้น้ำหรือกรีส ทาบางๆที่ข้อต่อของเครื่องแก้ว หรือบริเวณที่จะสวมต่อกันให้ทั่ว จากนั้นต่ออุปกรณ์ตรงตำแหน่งห่างจากปลายตรงที่ต้องการสวมต่อกันประมาณ 1 นิ้ว แล้วสวมหรือสอดเข้าหากันโดยออกแรงดันเพียงเล็กน้อยพร้อมกับหมุนอุปกรณ์ช้าๆ เลื่อนตำแหน่งที่จับ แล้วทำซ้ำจนได้ระยะที่ต้องการ เมื่อทำงานเสร็จให้ถอดออกโดยค่อยๆ ขยับพร้อมกับหมุนช้าๆและออกแรงดึงเพียงเล็กน้อย หากปฏิบัติไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายรุนแรง เนื่องจากการทิ่มแทงของเครื่องแก้วแตก ซึ่งอาจทำให้เส้นประสาทและเส้นเอ็นขาดได้
การสูดดมไอของสารเคมี
สารเคมีทุกชนิดมีความดันไอค่าหนึ่ง ในห้องปฏิบัติการจึงมีกลิ่นไอของสารเคมีปะปนอยู่มากมาย ถ้าเก็บสารเคมีไว้ปริมาณมาก จะมีไอของสารเคมีในบรรยากาศมาก เมื่อสูดดมไอของสารเคมีบางชนิดจะทำให้จมูก คอ และปอดระคายเคือง ความเป็นอันตรายขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย จึงต้องหลีกเลี่ยงการสูดดมไอของสารเคมีโดยตรง ถ้าจำเป็นต้องทดสอบด้วยการสูดดม ให้ถือภาชนะบรรจุสารเคมีห่างจากตัวประมาณ 6 นิ้ว แล้วใช้มือโบกพัดไอเข้าหาจมูก ถ้าต้องการระเหยตัวทำละลายออกต้องทำในตู้ดูดควัน หรือทำโดยการกลั่นห้ามระเหยแห้งโดยการต้มในภาชนะเปิดที่โต๊ะปฏิบัติการ
สารเคมีเข้าปาก
สารเคมีเข้าปากมักเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ที่พบเห็นบ่อยมี 3 แบบ คือ การดูดสารเคมีเข้าปิเปตด้วยปาก ไม่ล้างมือเมื่อเปื้อนสารเคมี และการแอบกินลูกอมหรือของขบเคี้ยวในห้องปฏิบัติการ การป้องกันไม่ให้สารเคมีเข้าปากทำได้ง่ายๆ คือ ใช้ลูกยางหรืออุปกรณ์ดูดสารเคมีเข้าปิเปต ห้ามดูดด้วยปากโดยเด็ดขาด ล้างมือทุกครั้งเมื่อเปื้อนสารเคมี จะช่วยลดโอกาสปนเปื้อนของสารเคมีบนใบหน้า เนื่องจากเผลอเอามือป้ายหน้า หรือการปนเปื้อนของสารเคมีบนสิ่งของต่างๆที่หยิบ หรือจับต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องล้างมือให้สะอาดก่อนออกจากห้องปฏิบัติการ และก่อนรับประทานอาหาร นอกจากนี้แล้วยังมีข้อห้ามอื่นๆ ได้แก่ ห้ามนำเกลือ น้ำตาล แอลกฮอล์ ในห้องปฏิบัติการไปผสมหรือปรุงอาหาร ห้ามใช้เครื่องแก้วใดๆใส่อาหารและเครื่องดื่ม ห้ามแช่อาหารหรือเครื่องดื่มในตู้เย็นที่เก็บสารเคมีหรือตู้น้ำแข็ง และห้ามรับประทานน้ำแข็งจากตู้น้ำแข็งในห้องปฏิบัติการ
ตู้ดูดควัน
เมื่อต้องทำงานกับสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น สารไวไฟ สารพิษ และสารกัดกร่อน เป็นต้น จะต้องทำในตู้ดูดควัน ซึ่งได้ออกแบบให้ดูดเอาไอระเหยของสารเคมีต่างๆ ระหว่างทำการทดลองออกสู่ภายนอกห้องและอาคาร ควรจัดตั้งอุปกรณ์และชุดการทดลองให้ลึกเข้าไปในตู้ดูดควัน ห่างจากด้านหน้าประมาณ 6-10 นิ้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการดูดไอระเหยของตู้ดูดควัน เมื่อจะเริ่มทำปฏิกิริยาจะต้องดึงหน้าต่างกระจกของตู้ดูดควันทันทีที่สารเคมีกระเด็นเปื้อนและหลังจากใช้งานเสร็จทุกครั้ง แล้วดึงหน้าต่างกระจกลงมาให้อยู่เหนือพื้นประตูประมาณ 1-2 นิ้ว
เป็นอุปกรณ์ป้องกันผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยจากตัวอย่างที่อาจมีจุลชีพแพร่กระจายได้ โดยเฉพาะเชื้อที่ติดต่อได้ทางการหายใจ เป็นตู้ที่ดูดลมเข้าสู่ช่องด้านหน้า โดยไม่มีการย้อนกลับออกมา แต่ลมจะผ่านรูพรุนของ high efficiency particulate air (HEPA) filter ซึ่งกรองอนุภาคขนาดเล็กและเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ของลม กลายเป็นลมในแนวขนาน (laminar air) ก่อนปล่อยกลับสู่บริเวณภายในตัวตู้หรือออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยสรุป ตู้ชีวนิรภัย เป็นตู้ที่มีทิศทางการไหลของอากาศช่วยปกป้องผู้ปฏิบัติงาน เพื่อปกป้องสิ่งที่อยู่ในตู้ชีวนิรภัย ไม่ให้ปนเปื้อนและเพื่อป้องกันเชื้อจุลชีพที่อยู่ภายในตู้ไม่ให้ออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
อ่างล้างตาฉุกเฉิน
เมื่อสารเคมีกระเด็นเข้าตา ต้องรีบล้างตาทันทีภายใน 15 วินาที โดยใช้อ่างล้างตาฉุกเฉิน ต้องช่วยเปิดตาของผู้ประสบภัยให้กว้าง และกดปุ่ม “ผลัก” ที่อยู่ทางด้านขวามือ โดยผลักไปข้างหน้า หรือใช้เท้าเหยียบที่ฐานของอ่างล้างตาฉุกเฉินที่อ่างล้างตาฉุกเฉินเพื่อปล่อยให้น้ำพุ่งเข้าตาอย่างเต็มที่เป็นเวลานานประมาณ 15 นาที จากนั้นจึงรีบพาไปพบแพทย์
ที่ล้างตัวฉุกเฉิน
เมื่อสารเคมีหกรดตามร่างกายเป็นบริเวณกว้าง ให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออก และเช็ดหรือซับสารเคมีออกให้มากที่สุดอย่างรวดเร็วภายใน 15 วินาที แล้วชำระล้างสารเคมีออกจากร่างกายโดยใช้ที่ล้างตัวฉุกเฉิน เปิดน้ำให้ไหล พุ่งลงมาโดยดึงคันโยกลงมา เนื่องจากคันโยกอยู่เหนือศีรษะ และล้างตัวเป็นเวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นรีบพาไปพบแพทย์
เครื่องดับเพลิง
เครื่องดับเพลิงเป็นอุปกรณ์สำหรับดับไฟที่เริ่มก่อตัวขึ้น ซึ่งยังเป็นไฟไหม้ขนาดเล็ก เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามต่อไป ในถังดับเพลิงจะมีน้ำยาดับเพลิงเพียงพอสำหรับดับเพลิงในเวลาสั้นๆ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ หรือผู้เกี่ยวข้องควรได้รับการฝึกฝนการใช้เครื่องดับเพลิง เพื่อจะได้มีความสามารถในการดับเพลิงอย่างทันท่วงที
สัญญาณเตือนภัย
เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือพบเห็นอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นอันตรายมากและไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้ ต้องส่งสัญญาณเตือนภัยทันที โดยดึงสลักลง หลังจากนั้นต้องรีบออกจากห้องปฏิบัติการและอาคารไปยังจุดรวมพล
อุปกรณ์ปฐมพยาบาล
ใช้ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aids Kits) เมื่อได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น ของมีคมบาด แผลถลอก น้ำร้อนลวก และผิวหนังไหม้เกรียม เป็นต้น อุปกรณ์ปฐมพยาบาล ประกอบด้วย น้ำยาเช็ดแผล น้ำยาล้างแผล น้ำยาฆ่าเชื้อ พลาสเตอร์ยา ผ้าพันแผล เทปกาว เจลทาผิวหนังไหม้เกรียมหรือน้ำร้อนลวก สำลี ถุงมือแพทย์ คีมคีบและกรรไกร เป็นต้น
กรณี น้ำยามีพิษหก/ตกแตกปนเปื้อน จะใช้ชุด Biological Spill Kits ในการกำจัดน้ำยามีพิษหก/ตกแตกปนเปื้อนตามคู่มือการใช้งาน
กรณี สารเคมีอันตราย เช่น กรด/ด่าง เข้มข้น หก/ตกแตกปนเปื้อน จะใช้ชุด Chemical Spill Kits ในการกำจัดสารเคมีอันตรายหก/ตกแตกในห้องปฏิบัติการวิจัยตามคู่มือการใช้งาน
กรณีน้ำยามีพิษหก/ตกแตกปนเปื้อน (Biological Spill)
เลขที่ 888 ม.6 ถ.บรมราชชนนี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
เบอร์ตรง 0-2849-6600