INTRANET

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ฟันตกกระ (Dental Fluorosis)

ฟันตกกระ (Dental Fluorosis)

คำจำกัดความและสาเหตุ

คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเนื่องจากการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินปกติเป็นระยะเวลานานช่วงระหว่างการสร้างฟัน ซึ่งฟลูออไรด์ที่ได้รับจะไปขัดขวางการสร้างชั้นเคลือบฟัน (enamel) ทำให้ผิวเคลือบฟันเกิดเป็นรูพรุน และแสดงออกมาเป็นบริเวณที่มีสีขาวขุ่น โดยผิวเคลือบฟันบริเวณดังกล่าวจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ เสี่ยงต่อการสูญเสียชั้นเคลือบฟันได้ง่าย
ภาวะฟันตกกระมักพบในพื้นที่ที่มีฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำสูง หรือพื้นที่ที่นำน้ำบาดาลมาใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงการให้ฟลูออไรด์เสริมแก่เด็กโดยที่ไม่ได้ประเมินถึงปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับจากน้ำดื่มอยู่แล้ว

 

ลักษณะทางคลินิก

ลักษณะทางคลินิกของฟันตกกระมีหลายระดับขึ้นอยู่กับความรุนแรง โดยกรณีที่เป็นน้อยๆ มักแสดงออกเป็นบริเวณสีขาวขุ่นแต่มีผิวเรียบเหมือนปกติ และเป็นเฉพาะบางตำแหน่งบนผิวฟัน หากมีความรุนแรงมากขึ้น ผิวเคลือบฟันจะมีความขรุขระและอาจมีสีน้ำตาล กรณีที่รุนแรงมากๆ อาจพบการสูญเสียชั้นเคลือบฟัน เนื่องจากเคลือบฟันที่เกิดการตกกระมีความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ ทำให้ส่งผลเสียต่อความสวยงาม รวมถึงอาจเกิดการผุได้ง่าย

การป้องกันและแก้ไข

สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟันตกกระ โดยควรประเมินปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มก่อน หากมีปริมาณฟลูออไรด์ในระดับสูงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ฟลูออไรด์ชนิดเม็ดเสริมอีก บางครั้งอาจจำเป็นต้องลดปริมาณฟลูออไรด์ โดยการต้องต้มน้ำก่อนนำมาใช้หรือใช้น้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ยาสีฟันที่เราใช้อยู่เป็นประจำจะมีฟลูออไรด์ผสมอยู่แล้ว ซึ่งเพียงพอต่อการช่วยป้องกันฟันผุในบุคคลทั่วไป
ในฟันที่เกิดการตกกระขึ้นมาแล้ว การแก้ไขจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง โดยกรณีที่ไม่รุนแรง เช่น ผิวฟันมีสีขาวขุ่นบ้างเล็กน้อย แต่มีผิวเรียบเหมือนฟันปกติ ไม่มีการสูญเสียชั้นเคลือบฟัน สามารถแก้ไขได้โดยการฟอกสีฟันเพื่อปรับให้ฟันมีสีขาวขึ้นใกล้เคียงกัน หรืออาจใช้วิธีการที่เรียกว่า microabrasion ขัดเอาเฉพาะผิวฟันส่วนบนที่มีสีขาวขุ่นนั้นออกไป หรือการใช้สารที่ส่งเสริมการคืนกลับของแร่ธาตุเข้าสู่ผิวฟัน เช่น CPP – ACP ทาที่ผิวฟัน ซึ่งจะช่วยให้รอยขุ่นขาวน้อยลงได้
แต่ถ้าภาวะการตกกระรุนแรงมากจนไม่สามารถแก้ไขโดยวิธีข้างต้นได้ อาจแก้ไขโดยการบูรณะฟันด้วยวัสดุบูรณะสีเหมือนฟัน กรณีฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม อาจบูรณะด้วยการเคลือบฟันเทียม (veneer) แต่ถ้าเกิดการสูญเสียชั้นเคลือบฟันในบริเวณกว้าง หรือชั้นเคลือบฟันมีความอ่อนแอมาก ควรได้รับการบูรณะด้วยการทำครอบฟัน

 

การรักษา
กรณีรุนแรงน้อย สามารถใช้สารที่ช่วยส่งเสริมการคืนกลับของแร่ธาตุทาที่ผิวฟันจะช่วยให้รอยขาวขุ่นที่ผิวฟันน้อยลงได้หรือใช้การฟอกสีฟัน

กรณีรุนแรงมาก แก้ไขด้วยการบูรณะผิวฟันใหม่ โดยใช้วัสดุอุดสีเหมือนฟัน หรือการทำวีเนียร์ แต่ถ้ากรณีสูญเสียผิวเคลือบฟันไปมาก อาจต้องทำครอบฟัน

ที่มาของภาพ : www.prohomine-dental-aid.org
: www.ammondmd.com

อ.ทพ. นัฑวิชญ์ นิยมสุจริต

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

การเคลือบผิวฟัน ( Veneer )

การเคลือบผิวฟัน ( Veneer )

การเคลือบผิวฟันคืออะไร ?

ก่อนอื่นขออนุญาติเรียกการเคลือบผิวฟันว่า veneer การเคลือบผิวฟันคือ การใช้วัสดุสีเหมือนฟันปิดบริเวณผิวหน้าของฟัน

 

เพราะเหตุใดจึงต้องเคลือบผิวฟัน

Veneer ทำเมื่อต้องการแก้ไขขนาด รูปร่าง หรือตำแหน่งของฟันที่มีความผิดปกติเล็กน้อย รวมทั้งในบางกรณีสามารถที่จะเปลี่ยนสีของฟันให้เสมอกันได้ด้วย

 

ประเภทของการเคลือบผิวฟัน

หลักๆ มี 2 ประเภท

  • การทำชิ้นงานขึ้นโดยตรงภายในช่องปากด้วยเรซินคอมโพสิต
  • การสร้างชิ้นงานจากแล็บแล้วนำมาติดในช่องปากซึ่งทำจากวัสดุเซรามิก จะมีความคงทนมากกว่าแบบแรก

 

ขั้นตอนการรักษา

เริ่มแรกจะต้องได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียดก่อนว่าปัญหาที่ต้องการแก้ไขสามารถแก้ไขด้วยการทำ veneer ได้ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการกรอผิวเคลือบฟัน เพื่อเตรียมให้ฟันมีลักษณะที่เหมาะสมต่อการทำ veneer หากเป็นการทำโดยตรงในช่องปากจะสามารถทำ veneer ด้วยเรซินคอมโพสิตต่อได้เลย แต่หากเลือกใช้วัสดุเซรามิก ทันตแพทย์จะพิมพ์แบบจำลองฟันในกรณีที่ต้องส่งแล็บเพื่อสร้างชิ้นงาน เมื่อได้ชิ้นงานแล้วก็นำมายึดติดในช่องปากอีกครั้ง

 

ข้อดี – ข้อเสีย

  • ข้อดี มีความคงทน สวยงาม สีจะขาวขึ้นโดยควบคุมได้มากกว่าการฟอกสีฟัน สามารถเลือกสีที่ต้องการได้ตั้งแต่ต้น
  • ข้อเสีย คือมีการกรอฟัน ทำให้สูญเสียเนื้อฟัน

 

วิธีการดูแลรักษาหลังทำการเคลือบฟัน

ควรดูแลอนามัยช่องปากให้ดี รวมทั้งควรงดการใช้งานที่ผิดปกติ เช่น นำไปกัดอาหารแข็งหรือเหนียว

อ.ทพญ. มุนินทร์ ชัยชโลธร

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

การรักษารากฟันคืออะไร

การรักษารากฟันคืออะไร

การรักษารากฟัน คือขบวนการกำจัดเนื้อเยื่อในโพรงฟันและคลองรากฟันที่มีการติดเชื้อ และอักเสบ ร่วมกับการทำความสะอาดในคลองรากฟันให้ปราศจากเชื้อโรค จากนั้นจึงอุดคลองรากฟันและบูรณะตัวฟันเพื่อความแข็งแรงและสวยงามให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

สาเหตุ

ฟันที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน ส่วนใหญ่เป็นฟันที่ผุลึกมากจนทะลุโพรงประสาทฟัน ฟันที่ร้าว แตกหัก หรือสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน และฟันที่ได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปในโพรงประสาทฟันและทำให้เกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันได้

อาการ

ฟันที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน มักมีอาการปวดฟันขึ้นมาเอง อาจปวดแบบเป็นๆหายๆ หรือปวดรุนแรงจนนอนไม่หลับ หรือทำให้ต้องตื่นเนื่องจากปวดฟันมาก หรือมีอาการเสียวฟันมากเวลาดื่มของร้อนหรือเย็น รู้สึกเจ็บฟันเวลาเคี้ยวอาหาร บางครั้งอาจพบว่าฟันเปลี่ยนสี มีสีคล้ำ หรือมีอาการเหงือกบวม มีตุ่มหนอง หรือบวมบริเวณใบหน้าได้

วิธีการรักษา

ขั้นตอนการรักษา เริ่มจากการใส่ยาชา ใส่แผ่นยางกันน้ำลาย จากนั้นจึงกรอฟันเพื่อเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟัน กำจัดเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อออกด้วยเครื่องมือที่มีขนาดเล็ก ร่วมกับการล้างคลองรากฟันด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ และใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟัน เมื่อฟันมีอาการที่ปกติแล้วจะทำการอุดคลองรากฟันเพื่อปิดช่องว่างไม่ให้เชื้อโรคกลับเข้ามาอาศัยได้อีก โดยปกติจะใช้เวลาการรักษาประมาณ 2-3 ครั้งขึ้นอยู่กับความยากง่ายและสภาพการติดเชื้อของฟันแต่ละซี่ หลังจากนั้นจึงทำการบูรณะตัวฟันให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

คำแนะนำระหว่างการรักษา

หลังการรักษาในแต่ละครั้งอาจพบอาการปวดได้บ้าง ประมาณ 1-3 วันแรก สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการปวดเป็นมากขึ้น ให้กลับมาพบทันตแพทย์ และไม่ควรใช้ฟันกัดหรือเคี้ยวอาหารแข็งถ้าหากว่ายังไม่ได้บูรณะตัวฟันให้แข็งแรง อาจทำให้ฟันแตกหรือหักได้

ฟันที่ทำการรักษาจะอยู่ได้นานเท่าใด

ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันและบูรณะตัวฟันเสร็จแล้ว จะสามารถอยู่กับเราได้นานเท่ากับฟันที่ปกติ ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพฟันและช่องปากของแต่ละคน

ฟันที่รักษาจะปวดได้อีกหรือไม่

ถ้าสามารถกำจัดสาเหตุและเชื้อโรคได้หมด และการบูรณะฟันทำได้ดีไม่รั่วซึม ร่วมกับการดูแลทำความสะอาดฟันที่ดีไม่มีการผุเพิ่มเติม ฟันก็จะไม่มีอาการปวดกลับมาอีก

การดูแลรักษา

สามารถดูแลรักษาได้เหมือนฟันปกติ โดยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟัน และหมั่นมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟัน อย่างน้อยปีละ2ครั้ง

สรุป

โดยปกติแล้วฟันที่มีการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน การถอนฟันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่การรักษารากฟัน จะเป็นหนทางที่จะช่วยเก็บรักษาฟันให้คงอยู่ในช่องปากต่อไปได้ โดยไม่ต้องสูญเสียฟันและไม่ต้องใส่ฟันเทียม ซึ่งบางชนิดมีราคาที่ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับการรักษารากฟัน และถ้าเราดูแลฟันได้ดี ตรวจฟันสม่ำเสมอ เมื่อฟันผุก็ให้รีบอุดฟันตั้งแต่ที่ยังมีขนาดเล็กๆ อย่ารอจนมีอาการปวด ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะต้องรักษารากฟันได้ครับ

อ.ทพ. ชิตพล ชัยมานะการ

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์