MU DENT faculty of dentistry
ความสำคัญของน้ำลาย
รศ.ดร.ทพ.ขจรเกียรติ เจนบดินทร์
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
1. ต่อมน้ำลายหน้ากกหู (Parotid gland) ในมนุษย์เป็นต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ที่สุด อยู่หน้ากกหู ผลิตน้ำลายชนิดใส มีตำแหน่งทางเปิด เห็นเป็นปุ่มเนื้อเยื่ออยู่ตรงข้ามกับตัวฟันของฟันกรามหลังบนซี่ที่สอง ผลิตน้ำลาย ร้อยละ 20 – 25 ของน้ำลายทั้งหมด
2. ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรล่าง (Submandibular gland) อยู่บริเวณใต้ขากรรไกรล่าง ผลิตน้ำลายชนิดใส (ผลิตเป็นหลัก) และชนิดเหนียว มีตำแหน่งทางเปิดอยู่ใต้ลิ้น เห็นเป็นปุ่มเนื้อเยื่ออยู่ข้างเนื้อยึดลิ้น ผลิตน้ำลายส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 – 75 ของน้ำลายในช่องปาก
3. ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual gland) อยู่บริเวณใต้ลิ้น ผลิตน้ำลายชนิดเหนียว (ผลิตเป็นหลัก) และชนิดใส มีตำแหน่งทางเปิดอยู่ใต้ลิ้น ถัดจากตำแหน่งทางเปิดของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรล่างมาทางด้านข้าง
นอกจากต่อมน้ำลายหลัก เรายังสามารถพบต่อมน้ำลายย่อย ซึ่งมีขนาดเล็ก กระจายตัวเป็นกลุ่มๆ อยู่ตามเนื้อเยื่อในช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม ลิ้น และเพดานปาก ต่อมน้ำลายย่อยนี้ส่วนใหญ่จะผลิตน้ำลายชนิดเหนียว
ส่วนประกอบของน้ำลายมีอะไรบ้าง ?
น้ำลายมนุษย์ ประกอบด้วย น้ำ ถึงร้อยละ 99.5 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 0.5 ประกอบไปด้วย อิเล็กโทรไลท์ (Electrolytes) หรือเกลือแร่ ได้แก่ โซเดียม โปแตสเซียม คลอไรด์ ไบคาร์บอเนทและฟอสเฟต มูกเมือก (Mucus) ประกอบด้วยแป้งและโปรตีน สารต้านเชื้อแบคทีเรีย และเอนไซม์ย่อยอาหารจำพวกแป้ง และไขมัน
น้ำลาย มีประโยชน์อย่างไร ?
1. ก่อให้เกิดความชุ่มชื่นในช่องปาก และป้องกันเนื้อเยื่อในช่องปากจากภยันตรายต่าง ๆ ระหว่างการเคี้ยว การกลืน และการพูดคุย
2. ช่วยในการย่อยอาหาร น้ำลายช่วยทำให้อาหารมีความนุ่มง่ายต่อการย่อย และยังมีองค์ประกอบของเอนไซม์ Amylase และ Lipase ที่ช่วยในการย่อยอาหารจำพวกแป้ง และไขมัน ตามลำดับ ก่อนส่งต่อไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
3. ช่วยป้องกันฟันผุ โดยน้ำลายทำหน้าที่เป็นสารบัฟเฟอร์จากองค์ประกอบของอิเล็กโทรไลท์ ควบคุมความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมในช่องปาก อยู่ที่ประมาณ pH 6.2 – 7.4 ซึ่งถ้าสมดุลในส่วนนี้ถูกรบกวน เกิดความเป็นกรดที่สูงขึ้น จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ ในทางตรงกันข้ามถ้าเกิดความเป็นด่างที่สูงขึ้น จะมีโอกาสเกิดหินปูนได้มาก ทำให้เกิดโรคปริทันต์
4. ช่วยในการรับรส โดยส่งเสริมการทำหน้าที่ของปุ่มรับรส เราจะสังเกตเห็นได้ว่าในคนไข้ที่มีน้ำลายน้อย เช่น ผู้สูงอายุ หรือคนไข้ที่ทานยาที่มีผลต่อการลดการหลั่งน้ำลาย มักจะมีการรับรสที่ผิดปกติ
5. ในน้ำลายมีสารที่ฆ่าเชื้อโรคได้ คือ สารอิมมูโนโกลบูลินเอ (IgA) แลคโตเฟอริน และแลคโตเพอร์ออกซิเดส เวลามีแผลในปาก สารเหล่านี้จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น ฆ่าเชื้อโรคได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้น้ำลายมีประโยชน์มากมาย แต่ในขณะเดียวกันน้ำลายอาจเป็นส่วนที่แพร่กระจายเชื้อโรค ทำให้เกิดโรคติดต่อจากบุคคลหนึ่งสู่บุคคลหนึ่งได้เช่นกัน เช่น โรคเริม โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
ปริมาณ น้ำลาย/วัน ในมนุษย์
โดยเฉลี่ยมีการศึกษารายงานว่าปริมาณน้ำลายถูกหลั่งอยู่ในช่วง 0.75 – 1.5 ลิตร/วัน และเป็นที่ยอมรับว่าปริมาณน้ำลายจะมีการหลั่งที่น้อยลง หรือหยุดผลิตระหว่างการนอนหลับ หรือในช่วงเวลากลางคืน จึงเป็นสาเหตุให้เมื่อตื่นนอนคนเรามักจะมีกลิ่นปาก หรือถ้าไม่แปรงฟันก่อนนอนจะเพิ่มโอกาสฟันผุเพราะมีตัวฆ่าเชื้อในช่องปากที่ลดลง
จากที่กล่าวมาข้างต้น น้ำลายมีความสำคัญอย่างมาก ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นต่อการหลั่งน้ำลายที่น้อยลง ด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิเช่น ภาวะสูงอายุ ยาที่มีผลลดการหลั่งน้ำลาย โรคทางระบบ เช่น เบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำลายติดเชื้อ มะเร็งต่อมน้ำลาย ภาวะหลังการรักษามะเร็งที่ศีรษะและลำคออาจจะด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด ซึ่งจะมีผลต่อต่อมน้ำลาย เมื่อต่อมน้ำลายมีความผิดปกติ หลั่งน้ำลายได้น้อย (Hyposalivation) จะส่งผลให้เกิดสภาวะปากแห้ง (Dry mouth / Xerostomia) เสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ในช่องปาก เช่น ฟันผุ โรคเหงือกและปริทันต์อักเสบ แผลอักเสบในช่องปาก กลิ่นปาก ติดเชื้อราในช่องปาก ถึงตอนนี้เราได้เรียนรู้ว่าน้ำลายไม่ใช่แค่ของเหลวธรรมดาๆ แต่เป็นของเหลวที่ถูกสร้างขึ้นจากร่างกายมีความสำคัญช่วยทำให้เราดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หากเรามีความผิดปกติของน้ำลาย หรืออยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการหลั่งน้ำลายน้อยตามที่อธิบายข้างต้น เราควรจะสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรมีการดูแลเอาใจใส่สุขภาพช่องปากเป็นพิเศษด้วยตนเองจากทันตแพทย์และแพทย์