Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

MU DENT faculty of dentistry

รู้…ก่อนจัดฟัน

ผศ.ดร.ทพญ. ศศิภา ธีรดิลก

ภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง

การจัดฟัน คืออะไร
การจัดฟัน คือ งานสาขาหนึ่งทางทันตกรรมที่ให้การรักษาความผิดปกติของการเรียงตัวของฟันและการสบฟันในช่องปาก โดยการจัดฟันจะมีการเคลื่อนที่ของฟันไปยังตำแหน่งใหม่ เพื่อเรียงฟันให้ดีขึ้นและอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม นอกจากนี้ทันตแพทย์จัดฟันจะทำการวิเคราะห์ วินิจฉัย วางแผนป้องกัน และรักษา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งและขนาดของขากรรไกร ตลอดจนความสัมพันธ์ของขากรรไกรกับใบหน้าด้วย

 

ทำไมจึงต้องจัดฟัน
การจัดฟันเป็นการให้การรักษา เพื่อให้ฟันมีการเรียงตัวที่ตรงขึ้น มีการสบฟันที่ดีขึ้น เพื่อให้การบดเคี้ยวอาหารมีประสิทธิภาพ อาจลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดฟันผุหรือโรคเหงือก อันเนื่องมาจากความลำบากในการทำความสะอาดฟันและเหงือกในบริเวณที่ฟันเรียงตัวผิดปกติและซ้อนเกและยังอาจช่วยเสริมบุคลิกภาพจากการที่มีฟันเรียงกันสวยงาม

 

ควรจัดฟันเมื่ออายุเท่าไหร่
การจัดฟันเป็นการที่ทันตแพทย์จัดฟันเคลื่อนที่ฟันไปที่ตำแหน่งใหม่ ในระหว่างการเคลื่อนที่ของฟันกระดูกที่รองรับฟันและที่อยู่รอบๆรากฟันจะมีการทำลายและมีการสร้างตัวใหม่ (รูปที่ 6)ดังนั้นในผู้ป่วยเด็ก จะมีความสามารถของกระบวนการสร้างเสริมกระดูกรอบๆรากฟันรวดเร็วและดีกว่าในผู้ป่วยผู้ใหญ่ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยเด็กที่ฟันน้ำนมหลุดออกไปหมดแล้วเริ่มมารับการรักษาทางการจัดฟัน ซึ่งผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้จะมีอายุประมาณ 11-12 ปี แล้วแต่บุคคล ในผู้ป่วยเด็กจึงมักจะใช้เวลาในการรักษาน้อยกว่าในผู้ป่วยผู้ใหญ่

สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ไปพบทันตแพทย์เด็กสม่ำเสมอ ก็จะได้รับการตรวจดูแลสภาพช่องปากเป็นประจำ และเมื่อทันตแพทย์เด็กตรวจพบความผิดปกติใดๆของการสบฟัน ก็จะมีการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อขอรับคำแนะนำจากทันตแพทย์จัดฟันต่อไป

 

การเตรียมตัวก่อนจัดฟัน
การมีเครื่องมือจัดฟันติดอยู่บนผิวฟัน เมื่อรับประทานอาหารก็จะมีเศษอาหารติดที่เครื่องมือจัดฟัน (รูปที่ 8) และระหว่างเครื่องมือกับผิวฟันได้ง่ายขึ้น ก่อนการติดเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น ทันตแพทย์จัดฟันจะส่งตัวผู้ป่วยให้ไปทำความสะอาดช่องปากโดยการขูดหินปูน รวมถึงการอุดฟันที่ผุทั้งช่องปากให้เรียบร้อยก่อนมาติดเครื่องมือจัดฟัน เพราะถ้าผู้ป่วยมีฟันผุและดูแลสภาพช่องปากของตนเองได้ไม่ดี การติดเครื่องมือติดแน่นในช่องปากจะทำให้การผุลุกลาม รวดเร็วขึ้นและโรคเหงือกจะเป็นรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดเหงือกทั่วไปในช่องปากอักเสบมากได้

 

การดูแลสุขภาพช่องปากระหว่างการจัดฟัน
เมื่อมีเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นในช่องปาก การรับประทานอาหารแต่ละครั้ง จะมีเศษอาหารติดที่เครื่องมือและที่รอยต่อระหว่างเครื่องมือจัดฟันและผิวฟันได้ง่าย เมื่อได้รับการรักษาจัดฟัน ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องดูแลทำความสะอาดฟันและเหงือกของตนเองให้ดีกว่าการดูแลฟันปกติ คือ ต้องแปรงฟันหลังการรับประทานอาหารทุกครั้ง ให้ใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ได้แก่ แปรงซอกฟันขนาดเล็ก (รูปที่ 9) โดยหลังจากการแปรงฟันปกติ ต้องใช้แปรงซอกฟันขนาดเล็กทำความสะอาดที่รอบๆ ฐานbracketและตรงรอยต่อที่ติดกับผิวฟันด้วย ต้องใช้ไหมขัดฟัน โดยให้ร้อยไหมขัดฟันเข้าไปใต้ลวดจัดฟันและทำความสะอาดที่ซอกระหว่างฟันด้วย

 

หลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป
หลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นแล้ว ยังต้องใส่เครื่องมือคงสภาพฟันซึ่งเป็นเครื่องมือแบบถอดได้ต่อไปอีก โดยให้ใส่ตลอดเวลาทั้งวันและใส่ตอนนอน ถอดออกเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารและแปรงฟัน อย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นให้ใส่เครื่องมือคงสภาพฟันเฉพาะตอนนอน อีกประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้ฟันที่ได้จัดเรียบร้อยแล้วคงสภาพเรียงตรงอยู่ได้

Post Views: 363