โรคมือ-เท้า-ปาก เป็นอย่างไร ?
โรคมือ- เท้า-ปาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม enterovirus ซึ่งมักเป็น coxsackievirus A16 และยังอาจเกิดจากเชื้อไวรัสตัวอื่นๆ ในกลุ่มนี้ได้ เช่น enterovirus 71 โรคมือ-เท้า-ปาก เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัส ทำให้เป็นไข้และมีตุ่มพองเกิดขึ้นที่ มือ เท้า และในปาก
ใครมีโอกาสเป็น โรคมือ-เท้า-ปาก ได้บ้าง ?
เด็กเล็กๆ จนถึงอายุ 10 ปี พบว่ามีโอกาสเกิดโรคสูงสุด พบได้จนถึงวัยหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ก็ติดเชื้อได้เช่นกันแม้ว่าพบน้อย หลังจากติดเชื้อแล้วจะเกิดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์นั้น แต่ยังมีโอกาสเป็น โรคมือ-เท้า-ปาก ได้อีก จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นในกลุ่มเดียวกัน
เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด โรคมือ-เท้า-ปาก แพร่กระจายทางใด ?
เชื้อไวรัสพบในอุจจาระ สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย รวมทั้งในตุ่มพองของผู้ป่วย เชื้อจึงแพร่กระจายได้จากการสัมผัสกับอุจจาระ น้ำมูก น้ำลายและน้ำในตุ่มพองของผู้ที่เป็นโรค
อาการของ โรคมือ-เท้า-ปาก มีอะไรบ้าง ?
หลังจากสัมผัสเชื้อ 3 – 6 วัน เด็กจะมีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ หลังจากนั้น 1 – 2 วัน เด็กมักจะมีอาการเจ็บในปาก ทำให้ไม่ยอมรับประทานอาหารตามปกติ ทั้งนี้เนื่องจากมีตุ่มพองและแผลเกิดขึ้นในปาก นอกจากนี้ยังพบตุ่มพองที่มือและเท้าด้วย
ลักษณะที่สังเกตพบในปากเป็นอย่างไร ?
ส่วนใหญ่เด็กจะมีอาการเจ็บในปาก ทำให้ไม่รับประทานอาหารตามปกติ ในปากจะเริ่มจากมีจุดแดงแล้วเป็นตุ่มพอง มักพบที่เพดานแข็ง ลิ้น กระพุ้งแก้ม ตุ่มพองนี้มักจะแตกออกหลังจากเกิดขึ้นไม่นาน ทำให้พบลักษณะเป็นแผลตื้นๆ รูปร่างกลมขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 – 2 มิลลิเมตร ขอบแผลแดง พื้นแผลมีสีออกเหลือง แผลเล็กๆ หลายแผลอาจรวมกันเป็นแผลใหญ่ก็ได้
ลักษณะที่พบบริเวณมือและเท้าเป็นอย่างไร ?
ผื่นที่ผิวหนังอาจเกิดต่อเนื่อง 1 – 2 วัน เริ่มจากจุดเรียบหรือนูนแดง แล้วกลายเป็นตุ่มพองและแตกออกเป็นแผล พบได้ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมทั้งด้านข้างของนิ้วมือและนิ้วเท้า
วินิจฉัยโรคด้วยวิธีใด ?
การวินิจฉัยมักอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย ในกรณีที่จำเป็นอาจตรวจหาเชื้อไวรัส (coxsakievirus หรือ enterovirus ชนิดอื่นๆ) เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย แต่ค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน
มีวิธีดูแลรักษาอย่างไร ?
ควรไปพบแพทย์ทันทีที่สงสัยว่าเป็นโรค เนื่องจากแม้ปกติ โรคมือ-เท้า-ปาก เป็นโรคที่ไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 7 – 10 วัน ในปัจจุบันมีรายงานถึงการระบาดของโรคและมีภาวะแทรกซ้อน ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ป้องกันโรคได้อย่างไร ?
เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด โรคมือ-เท้า-ปาก พบได้ในอุจจาระ น้ำมูก น้ำลายและน้ำในตุ่มพอง เชื้อติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงและจากการสัมผัสทางอ้อม เช่น ใช้ของร่วมกับผู้ป่วย ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ การรักษาสุขอนามัย โดยการล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำ หลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก ก่อนเตรียมอาหาร รวมทั้งหลังจากสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย
เมื่อใดและนานเท่าใดที่ผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อได้ ?
ผู้ป่วยแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เมื่อเริ่มเป็นโรค จนถึงเมื่อตุ่มพองที่ผิวหนังหายไป เชื้อไวรัสถูกปลดปล่อยออกมาทางอุจจาระนานหลายสัปดาห์
มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นหรือไม่ ?
ปกติ โรคมือ-เท้า-ปาก จะไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่เชื้อไวรัสบางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และปอดบวม เป็นต้น
ป้องกันการกระจายของโรคอย่างไร ?
ควรแยกเด็กที่ป่วย นอกจากนี้ผู้ที่สัมผัสกับน้ำมูก น้ำลายและอุจจาระของผู้ป่วยต้องล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
สรุป
โรคมือ-เท้า-ปาก เป็นโรคที่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกจากลักษณะอาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะในรายที่มีตุ่มพองและแผลในปากร่วมกับตุ่มพองที่มือและเท้า ควรพบแพทย์/ทันตแพทย์เพื่อการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
เลขที่ 888 ม.6 ถ.บรมราชชนนี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
เบอร์ตรง 0-2849-6600