Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

โรคปริทันต์อักเสบ คืออะไร

โรคปริทันต์อักเสบ คือ โรคที่มีการอักเสบของอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกทำลายไปอย่างช้า ๆ ทุกวันจนต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด โรคนี้ภาษาชาวบ้านเรียกว่า โรครำมะนาด มีความรุนแรงมากกว่าโรคเหงือกอักเสบ

 

อาการของโรคปริทันต์อักเสบมีอาการอย่างไรบ้าง

โรคปริทันต์อักเสบ เป็นโรคเรื้อรังที่มีการทำลายเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกเบ้าฟันอย่างต่อเนื่องโดยเราไม่รู้ตัว อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกได้คือเหงือกบวม มีเลือดออกภายหลังการแปรงฟัน เจ็บเหงือกเวลาเคี้ยวอาหารในบางครั้ง ฟันโยก มีเหงือกบวมเป็นหนองในกรณีที่เป็นโรครุนแรงมาก ๆ มีกลิ่นปาก ฟันยื่นยาวหรือแยกกันเกิดเป็นช่องว่างระหว่างฟัน เคี้ยวอาหารไม่ได้จนต้องมาให้ทันตแพทย์ถอนออก

 

สาเหตุของโรคปริทันต์อักเสบคืออะไร

สาเหตุหลักของการเกิดโรคนี้คือ คราบจุลินทรีย์ที่มากับอาหารที่เราทานและน้ำลาย เชื้อแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์เหล่านี้จะสร้างสารพิษมาย่อยเหงือกและกระดูกเบ้าฟันของเรา นอกจากนี้ยังมีสาเหตุรองที่ทำให้โรคลุกลามมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ เป็นต้น

 

การรักษาและการป้องกันโรคปริทันต์อักเสบ มีวิธีอย่างไร

การรักษาโรคปริทันต์อักเสบคือการกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้รวมทั้งกำจัดแหล่งอาศัยของเชื้อแบคทีเรีย ด้วยการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันทั้งที่อยู่เหนือเหงือกและใต้ขอบเหงือก เพื่อให้ร่างกายมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไป แต่เนื่องจากสาเหตุของโรคนี้กลับมาสะสมใหม่ทุกวันเมื่อเราทานอาหาร ดังนั้นการป้องกันโรคคือการดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดทุกวันด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ

 

โรคปริทันต์อักเสบ สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า โรคนี้มีการทำลายทั้งเนื้อเยื่อและกระดูก ร่างกายไม่สามารถสร้างกลับมาเหมือนเดิมได้ รวมทั้งสาเหตุของโรคกลับมาใหม่ทุกวัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เป็นแล้วเป็นตลอดชีวิตไม่มีวันหายขาด การขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันไม่ใช่วิธีการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำความสะอาดฟันโดยทันตแพทย์ การรักษาและป้องกันโรคที่ยั่งยืนเพื่อไม่ให้โรคกลับมาเป็นใหม่ได้เร็วคือการดูแลทำความสะอาดฟันให้ดีอย่างเคร่งครัดทุกวันเพื่อคงสภาพของเหงือกและกระดูกที่เหลืออยู่ให้มีสุขภาพที่ดีตลอดไป การแปรงฟันให้สะอาดในวันพรุ่งนี้ไม่สามารถมาทดแทนการถูกทำลายในวันนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงควรหันมาดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้และควรพบทันตแพทย์ทุก ๖ เดือนเพื่อรับคำแนะนำและการดูแลอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นอาจจะสายเกินแก้และมาเสียใจในภายหลัง

รศ.ทพ. ยสวิมล คูผาสุข

ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปากและปริทันตวิทยา

Post Views: 363