ฟันเทียมคือสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว ป้องกันการเกิดปัญหาการล้มเอียงของฟันข้างเคียง การยื่นยาวของฟันคู่สบ ปัญหาข้อต่อขากรรไกร ช่วยในเรื่องการออกเสียงและความสวยงาม ชนิดของฟันเทียมแบ่งออกได้เป็น
หมายถึงสิ่งประดิษฐ์ซึ่งใช้ทดแทนฟันหนึ่งซี่ หรือมากกว่า ได้แก่ ฟันเทียมบางส่วนถอดได้ และ ฟันเทียมทั้งปาก ผู้ป่วยสามารถใส่หรือถอดฟันปลอมชนิดนี้ได้ด้วยตนเอง มีทั้งที่ทำจากเรซินอะคริลิก (พลาสติก) และโลหะ ฟันเทียมชนิดถอดได้นี้ อาศัยการยึดกับตัวฟันด้วยตะขอ หรือความแนบสนิทของฐานฟันเทียมกับเนื้อเยื่อในช่องปาก
คือสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้บูรณะฟันในกรณีที่มีการสูญเสียเนื้อฟันบางส่วนเนื่องมาจากรอยผุ หรือฟันแตกหักได้แก่ ครอบฟัน หรือกรณีที่ใช้ทนแทนฟันที่หายไป ได้แก่ สะพานฟันติดแน่น ซึ่งจะติดแน่นอยู่กับฟันที่เหลืออยู่ในช่องปาก ในการเตรียมฟันเพื่อทำสะพานฟันติดแน่นนั้นจะต้องมีการกรอแต่งฟันซี่ข้างเคียงที่ติดอยู่กับช่องว่างด้วย วัสดุที่ใช้ทำครอบฟันหรือสะพานฟันนั้นอาจทำมากจากโลหะล้วน โลหะเคลือบกระเบื้องสีเหมือนฟัน หรือ ทำจากกระเบื้องล้วนไม่มีส่วนผสมของโลหะ
ทั้งนี้ฟันเทียมยังหมายรวมถึงรากเทียม (รูปที่3) ซึ่งเป็นวัสดุโลหะที่มีรูปร่างคล้ายรากฟัน นำเข้าไปฝังไว้ในกระดูกขากรรไกร ทดแทนรากฟันที่หายไป จากฟันที่ถูกถอนออกไป ใช้ร่วมกับฟันเทียมแบบถอดได้ หรือฟันเทียมแบบติดแน่น
ฟันเทียมทั้งแบบติดแน่น และแบบถอดได้ ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการรักษาสุขอนามัยที่ดีของช่องปาก
กรณีฟันเทียมแบบติดแน่นนั้น จะต้องให้การดูแลเหมือนฟันธรรมชาติคือ แปรงฟันอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้เครื่องมือช่วยอื่น เช่น ไหมขัดฟัน ทั้งนี้ ฟันที่ทำครอบฟันหรือสะพานฟันติดแน่นแล้วนั้น ยังสามารถเกิดรอยผุต่อได้ ซึ่งหากรอยผุลุกลาม จำเป็นต้องให้การรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น ใช้ระยะเวลาในการรักษาและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น วิธีการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันกรณีฟันเทียมติดแน่นนั้น ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์เพื่อให้ใช้ได้อย่างถูกวิธี
ฟันเทียมชนิดถอดได้ ผู้ป่วยควรถอดออกทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร และก่อนนอน ในการทำความสะอาดฟันเทียมถอดได้ ควรใช้แปรงสีฟันขนนิ่มร่วมกับน้ำสบู่อ่อนหรือยาสีฟันชนิดที่ไม่มีผงขัดผสมอยู่มากเกินไป แปรงทำความสะอาดทั้งด้านนอกและด้านในของฟันเทียม เวลาทำความสะอาดจะต้องมีภาชนะใส่น้ำรองรับอยู่ข้างใต้เสมอ กรณีที่ฟันเทียมพลาดตกจากมือจะได้ไม่แตกหักหรือบิดเบี้ยว ฟันเทียมควรได้รับการถอดออกในตอนกลางคืนหรือตอนนอน เพื่อป้องกันการเกิดเนื้อเยื่อในช่องปากอักเสบ เมื่อถอดฟันเทียมออกแล้วให้ทำความสะอาดแล้วแช่น้ำในภาชนะมีฝาปิด ส่วนฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ในช่องปากนั้นก็จำเป็นต้องได้รับการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้ป่วยมักจะทำความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะฟันด้านที่ติดกับช่องไร้ฟัน อาจใช้แปรงอันเล็ก หรือผ้าก็อซร่วมด้วย
การที่ทันตแพทย์จะทำฟันเทียมให้ผู้ป่วยนั้น จะต้องใช้การตรวจวิเคราะห์ เก็บข้อมูล ทั้งแบบพิมพ์ฟัน และภาพถ่ายรังสี นำมาออกแบบฟันเทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย จากนั้นจะต้องเตรียมช่องปากเพื่อให้พร้อมสำหรับการใส่ฟัน นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนของการประดิษฐ์ฟันเทียมในห้องปฏิบัติการที่ซับซ้อน เป็นเหตุให้อาจจะใช้ระยะเวลานานกว่าที่ผู้ป่วยจะได้รับฟันเทียม หลังจากใส่ฟันเทียมไปในครั้งแรกนั้น อาจมีอาการผิดปกติหรือมีอาการเจ็บเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยจะต้องกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อรับตรวจแก้ไข จนผู้ป่วยใช้งานฟันเทียมได้ดีขึ้น
ฟันเทียมนั้นถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทนแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป แต่หากไม่ใส่ใจดูแลใช้งานฟันเทียมอย่างเหมาะสม อาจทำให้สูญเสียฟันธรรมชาติที่มีอยู่แทนได้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความสะอาด และหมั่นกลับมารับการตรวจจากทันตแพทย์เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ
ภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง
เลขที่ 888 ม.6 ถ.บรมราชชนนี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
เบอร์ตรง 0-2849-6600