คำแนะนำการปฏิบัติตน
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน
เมื่อกลับไปพักรักษาต่อที่บ้าน
อาการ
– หลังการผ่าตัดจะทำให้เกิดการปวดและบวมได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะจะบวมมากในช่วง 3 วันแรก และจะดีขึ้นหลังผ่านไป 1 – 2 สัปดาห์ สามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยยาแก้ปวดที่ทันตแพทย์จ่ายให้เมื่อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน
– อาการชาหลังผ่าตัดเป็นสิ่งปกติ การผ่าตัดขากรรไกรบนสามารถทำให้ริมฝีปากบน แก้ม และปีกจมูกชาได้ การผ่าตัดขากรรไกรล่างสามารถทำให้ริมฝีปากล่าง คาง หรือลิ้นชาได้ อาการชาจะค่อยๆ ดีขึ้น
ระยะเวลาในการพักรักษา
– ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัดอาจกินเวลาประมาณ 3 ถึง 5 วัน
– หลังทันตแพทย์พิจารณาให้กลับบ้านได้แล้ว จะทำการนัดติดตามดูอาการทุกอาทิตย์จนกว่าจะครบ 1 เดือน
– กรณีใส่แผ่นพลาสติกใส จะติดอยู่กับฟันบนและจะเอาออกเมื่อครบ 1 เดือน หลังการผ่าตัด
– ทันตแพทย์อาจจะใช้ยางยึดขากรรไกรบนและล่างไว้ด้วยกัน ในกรณีที่กัดฟันไม่ลงหรือฟันไม่สบกัน ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องรับประทานน้ำและอาหารเหลวทางปาก ผ่านทางกระบอกฉีดยา หลังผ่าตัดประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะเอายางออกให้ ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวขากรรไกรบนและล่างได้ และสามารถรับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อนตามคำแนะนำของทันตแพทย์
คำแนะนำการปฏิบัติตนขณะกลับไปพักรักษาต่อที่บ้าน
1. การรับประทานยา ควรรับประทานยาตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด/ครบถ้วน ห้ามหยุดยา/เพิ่มหรือลด ขนาดยาเองโดยเด็ดขาด
2. การรับประทานน้ำและอาหาร ควรรับประทานอาหารเหลวใสในช่วงสัปดาห์แรกของการผ่าตัดหรืออาหารปั่น เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดของบาดแผลในช่องปาก ไม่ควรเคี้ยวอาหารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน หรือตามทันตแพทย์แนะนำ เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 สามารถเริ่มรับประทานอาหารอ่อนนิ่มได้ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ตุ๋น เกี๊ยมอี๋ และสามารถรับประทานอาหารปกติได้เมื่อผ่าตัดไปแล้ว 3 เดือน
3. การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน สามารถทำได้ตามปกติ 1 – 2 สัปดาห์แรก ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้แรงหนัก เช่น ยกของ วิ่ง เนื่องจากร่างกายมีการสูญเสียเลือด หลังจากสัปดาห์ที่ 2 สามารถออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน ยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้ หลังสัปดาห์ที่ 12 สามารถออกกำลังกายแบบ แอโรบิค วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ได้ ควรหลีกลี่ยง กีฬาที่มีการปะทะ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล หรือ กีฬาโลดโผน
4. การนอนหลับ ควรนอนศีรษะสูง 30 องศา ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยให้ยุบบวมเร็วขึ้น
5. อาจรู้สึกว่ายังมีไหมเย็บอยู่ในช่องปาก ซึ่งไหมดังกล่าวทันตแพทย์จะนัดมาตัดไหม 2 สัปดาห์ หลังผ่าตัด
6. การประคบเย็น ควรประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมประมาณ 3 – 4 วันแรก หลังผ่าตัด หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นประคบร้อน/อุ่น ต่อเนื่องอีก 2 – 3 วัน หรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์
7. การรักษาความสะอาด ควรรักษาความสะอาดในช่องปากอยู่เสมอโดยการบ้วนปากและเริ่มแปรงฟันได้หลังผ่าตัดวันที่ 2 โดยใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กขนนิ่มของเด็กและควรแปรงอย่างนุ่มนวล ระมัดระวัง อาจใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
8. ควรหลีกเลี่ยงการขากเสมหะแรงๆ การล้วงเข้าไปในช่องปาก ห้ามเขี่ยแผลเล่น เพราะอาจทำให้แผลเปิดและฉีกขาด มีเลือดออกจากแผลในช่องปากได้ หากมีเลือดออกในช่องปากให้นอนยกศรีษะสูง ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือ Cold Pack บริเวณขากรรไกรและคอ
9. การสังเกตภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการรุนแรงควรมาพบทันตแพทย์ก่อนวันนัดหมายได้
ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
– อาจมีอาการชาบริเวณเหงือกด้านบนหรือด้านล่าง หรือบริเวณริมฝีปากหรือคางได้ เนื่องจากอาจมีการกระทบกระเทือนบริเวณเส้นประสาทสัมผัสที่มาเลี้ยงบริเวณดังกล่าวจากการผ่าตัด
– การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด (พบได้น้อย)
– อาการปวดแผลหลังผ่าตัด อาจปวดหรือเจ็บรอบปากหลังผ่าตัด เนื่องจากเนื้อเยื่อของช่องปาก อาจสัมผัสกับลวดหรือเครื่องมือที่อยู่บริเวณฟันและเหงือกได้
– ภาวะเลือดออกมากผิดปกติหลังผ่าตัด (พบได้น้อย)
– กระดูกขากรรไกรบนตายจากการขาดเลือดมาเลี้ยง (พบได้น้อย)
– กระดูกขากรรไกรบนและล่างที่เลื่อนมาด้านหน้า เกิดการเลื่อนตัวไม่ยึดติดกัน เนื่องจากวัสดุที่ใช้ยึดกระดูกหลวมหรือเคลื่อน มักพบในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินมากๆ อาจทำให้รูปหน้าหรือการสบฟันผิดปกติไปจากเดิมที่ควรจะเป็น
– เวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาจมีสำลักขึ้นจมูกได้ จึงควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารอย่างช้าๆ และอย่างระมัดระวัง
– การผ่าตัดไม่เป็นไปตามแผนการรักษา
การนัดตรวจหลังออกจากโรงพยาบาล
ทันตแพทย์จะนัดมาดูแผลผ่าตัดทุก 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และหลังจากนั้นประมาณ 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด การผ่าตัดจะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น หลังเนื้อเยื่อของทางเดินหายใจยุบบวม ประมาณ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักกลับไปทำงานได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน แพทย์และทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาเพื่อประเมินผลการรักษาเป็นระยะๆ