
รศ. ทพญ.กัลยา ยันต์พิเศษ
อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์
ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการประดิษฐ์ ผลงานการประดิษฐ์
“แผ่นยางกั้นน้ำลายสไตรีนิกเทอร์ โมพลาสติก อิสาสโตเมอร์”
ทำไมจึงได้คิดประดิษฐ์ผลงานนี้ออกมา
เนื่องจากที่ว่าวัสดุที่ใช้ในงานทันตกรรมเกือบทุกชนิดผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาแพง ซึ่งวัสดุบางชนิดคุณภาพดีและบางชนิดคุณภาพไม่ค่อยดี จึงมีความคิดที่จะผลิตวัสดุทันตกรรมที่มีคุณภาพดีได้เองในประเทศ จึงเริ่มคิดจากวัสดุที่ใช้ใกล้ตัวและจำเป็น พอดีอยู่ภาควิชาทันตกรรมหัตการและวิทยาเอ็นโดดอนต์ค่ะ และเห็นว่าแผ่นยางกั้นน้ำลายที่เราใช้ในงานรักษาคลองรากฟันและงานอุดฟันอยู่ทุกวันๆ ดูเหมือนจะผลิตไม่ยาก ทำไมต้องซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งยี่ห้อที่มีคุณภาพดีราคาจะแพงมาก ส่วนยี่ห้อที่มีราคาถูกกว่ามีคุณภาพไม่ค่อยดี และส่วนใหญ่ทำจากยางธรรมชาติซึ่งมีโปรตีนที่ก่อให้เกิดการแพ้ได้หลายระดับ ตั้งแต่อาการคันหรือระคายเคือง (contact dermatitis) ไปจนถึงอาการแพ้อย่างรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ (anaphylactic shock) ซึ่งมีรายงานอุบัติการการเกิดการแพ้ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เช่นถุงมือยาง สูงขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย นอกจากนี้ทางคณะเราโดยท่านคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรลักษณ์ สุทธเสถียร มีนโยบายและสนับสนุนโครงการผลิตวัสดุทางทันตกรรมของคณะฯอีกด้วย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คิดที่จะประดิษฐ์แผ่นยางกันน้ำลายที่มีคุณภาพดีและที่สำคัญไม่ก่อให้เกิดการแพ้สามารถใช้ได้โดยไม่กังวลว่าผู้ป่วยจะแพ้วัสดุประเภทยางหรือไม่ เพื่อใช้เองในคณะทันตแพทย์มหิดล และอาจผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศต่อไป
เวลาในการประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้
ใช้เวลาทั้งหมด 5 ปีค่ะ เพราะขั้นตอนละเอียดมากค่ะ เริ่มตั้งแต่การศึกษาคุณสมบัติของวัสดุสังเคราะห์ชนิดต่างๆ ได้ปรึกษากับนักวิทยาศาสตร์สาขาพอลิเมอร์ถึงคุณสมบัติของสารที่เราอยากได้ โดยเน้นย้ำเรื่องความบริสุทธิ์ของสาร และขบวนการการผลิตที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องการสารเร่งปฏิกิริยาในการผลิต ที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ จึงเป็นที่มาของการเลือกสารกลุ่มสไตรินิกเทอร์โมพลาสติกอีลาสโตเมอร์ ซึ่งเป็นสารบริสุทธิ์และไม่มีรายงานการแพ้ของวัสดุชนิดนี้ และมีคุณสมบัติตามที่ต้องการ คือรวมข้อดีของคุณสมบัติทางกายภาพของยางธรรมชาติและคุณสมบัติของพลาสติกเข้าไว้ด้วยกันคือยืดหยุ่นดีและขึ้นรูปได้ง่ายค่ะ (ต้องขอขอบคุณคุณอานนท์ ชัยสุริยะเทพกุล นักวิทยาศาสตร์คนเก่งค่ะ ที่ได้ให้คำปรึกษาและช่วยทดลองค้นคว้าจนสัมฤทธิ์ผลในวันนี้ค่ะ) จากนั้นก็ลงมือเขียนโครงการวิจัยเพื่อขออนุมัติทุนวิจัยจากท่านคณบดี เมื่อได้รับอนุมัติงานวิจัยจึงเริ่มจากทดลองนำวัสดุชนิดต่างๆในกลุ่มสไตรินิกเทอร์โมพลาสติกอีลาสโตเมอร์นี้มาผสมตามสูตรต่างๆขึ้นรูปเป็นแผ่นยางและทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและสมบัติเชิงกล คือการทดสอบสมบัติการดึงและการฉีกขาดของแผ่นยาง และที่สำคัญคือทดสอบการเกิดผื่นแพ้จากการสัมผัสแผ่นยางนี้ในมนุษย์ โดยโครงการวิจัยต้องผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของมหาวิทยาลัยมหิดลเสียก่อนด้วยค่ะ ผลการทดลองออกมาตามที่คาดไว้คือแผ่นยางสังเคราะห์นี้มีคุณสมบัติทางกายภาพดีและปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดการแพ้ในกลุ่มการทดลองเลย จากงานวิจัยดังกล่าวจึงยื่นคำขอจดสิทธิบัตรวัสดุพอลิเมอร์ปลอดการแพ้ในนามของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งวัสดุนี้สามารถปรับปรุงสูตรเพื่อขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ชนิดอื่นๆได้อีกด้วยโดยจะทดลองและวิจัยในโอกาสต่อไป มาถึงตอนนี้ก็ได้ผลิตแผ่นยางกันน้ำลายสไตรินิกเทอร์โมพลาสติกอีลาสโตเมอร์มาใช้ในคลินิกได้1ปีแล้วและมีการปรับปรุงข้อด้อยที่พบจากการใช้งานจริงให้มีคุณภาพดียิ่งๆขึ้นไปค่ะ
ผลงานที่ประดิษฐ์มีความพิเศษอย่างไร
ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วค่ะคือ เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ไม่ใช่ลาเท็กซ์จึงไม่มีโปรตีนที่ก่อให้เกิดการแพ้ ไม่ใช้สารเร่งปฏิกิริยาในขบวนการผลิตและสีที่ใช้เป็นสีผสมอาหาร จึงปลอดภัยไม่เป็นอันตรายเมื่อสัมผัสเยื่อบุในช่องปากและผิวหน้า มีคุณสมบัติทางกายภาพและสมบัติเชิงกลใกล้เคียงกับแผ่นยางกันน้ำลายที่ผลิตจากยางธรรมชาติ ราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับแผ่นยางกันน้ำลายที่ผลิตจากสารสังเคราะห์ประเภทอื่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ และที่สำคัญ Made in Thailand ค่ะ
รู้สึกอย่างไรที่ผลงานได้รับรางวัล
ดีใจและภาคภูมิใจค่ะ และรู้สึกขอบคุณที่มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของงานชิ้นเล็กๆนี้ ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้อาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัย คิดค้นและผลิตวัสดุอุปกรณ์อื่นๆที่สร้างสรรค์ต่อไป
ฝากแง่คิด
ไม่มีอะไรยากเกินไปค่ะ หากมีความสนใจ ตั้งใจ และศึกษาอย่างจริงจัง ก็มีโอกาสที่จะคิดและประดิษฐ์สิ่งที่มีประโยชน์ต่อวิชาชีพและประเทศชาติได้ค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ

