
โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”
อยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำตัวหน่อยค่ะ
รศ.ดร.ทพญ.ศรัญญา ตันเจริญ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1 และรางวัลเหรียญทอง) จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีพ.ศ. 2542 จากนั้นได้รับทุนรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาชีววิทยาช่องปากและ ประกาศณียบัตรทันตแพทย์เฉพาะทาง (สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์) ที่ Kagoshima University Graduate School of Medical and Dental Science ประเทศญี่ปุ่นระหว่างปีพ.ศ. 2544-2548 และศึกษาต่อระดับ Postdoctoral fellowships ที่ Tokyo Medical and Dental University สาขาวิทยาภูมิคุ้มกันพื้นฐานและคลินิก ระหว่างปีพ.ศ. 2551-2552 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ
รางวัลนี้ชื่อรางวัลอะไรคะและคณะกรรมการพิจารณาอย่างไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง
รางวัล“เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” สาขา Life science จาก บริษัท ลอ รีอัล จำกัด (L’Oreal ‘For Women in Science) และสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ค่ะ คณะกรรมการตัดสินจากผลงานที่ได้ทำในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมดและผลงานในปัจจุบัน ซึ่งตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการต่างประเทศรวม 32 เรื่อง นำเสนอผลงานวิจัยและบทคัดย่อรวม 23 เรื่อง ผลงานสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1 เรื่อง ผลงานสิทธิบัตรในประเทศไทยจำนวน 1 เรื่อง ผลงานอนุสิทธิบัตรในประเทศไทยจำนวน 2 เรื่อง
อยากให้ท่านกล่าวถึงงานวิจัยเรื่องนี้มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาสังคมทางด้านใดคะ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใดบ้าง
งานวิจัยนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ของการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ เป็นงานวิจัยที่ทำมา 8 ปีภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและองค์กรในประเทศญี่ปุ่น งานวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีของมนุษย์ที่จำเพาะกับเปปไทต์ขนาดเล็กที่ค้นพบขึ้นนี้สำหรับรักษาโรคปริทันต์อักเสบชนิดลุกลามนี้แม้จะเป็นงานด้าน basic science ซึ่งดูห่างไกลและไม่คุ้นเคยกับทางคลินิก แต่มีความสำคัญมาก เนื่องจากประชาชนทั่วโลกเมื่ออายุ 40 ปี จะเป็นโรคเหงือกอักเสบประมาณ 60% และเมื่ออายุ 60 ปี ขึ้นไปจะเป็นโรคปริทันต์อักเสบประมาณ 80% โรคปริทันต์อักเสบเป็นโรคที่เกิดกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะรอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เนื้อเยื่อปริทันต์ และกระดูกหุ้มรากฟัน ในระยะแรกที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการ จนกระทั่ง กระดูกหุ้มรากฟันและเหงือกถูกทำลายทำให้มีการปวดบวมเป็นหนองฟันโยกและต้องถอนฟันในที่สุด งานวิจัยนี้จึงมีความสำคัญ ผู้วิจัยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาและผลิตแอนติบอดีสำหรับใช้รักษาโรคปริทันต์อักเสบชนิดรุกลามต่อไปให้สำเร็จเพื่อป้องกันและยับยั้งการดำเนินของโรคในผู้ป่วยเหล่านี้ได้โดยตรงในอนาคต เป็นการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศในการส่งเสริมทันตสุขภาพ และอาจนำมาสู่การพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่เพื่อป้องกันการเกิดโรคปริทันต์อักเสบต่อไป
มีความรู้สึกอย่างไรบ้างหลังจากที่ได้ทราบว่าได้รับรางวัลนี้
การที่มีองค์กรระดับประเทศเล็งเห็นถึงคุณค่าของงานวิจัยที่ผู้หญิงคนหนี่งตั้งใจทำมาตลอดระยะเวลา 8 ปี รู้สึกทำให้มีกำลังใจและอยากจะต่อสู้ต่อไปเพื่อให้เกิดผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมและประเทศชาติค่ะ
ขอพระขอบคุณคณาจารย์ ทีมงานจากมหาวิทยาลัยมหิดลทุกๆคน และ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยในสาขา Life Science และ ขอบคุณสัตว์ทดลองทุกๆชีวิตที่สละชีวิตนำมาซึ่งความสำเร็จของงานวิจัยค่ะ


