ประวัติโรงเรียนเทคโนโลยีทันตกรรม
โรงเรียนช่างทันตกรรม จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2514 ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ อิศระ ยุกตนันท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะนั้นมอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิงเพ็ญศรี สุทธิสารสุนทร หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ เสนอ “หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม” กำหนดให้เป็นการศึกษา ระดับอุดมศึกษาซึ่งใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปี ต่อจากประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ หรือเทียบเท่า หรือต่อจากโรงเรียนการช่างในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเทียบเท่าประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยได้รับความช่วยเหลือจากแผน โคลัมโบผ่านรัฐบาลสหราชอาณาจักร และได้รับความร่วมมือจากภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ เพื่อนำเสนอสภาการศึกษาแห่งชาติ เมื่อผ่านการพิจารณาจากสภาการศึกษาแห่งชาติ และได้รับการรับรองวุฒิจาก ก.พ. แล้วโรงเรียนช่างทันตกรรมจึงเริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ.2515 โรงเรียนได้รับความร่วมมือด้านการดำเนินการเรียน การสอนจากภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาทันตกรรมชุมชน หน่วยโสตทัศนศึกษา คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กองฟิสิกส์และวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน
จนกระทั่งปี พ.ศ.2522 ความต้องการบุคลากรช่างทันตกรรมจากกระทรวงสาธารณสุขสิ้นสุดลง โรงเรียนช่างทันตกรรมจึงงดรับนักศึกษาเป็นการชั่วคราว ต่อมาในปี พ.ศ.2532 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง จุไร นาคะปักษิณ หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ในขณะนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตช่างทันตกรรม จึงได้นำเสนอโครงการผลิตช่างทันตกรรมใหม่ตามลำดับขั้น จนคณะรัฐมนตรีมีมติให้โรงเรียนช่างทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนหลักสูตรช่างทันตกรรมอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2533 เพื่อสนองนโยบายและความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินต่อเนื่อง ตลอดจนรับร่างนโยบายเพิ่มหลักสูตรต่อเนื่องให้ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม สามารถเรียนต่อจนจบปริญญาตรีได้ เป็นการผลิตช่างทันตกรรมที่มีวุฒิเพื่อทำงานในหน่วยทันตกรรมในประเทศทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนงานทันตสาธารณสุขของประเทศ ต่อมาโรงเรียนงดรับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่าง ทันตกรรมเป็นการชั่วคราวในปีการศึกษา 2549 เพื่อปรับปรุงหลักสูตร และเปิดรับนักศึกษาใหม่อีกครั้งในปีการศึกษา 2551 จนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ.2538 รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์เบ็ญจพจน์ ยศเนืองนิตย์ หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ และประธานคณะกรรมการโรงเรียนช่างทันตกรรม เสนอร่างหลักสูตร เทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม (ต่อเนื่อง 2 ปี) เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี ได้รับการพิจารณาอนุมัติ จากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดลครั้งที่ 286 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 คณะกรรมการพิจารณา กลั่นกรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนะให้ใช้ชื่อ “โรงเรียนเทคโนโลยีทันตกรรม” แทน “โรงเรียนช่างทันตกรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับภาระกิจ ของโรงเรียนซึ่งเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง 2 ปี) แล้ว ทบวงมหาวิทยาลัย ได้พิจารณารับทราบให้ความเห็นชอบหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2541 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2541 และสำนักงาน กพ. มีมติรับรองและรับทราบคุณวุฒิปริญญา อาจบรรจุได้ในอัตราเงินเดือนไม่สูงกว่า ท.3 (หนังสือที่ นร.0708.8/1484 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ในปีการศึกษา 2541 ได้ดำเนินการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก และมีผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรี ชื่อ เทคโนโลยีบัณฑิต (เทคโนโลยีทันตกรรม) ชื่อย่อ ทล.บ. (เทคโนโลยีทันตกรรม) จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกจำนวน 8 คน ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม 2543 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร
ต่อมาในปีการศึกษา 2553 โรงเรียนงดรับนักศึกษา หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม (ต่อเนื่อง 2 ปี) ชั่วคราว เนื่องจากคณะฯ ดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๕๐ พรรษา และเปิดรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2554 กระทั่งปีการศึกษา 2555 โรงเรียนได้งดรับนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม (ต่อเนื่อง 2 ปี) อีกครั้งหนึ่ง เพื่อปรับปรุงหลักสูตรตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558
ปีการศึกษา 2561 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขออนุมัติปิดหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม (ต่อเนื่อง 2 ปี) เนื่องจากไม่สามารถปรับปรุงหลักสูตรได้ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558 สรุปรวมมีผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม (ต่อเนื่อง 2 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 8 รุ่น 71 คน
ปัจจุบันมีหลักสูตรที่โรงเรียนเทคโนโลยีทันตกรรมดำเนินการเรียนการสอน จำนวน 1 หลักสูตร คือ
หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม
รับนักศึกษาปีละประมาณ 15-20 คน ใช้เวลาในการศึกษาตลอดหลักสูตร 2 ปี แต่ไม่เกิน 4 ปี โดยมีโครงสร้างหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2551 ดังนี้
หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 19 หน่วยกิต
หมวดวิชาเฉพาะ 56 หน่วยกิต
หมวดวิชาเลือกเสรี 2 หน่วยกิต
รวม 77 หน่วยกิต
ผู้สำเร็จการศึกษา จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม สามารถบรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานของ กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนในตำแหน่งช่างทันตกรรม หรือประกอบอาชีพอิสระ
ในปีการศึกษา 2551 โรงเรียนเทคโนโลยีทันตกรรมได้รับนักศึกษาชาวกัมพูชาจากโครงการผลิตทันตบุคลากรให้แก่โรงเรียนพระราชทาน และโรงเรียนในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม จำนวน 1 คน ปีการศึกษา 2553 จำนวน 1 คน และมีนโยบายรับต่อเนื่องเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนได้รับนักศึกษาชาวลาว 1 คน จากโครงการความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมพันธกิจการศึกษา การวิจัย และพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ ในประเทศเครือข่ายความร่วมมือทางทันตแพทย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IDCMR) เข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรม
ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาช่างทันตกรรมแล้ว 31 รุ่น จำนวน 411 คน