ประวัติความเป็นมา
คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลได้ก่อตั้งขึ้นมาในปีพุทธศักราช 2511 ภาควิชาทันตกรรมหัตถการเป็นภาควิชาหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ในขณะนั้น โดยรับผิดชอบงานด้านการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และบริการผู้ป่วย ทั้งในสาขาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์ รวมทั้งการส่งเสริมจริยธรรมที่ดีงามแก่นักศึกษา และธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของไทย ต่อมาได้ขยายการสอนหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาได้แก่
• หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก
• หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตทั้งในสาขาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์ โดยมีการแบ่งขอบเขตในด้านการเรียนการสอนและบริหารจัดการทั้งสองสาขาดังนี้
สาขาทันตกรรมหัตถการ
มีขอบเขตงานในด้านการตรวจวินิจฉัยและการป้องกันฟันผุ การรักษาฟันผุ สึกกร่อนและแตกบิ่น การบูรณะฟันด้วยอมัลกัม ทอง และวัสดุอุดสีเหมือนฟัน การปิดช่องฟันห่าง การฟอกสีฟันให้ขาวขึ้น และการทำเคลือบหน้าฟันเพื่อแก้ไขความผิดปรกติของฟัน หรือเพื่อความสวยงาม โดยมีหลักสูตรที่รับผิดชอบโดยตรงได้แก่
• หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ วิชาเอกทันตกรรมหัตถการ
• หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ วิชาเอกทันตกรรมหัตถการ (นานาชาติ)
• หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ วิชาเอกทันตกรรมหัตถการ
นอกจากนี้ มีหลักสูตรที่ร่วมสอนกับภาควิชาอื่น ได้แก่
• หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์
• หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีทันตกรรม
• หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์
สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์
มีขอบเขตงานในด้านการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคของเนื้อเยื่อในฟัน หรือโรคของเนื้อเยื่อรอบปลายรากฟัน ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น กล้องจุลทรรศน์ เครื่องอัลตราโซนิก เป็นต้น รวมทั้งการวางแผนและบูรณะฟันภายหลังการรักษาคลองรากฟันให้สามารถเก็บรักษาฟันไว้ใช้งานได้ และมีความสวยงาม โดยมีหลักสูตรที่รับผิดชอบโดยตรงได้แก่
• หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ วิชาเอกวิทยาเอ็นโดดอนต์
• หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ วิชาเอกวิทยาเอ็นโดดอนต์ (นานาชาติ)
• หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ วิชาเอกวิทยาเอ็นโดดอนต์
• หลักสูตรการฝึกอบรมทันตแพทย์เฉพาะทางระดับวุฒิบัตร สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์ เพื่อฝึกอบรมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์
นอกจากนี้ มีหลักสูตรที่ร่วมสอนกับภาควิชาอื่น ได้แก่
• หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์
• หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ในด้านการวิจัยได้มีการศึกษาค้นคว้าและทำวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในแง่มุมต่างๆ ให้มีความลึกซึ้งและทันสมัย รวมทั้งการพัฒนาเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์และใช้ในวงการทันตแพทย์ เช่น แผ่นยางกั้นน้ำลาย เป็นต้น
ปรัชญา
ผลิตทันตบุคลากร พร้อมสั่งสอนคุณธรรม
วิชาการก้าวล้ำ เป็นผู้นำของสาขา
วิจัยองค์ความรู้ พัฒนาสู่คุณค่า
บริการปวงประชา ให้สุขาโดยทั่วกัน
ปณิธาน
มุ่งผลิตทันตบุคลากร บริการวิชาการ และพัฒนางานวิจัยสู่ความเป็นเลิศ ทั้งคุณภาพและคุณธรรม
วิสัยทัศน์
ภาควิชาทันตกรรมหัตถการ สามารถจัดการเรียนการสอน และบริการได้อย่างมีคุณภาพ เป็นเลิศทางวิชาการในสาขาวัสดุทันตกรรมบูรณะ ทันตกรรมหัตถการ และวิทยาเอ็นโดดอนต์ ในระดับประเทศและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
วัตถุประสงค์
1. ผลิตบัณฑิต และทันตบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในสาขาทันตกรรมหัตถการ และวิทยาเอ็นโดดอนต์ ที่มีมาตรฐานในระดับสากล เพื่อรับใช้สังคมอย่างมีคุณภาพ และคุณธรรม
2. ให้บริการประชาชนโดยถ้วนหน้าในด้านทันตกรรมบูรณะ และงานรักษาคลองรากฟันด้วยวัสดุ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานเป็นที่ ยอมรับ และอย่างเป็นธรรม
3. ส่งเสริมการวิจัยในด้านทันตวัสดุ วิธีการ รวมทั้งเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบูรณะฟัน และการรักษาคลองรากฟัน เพื่อพัฒนาวิชาการและสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน การบริการ และแก้ไขปัญหาของประเทศ
4. เผยแพร่ความรู้ให้แก่หน่วยงาน บุคลาการทางทันตแพทย์และประชาชนให้เกิดประโยชน์ในด้านการพึ่งตนเอง และพัฒนาสุขภาพช่องปากให้ดีขึ้น
5. ส่งเสริมบุคลากรของภาควิชาและคณะทันตแพทยศาสตร์ มีความสามัคคี มีบุคลิกภาพ จริยธรรม และสุขภาพที่ดี รวมถึงสามารถร่วมกันธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ประจำชาติไทย
พันธกิจ
1. จัดการเรียนการสอนทางด้านทันตกรรมหัตถการ และวิทยาเอ็นโดดอนต์ เพื่อผลิตบัณฑิตและทันตบุคลากรที่มีคุณภาพ และคุณธรรมออกไปรับใช้ และแก้ไขปัญหาให้สังคม
2. ให้บริการแก่ประชาชนด้วยวัสดุ และวิธีการที่ทันสมัย มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และอย่างเป็นธรรม
3. วิจัยเพื่อพัฒนาวิชาการ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ สามารถนำมาประยุกต์ ใช้ในด้านการเรียนการสอน การบริการ และแก้ไขปัญหาของประเทศ
4. เป็นแหล่งวิชาการที่จะให้บริการและเผยแพร่วิชาการ แก่หน่วยงาน บุคลากร ทางทันตกรรม และประชาชน
5. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ประจำชาติไว้