อ.ทพ.คมสัน ลาภาอุตย์

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

8 ข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติก่อนการรักษาทางทันตกรรม

ควรแปรงฟันให้สะอาดก่อนที่จะพบกับทันตแพทย์
ผู้ป่วยหลายๆ คนอาจจะเตรียมตัวมาแล้วในเบื้องต้น
เพราะอาจจะเกิดจากความไม่มั่นใจ อาย กลัวว่ามีกลิ่นปาก
หรือกลิ่นบุหรี่ ผู้ป่วยที่เตรียมตัวมาแล้วจะมีข้อดีอีกข้อคือทันตแพทย์
จะได้ตรวจและประเมินด้วยว่าถ้าผู้ป่วยแปรงอย่างดีที่สุดแล้ว
ยังมีตำแหน่งไหนที่ผู้ป่วยยังแปรงไม่สะอาดอีก
ทันตแพทย์ก็จะได้แนะนำคนไข้ได้ถูกต้อง

ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
โรคหัวใจหรือตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบและ
ควรจะนำใบรับรองแพทย์หรือยาติดตัวมาด้วยเพราะในหลายๆ
กรณีของการรักษาทางทันตกรรมจำเป็นต้องดูว่าผู้ป่วยมีโรคทางระบบ
หรือได้รับยาอะไรอยู่บ้าง ทันตแพทย์จะได้ประเมินแผนการรักษา
ทางทันตกรรมในเบื้องต้นเป็นกรณีไปว่ามีผลต่อการรักษาทางทันตกรรมหรือไม่

ผู้ป่วยที่มีฟันเทียม
ควรนำฟันเทียมติดตัวมาด้วยเพราะจะได้ตรวจทั้งสุขภาพ
ของฟันธรรมชาติและสภาพของฟันเทียมที่ใส่ทดแทน
ดูการถอด การใส่ การยึดติดดูว่ามีกระดกหรือขยับเวลาที่พูดหรือไม่
ใส่ฟันเทียมแล้วเจ็บไหม

กรุณาแต่งกายให้เหมาะสม
ในสุภาพสตรีอาจจะแต่งกายให้มิดชิด
เพราะถ้าผู้ป่วยใส่เสื้อคอกว้างหรือกระโปรงสั้นๆ
อาจจะดูไม่เหมาะสมและอาจจะไม่สะดวก
แก่การเคลื่อนไหวร่างกายในการรักษาทางทันตกรรม

แต่งหน้าหรือทาลิปสติกบางๆ
ผู้ป่วยจะเลือกแต่งหน้าทาลิปสติกสีที่ชอบมาจากบ้าน
แล้วค่อยเช็ดออกหรืออาจจะทำฟันเสร็จแล้วค่อยเข้าห้องน้ำ
แต่งหน้าทาปากสวยๆ ดีกว่า เพราะการทาลิปสติก
จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนตัวฟันและเครื่องมือของทันตแพทย์
หรือบางทีก็จะมีผลต่อการรักษา
เช่น การเทียบสีของวัสดุอุดฟันหรือในการทำฟันเทียมต่างๆ

กรุณาปิดเครื่องมือสื่อสารหรือปิดเสียง
ในการใช้โทรศัพท์อยากให้เป็นมารยาทร่วมกัน
ของทั้งผู้ป่วยและญาติรวมทั้งทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์
ขอความร่วมมือผู้ป่วยช่วยปิดเสียงโทรศัพท์
เพราะทั้งทันตแพทย์และผู้ป่วยก็อยากจะให้การรักษาทางทันตกรรมรวดเร็ว
และราบรื่นหรือถ้ามีธุระจริงๆ อาจรอไว้ทำฟันให้เสร็จก่อนค่อยคุยจะดีกว่า

การวางแผนนัดหมาย นัดหมายล่วงหน้า
ถ้าจะให้ดีที่สุดควรจะติดต่อทำการนัดหมายล่วงหน้ามาก่อน
ซึ่งจะช่วยให้ทันตแพทย์วางแผนและควบคุมเวลา
ทั้งในแง่ของการให้การรักษา การเดินทางหรือกิจธุระอื่นๆ
ของผู้ป่วยไม่ใช่รอให้มีอาการหรือมีปัญหาก่อนแล้วค่อยมาฉุกเฉิน
ทุกอย่างอาจจะวุ่นวาย การรักษาอาจจะไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร

ในกรณีคนไข้เด็ก
ผู้ปกครองควรพาเด็กมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
ก่อนจะมีอาการเจ็บปวดในช่องปาก เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกดีๆ
มาทำความคุ้นเคยกับทันตแพทย์กับเก้าอี้ทำฟันก่อน
และไม่ควรปลูกฝังทัศนคติที่ไม่ดีด้วยการขู่ว่า “เดี๋ยวจะให้หมอฉีดยานะ”
“เดี๋ยวจะให้หมอถอนฟันนะ” ข้อดีคือเด็กจะไม่เกิดความกังวล
ไม่เกิดความกลัวในการรักษาทางทันตกรรม การรักษาก็จะไม่ยุ่งยาก
ซับซ้อน ไม่เจ็บ ไม่แพง ไม่เสียเวลา ในขณะเดียวกัน
ถ้าปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานของท่านมีฟันผุ
จนกระทั่งปวดแล้วค่อยมาหาทันตแพทย์ การรักษาในวันนั้นๆ ก็จะเจ็บ
มีค่าใช้จ่ายที่สูง และสุดท้ายก็ทำให้เด็กเกิดความกลัวในการมารักษาทางทันตกรรม
เมื่อรับการรักษาเสร็จเรียบร้อย ผู้ป่วยควรดูแลปฏิบัติตน
เพื่อเป็นการป้องกันโรคในทุกๆ วัน ซึ่งเป็นการรักษาที่ดีที่สุด
และควรมาพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ตาม
เพราะจะเป็นผลดีต่อตัวท่านเอง ทั้งสุขภาพช่องปากที่ดีและประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

clear formPost comment