Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

การดูแลสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์

การดูแลสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์

เมื่ออายุครรภ์ 4 – 6 เดือน 
ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและทำความสะอาดช่องปาก ไม่ควรรอจนกระทั่งมีอาการ

 

แปรงฟันให้สะอาด 
อย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ นาน 2 นาที ร่วมกับการทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน

 

หลังอาเจียนจากการแพ้ท้องหรือทานอาหารเปรี้ยว 
ควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าทุกครั้ง

 

หลีกเลี่ยง 
การกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน นมเปรี้ยว

 

เมื่อสุขภาพช่องปากไม่ดีขณะตั้งครรภ์จะส่งผลต่อลูกอย่างไร

 

ภาวะโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ

เกิดจากการดูแลทำความสะอาดช่องปากไม่เพียงพอ อาจจะทำให้เกิดภาวะ “คลอดก่อนกำหนด” หรือ “น้ำหนักตัวแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์” ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อลูกน้อยตามมา เช่น มีอัตราการเสียชีวิตแรกคลอดและอัตราการเจ็บป่วยสูง มีโอกาสที่ทารกจะมีความผิดปกติแต่กำเนิด ได้แก่ ความผิดปกติของระบบหายใจ สมอง และพัฒนาการ

 

การกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง

– มารดาเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเป็นเบาหวานในอนาคตและมีภาวะแทรกซ้อนทั้งขณะตั้งครรภ์และจากการคลอด เช่น ครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด
– ลูกมีโอกาสน้ำหนักแรกคลอดมากและภาวะหายใจเร็วในทารกแรกคลอดได้

ผศ.ทพญ. กันยวัชร์ รัตนสุวรรณ

ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปากและปริทันตวิทยา

อุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากมีอะไรบ้าง ?

อุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากมีอะไรบ้าง ?

อุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปาก แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

– อุปกรณ์หลักในการทำความสะอาดช่องปาก หมายถึง อุปกรณ์ที่เราทุกคนต้องใช้เป็นหลัก จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ ได้แก่ แปรงสีฟัน และไหมขัดฟัน
– อุปกรณ์เสริมในการทำความสะอาดช่องปาก หมายถึง อุปกรณ์ช่วยเสริมในการทำความสะอาด ในกรณีที่มีฟันบางตำแหน่งที่ยากในการเข้าถึง อาจไม่จำเป็นต้องใช้ทุกคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะช่องปากของแต่ละคน อุปกรณ์เสริมเหล่านี้ ได้แก่ แปรงซอกฟัน แปรงกระจุก ซูเปอร์ฟลอสส์ เข็มร้อยไหมขัดฟัน เป็นต้น

 

1. แปรงสีฟัน (Toothbrush)

แปรงสีฟันเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดฟันและลิ้น มี 2 ประเภทหลักๆ คือ แปรงสีฟันธรรมดา และแปรงสีฟันไฟฟ้า

 

จะเลือกแปรงสีฟันแบบใดจึงจะดี

เลือกแปรงสีฟันที่มีขนาดของแปรงพอเหมาะกับช่องปาก สามารถทำความสะอาดเข้าถึงได้ทุกบริเวณทั่วช่องปาก ด้ามแปรงตรง จับถนัดมือ ขนแปรงทำจากไนลอน ชนิดนุ่ม หน้าตัดตรง ขนแปรงแต่ละเส้นมีการมนปลายเพื่อไม่ให้ปลายคมขรุขระ และไม่ว่าแปรงสีฟันธรรมดาหรือแปรงสีฟันไฟฟ้า ก็สามารถทำความสะอาดฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันหากใช้อย่างถูกวิธี เราควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ อีกทั้งควรเปลี่ยนแปรงทุก 3 – 4 เดือน หรือเมื่อขนแปรงเริ่มบาน

2. ไหมขัดฟัน (Dental floss)

ไหมขัดฟัน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดบริเวณซอกฟันได้ดีที่สุด พึงระลึกไว้เสมอว่า การแปรงฟันอย่างเดียว ไม่สามารถทำความสะอาดซอกฟันได้หมดจด จะต้องใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย โดยใช้ไหมขัดฟันหลังจากแปรงฟันเสร็จแล้วทุกครั้ง ไหมขัดฟันเหมาะสำหรับผู้ที่มีช่องว่างระหว่างฟันแคบ ส่วนผู้ที่มีช่องว่างระหว่างฟันกว้าง หรือฟันอยู่ห่างกันมาก อาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยทำความสะอาดซอกฟันอื่นๆ ร่วมด้วย

3.ด้ามยึดไหมขัดฟัน

ด้ามยึดไหมขัดฟัน เป็นอุปกรณ์ช่วยยึดไหมขัดฟัน ทดแทนการใช้นิ้วมือควบคุมไหมขัดฟันโดยตรง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดในการใช้ไหมขัดฟันทั่วไป ผู้ที่มีปัญหาในการควบคุมนิ้วมือ หรือผู้ที่อ้าปากได้จำกัด ด้ามยึดนี้จะช่วยให้ไม่ต้องใช้นิ้วเข้าไปในปากเพื่อควบคุมไหมขัดฟัน

 

4.แปรงซอกฟัน (Interdental brush or interproximal brush)

แปรงซอกฟัน เป็นอุปกรณ์ช่วยทำความสะอาดซอกฟันในผู้ที่มีช่องว่างระหว่างฟันเกิดขึ้น เนื่องจากเหงือกร่นหรือผิวฟันบริเวณซอกฟันมีส่วนคอด นอกจากนี้ยังใช้ทำความสะอาดใต้เครื่องมือจัดฟัน แปรงซอกฟันมีหลายขนาด ให้เลือกที่ขนาดใหญ่กว่าช่องว่างระหว่างฟันเล็กน้อย เพื่อการทำความสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.แปรงกระจุก (End tuff brush or single tuff brush)

แปรงกระจุก เหมาะสำหรับฟันที่อยู่เพียงซี่เดียว ไม่มีฟันประชิด ซึ่งเราต้องการทำความสะอาดโดยรอบซี่ฟัน หรือใช้ทำความสะอาดฟันซี่ท้ายสุดของแถว ฟันที่เกและเรียงซ้อนกัน ทำความสะอาดรอบรากเทียม (Dental implant) หรืออาจใช้ทำความสะอาดบริเวณใต้ลวดจัดฟันก็ได้

6.เข็มร้อยไหมขัดฟัน (Floss threader)

เข็มร้อยไหมขัดฟันทำจากพลาสติก ด้านหนึ่งเป็นห่วงสำหรับร้อยไหมขัดฟัน อีกด้านหนึ่งมีลักษณะเป็นปลายแหลม เพื่อช่วยนำไหมขัดฟันเข้าทำความสะอาด โดยเฉพาะบริเวณใต้สะพานฟัน ฟันที่เชื่อมกัน (Splinted teeth) หรือซอกฟันที่ติดเครื่องมือจัดฟัน

7.ซูเปอร์ฟลอสส์

อุปกรณ์ชนิดนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ก้านพลาสติก ส่วนฟองน้ำ และส่วนไหมขัดฟันปกติ ซูเปอร์ฟลอสส์สามารถใช้ทำความสะอาดโดยใช้ส่วนก้านพลาสติกร้อยใต้สะพานฟัน ฟันที่เชื่อมกัน หรือซอกฟันที่ติดเครื่องมือจัดฟัน แล้วใช้ส่วนฟองน้ำทำความสะอาดใต้สะพานฟัน ส่วนไหมขัดฟันปกติใช้ทำความสะอาดซอกฟันอื่นๆ

อ.ทพญ. วิชุรัตน์ สกุลภาพทอง

ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปากและปริทันตวิทยา

โรคปริทันต์อักเสบ

โรคปริทันต์อักเสบ คืออะไร

โรคปริทันต์อักเสบ คือ โรคที่มีการอักเสบของอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกทำลายไปอย่างช้า ๆ ทุกวันจนต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด โรคนี้ภาษาชาวบ้านเรียกว่า โรครำมะนาด มีความรุนแรงมากกว่าโรคเหงือกอักเสบ

 

อาการของโรคปริทันต์อักเสบมีอาการอย่างไรบ้าง

โรคปริทันต์อักเสบ เป็นโรคเรื้อรังที่มีการทำลายเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกเบ้าฟันอย่างต่อเนื่องโดยเราไม่รู้ตัว อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกได้คือเหงือกบวม มีเลือดออกภายหลังการแปรงฟัน เจ็บเหงือกเวลาเคี้ยวอาหารในบางครั้ง ฟันโยก มีเหงือกบวมเป็นหนองในกรณีที่เป็นโรครุนแรงมาก ๆ มีกลิ่นปาก ฟันยื่นยาวหรือแยกกันเกิดเป็นช่องว่างระหว่างฟัน เคี้ยวอาหารไม่ได้จนต้องมาให้ทันตแพทย์ถอนออก

 

สาเหตุของโรคปริทันต์อักเสบคืออะไร

สาเหตุหลักของการเกิดโรคนี้คือ คราบจุลินทรีย์ที่มากับอาหารที่เราทานและน้ำลาย เชื้อแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์เหล่านี้จะสร้างสารพิษมาย่อยเหงือกและกระดูกเบ้าฟันของเรา นอกจากนี้ยังมีสาเหตุรองที่ทำให้โรคลุกลามมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ เป็นต้น

 

การรักษาและการป้องกันโรคปริทันต์อักเสบ มีวิธีอย่างไร

การรักษาโรคปริทันต์อักเสบคือการกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้รวมทั้งกำจัดแหล่งอาศัยของเชื้อแบคทีเรีย ด้วยการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันทั้งที่อยู่เหนือเหงือกและใต้ขอบเหงือก เพื่อให้ร่างกายมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไป แต่เนื่องจากสาเหตุของโรคนี้กลับมาสะสมใหม่ทุกวันเมื่อเราทานอาหาร ดังนั้นการป้องกันโรคคือการดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดทุกวันด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ

 

โรคปริทันต์อักเสบ สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า โรคนี้มีการทำลายทั้งเนื้อเยื่อและกระดูก ร่างกายไม่สามารถสร้างกลับมาเหมือนเดิมได้ รวมทั้งสาเหตุของโรคกลับมาใหม่ทุกวัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เป็นแล้วเป็นตลอดชีวิตไม่มีวันหายขาด การขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันไม่ใช่วิธีการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำความสะอาดฟันโดยทันตแพทย์ การรักษาและป้องกันโรคที่ยั่งยืนเพื่อไม่ให้โรคกลับมาเป็นใหม่ได้เร็วคือการดูแลทำความสะอาดฟันให้ดีอย่างเคร่งครัดทุกวันเพื่อคงสภาพของเหงือกและกระดูกที่เหลืออยู่ให้มีสุขภาพที่ดีตลอดไป การแปรงฟันให้สะอาดในวันพรุ่งนี้ไม่สามารถมาทดแทนการถูกทำลายในวันนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงควรหันมาดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้และควรพบทันตแพทย์ทุก ๖ เดือนเพื่อรับคำแนะนำและการดูแลอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นอาจจะสายเกินแก้และมาเสียใจในภายหลัง

รศ.ทพ. ยสวิมล คูผาสุข

ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปากและปริทันตวิทยา