Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

รู้ …. ก่อนจัดฟัน

รู้ …. ก่อนจัดฟัน

การจัดฟัน คืออะไร

การจัดฟัน คือ งานสาขาหนึ่งทางทันตกรรมที่ให้การรักษาความผิดปกติของการเรียงตัวของฟันและการสบฟันในช่องปาก โดยการจัดฟันจะมีการเคลื่อนที่ของฟันไปยังตำแหน่งใหม่ เพื่อเรียงฟันให้ดีขึ้นและอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม นอกจากนี้ทันตแพทย์จัดฟันจะทำการวิเคราะห์ วินิจฉัย วางแผนป้องกัน และรักษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งและขนาดของขากรรไกร ตลอดจนความสัมพันธ์ของขากรรไกรกับใบหน้าด้วย

ทำไมจึงต้องจัดฟัน

การจัดฟันเป็นการให้การรักษาเพื่อให้ฟันมีการเรียงตัวที่ตรงขึ้น มีการสบฟันที่ดีขึ้น เพื่อให้การบดเคี้ยวอาหาร มีประสิทธิภาพ อาจลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดฟันผุหรือโรคเหงือก อันเนื่องมาจากความลำบากในการทำความสะอาดฟันและเหงือกในบริเวณที่ฟันเรียงตัวผิดปกติและซ้อนเก และยังอาจช่วยเสริมบุคลิกภาพจากการที่มีฟันเรียงกันสวยงามด้วย

ควรจัดฟันเมื่ออายุเท่าไหร่

การจัดฟันเป็นการที่ทันตแพทย์จัดฟันเคลื่อนที่ฟันไปที่ตำแหน่งใหม่ ในระหว่างการเคลื่อนที่ของฟัน กระดูกที่รองรับฟันและที่อยู่รอบๆ รากฟันจะมีการทำลายและมีการสร้างตัวใหม่ ดังนั้นในผู้ป่วยเด็กจะมีความสามารถของกระบวนการสร้างเสริมกระดูกรอบๆ รากฟัน รวดเร็วและดีกว่าในผู้ป่วยผู้ใหญ่ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยเด็กที่ฟันน้ำนมหลุดออกไปหมดแล้ว เริ่มมารับการรักษาทางการจัดฟัน ซึ่งผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้จะมีอายุประมาณ 11-12 ปี แล้วแต่บุคคล โดยในผู้ป่วยเด็กจึงมักจะใช้เวลาในการรักษาน้อยกว่าในผู้ป่วยผู้ใหญ่ สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ไปพบทันตแพทย์เด็กสม่ำเสมอ จะได้รับการตรวจดูแลสภาพช่องปากเป็นประจำ และเมื่อทันตแพทย์เด็กตรวจพบความผิดปกติใดๆ ของการสบฟัน ก็จะมีการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อขอรับคำแนะนำจากทันตแพทย์จัดฟันต่อไป

 

การเตรียมตัวก่อนจัดฟัน

การมีเครื่องมือจัดฟันติดอยู่บนผิวฟัน เมื่อรับประทานอาหารก็จะมีเศษอาหารติดที่เครื่องมือจัดฟันและระหว่างเครื่องมือกับผิวฟันได้ง่ายขึ้น ก่อนการติดเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น ทันตแพทย์จัดฟันจะส่งตัวผู้ป่วยให้ไปทำ ความสะอาดช่องปากโดยการขูดหินปูน รวมถึงการอุดฟันที่ผุทั้งช่องปากให้เรียบร้อยก่อนมาติดเครื่องมือจัดฟัน เพราะถ้าผู้ป่วยมีฟันผุและดูแลสภาพช่องปากของตนเองได้ไม่ดี การติดเครื่องมือติดแน่นในช่องปากจะทำให้การผุลุกลามรวดเร็วขึ้นและโรคเหงือกจะเป็นรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดเหงือกอักเสบมาก

การดูแลสุขภาพช่องปากระหว่างการจัดฟัน

การรับประทานอาหารแต่ละครั้ง จะมีเศษอาหารติดที่เครื่องมือและที่รอยต่อระหว่างเครื่องมือจัดฟันและผิวฟันได้ง่าย ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องดูแลทำความสะอาดฟันและเหงือกของตนเองให้ดีกว่าการดูแลฟันปกติ คือ ต้องแปรงฟันหลังการรับประทานอาหารทุกครั้ง ให้ใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ได้แก่ แปรงซอกฟันขนาดเล็ก โดยหลังจากการแปรงฟันปกติ ต้องใช้แปรงซอกฟันขนาดเล็กทำความสะอาดที่รอบๆ ฐาน bracket และตรงรอยต่อที่ติดกับผิวฟันด้วย ต้องใช้ไหมขัดฟัน โดยให้ร้อยไหมขัดฟันเข้าไปใต้ลวดจัดฟันและทำความสะอาดที่ซอกระหว่างฟันด้วย

หลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป

หลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นแล้ว ยังต้องใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน (Retainers) ซึ่งเป็นเครื่องมือแบบถอดได้ต่อไป โดยให้ใส่ตลอดเวลาทั้งวันและใส่ตอนนอน ถอดออกเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารและแปรงฟัน อย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นให้ใส่เครื่องมือคงสภาพฟันเฉพาะตอนนอน อีกประมาณ 2 – 3 ปี เพื่อให้ฟันที่ได้จัดเรียบร้อยแล้วคงสภาพเรียงตรงอยู่ได้

ผศ.ดร.ทพญ. ศศิภา ธีรดิลก

ภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง

ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม

ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม

ทันตกรรมเพื่อความสวยงามมีกี่ประเภท ?

โดยหลักๆ จะมีอยู่ 4 แบบ คือ การฟอกสีฟัน เพื่อทำให้ฟันขาวขึ้น การทำวีเนียร์หรือเคลือบฟันเทียม เพื่อปรับรูปร่างและขนาดของฟันให้เหมาะสม การทำครอบฟัน มีการเรียงตัวที่ผิดปกติไปมาก ทำในฟันที่ได้รับการรักษารากฟันไปแล้ว การอุดฟันด้วยวัสดุอุดสีเหมือนฟัน ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่รวมการจัดฟัน

 

การฟอกสีฟันคืออะไร ?

คือการนำสารเคมีจำพวกเปอร์ออกไซด์ทาไปบนตัวผิวฟันเพื่อให้ฟันเกิดการแตกตัวของเม็ดสี ทำให้สีของฟันขาวขึ้น โดยทั่วไปแบ่งออกไป 2 ลักษณะคือ การฟอกด้วยตัวเองที่บ้าน หรือที่เรียกว่า Home Bleaching และการฟอกโดยทันตแพทย์ ที่เรียกว่า       In-Office Bleaching โดย  Home Bleaching ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากของคนไข้ แล้วก็ส่งไปทำถาดฟอกสีฟันเฉพาะบุคคล ซึ่งถาดฟอกสีฟันเฉพาะบุคคลก็จะใส่ร่วมกับสารฟอกสีฟัน ส่วนวิธี In-Office Bleaching ทันตแพทย์ก็จะทำการทาสารลงไปบนตัวฟันทิ้งไว้ โดยที่มีการกระตุ้นให้สารตัวนี้ทำงานโดยใช้แสงสีฟ้าหรือแสงเลเซอร์ ทำการฟอกประมาณ 2 – 4 ชั่วโมง แต่วิธีนี้จะทำให้ฟันขาวเร็วขึ้น แต่ความเสถียรของความขาวมีอยู่ค่อนข้างน้อย ทันตแพทย์จึงนิยมใช้วิธี In-Office Bleaching ร่วมกับการทำ Home Bleaching

 

การเคลือบผิวฟันคืออะไร ?

การเคลือบผิวฟันหรือทำวีเนียร์ ทันตแพทย์ก็จะทำการประเมินแล้วกรอแต่งฟัน โดยการกรอแต่งฟัน ทันตแพทย์จะกรอฟันให้น้อยที่สุด ทำการพิมพ์ปากแล้วส่งไปให้แลบ แลบก็จะทำเป็นชิ้นงานส่งมาให้ทันตแพทย์เพื่อที่จะยึดกลับไปในคนไข้  โดยชิ้นงานจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ คอมโพสิตหรือเซรามิค ซึ่งความคงตัวของเซรามิคจะมีสูงกว่า ค่าใช้จ่ายก็จะแพงกว่าแบบคอมโพสิต

การครอบฟันคืออะไร ?

ทันตแพทย์จะทำครอบฟันในกรณีที่มีการสูญเสียเนื้อฟันไปมาก และมีการรักษารากฟันเกิดขึ้นในฟันหน้า โดยทันตแพทย์จะทำการกรอแต่งฟันในทุกด้าน และทำการพิมพ์ปากเพื่อส่งแลบให้สร้างตัวครอบฟันมาใส่ให้กับคนไข้

การอุดด้วยวัสดุอุดฟันสีเหมือนฟันคืออะไร ?

จะเป็นการซ่อมแซมเฉพาะส่วนของฟันที่มีการแตกหักและบิ่นไปเล็กน้อย สามารถอุดเติมขึ้นมา โดยใช้วัสดุเรซิ่นคอมโพสิต แล้วก็ทำการฉายแสงเพื่อให้วัสดุอุดฟันเซ็ตตัว ทำในกรณีที่วัสดุมีการแตกหัก เสียหายหรือว่าตัวฟันมีการบิ่นไปเล็กน้อย

อ.ทพ.ปริญญา อมรเศรษฐชัย

ภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง

มารู้จักฟันเทียมกันเถอะ

มารู้จักฟันเทียมกันเถอะ

ฟันเทียมคืออะไร….

ฟันเทียมคือสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว ป้องกันการเกิดปัญหาการล้มเอียงของฟันข้างเคียง การยื่นยาวของฟันคู่สบ ปัญหาข้อต่อขากรรไกร ช่วยในเรื่องการออกเสียงและความสวยงาม ชนิดของฟันเทียมแบ่งออกได้เป็น

ฟันเทียมชนิดถอดได้

หมายถึงสิ่งประดิษฐ์ซึ่งใช้ทดแทนฟันหนึ่งซี่ หรือมากกว่า ได้แก่ ฟันเทียมบางส่วนถอดได้ และ ฟันเทียมทั้งปาก ผู้ป่วยสามารถใส่หรือถอดฟันปลอมชนิดนี้ได้ด้วยตนเอง มีทั้งที่ทำจากเรซินอะคริลิก (พลาสติก) และโลหะ ฟันเทียมชนิดถอดได้นี้ อาศัยการยึดกับตัวฟันด้วยตะขอ หรือความแนบสนิทของฐานฟันเทียมกับเนื้อเยื่อในช่องปาก

ฟันเทียมชนิดติดแน่น

คือสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้บูรณะฟันในกรณีที่มีการสูญเสียเนื้อฟันบางส่วนเนื่องมาจากรอยผุ หรือฟันแตกหักได้แก่ ครอบฟัน หรือกรณีที่ใช้ทนแทนฟันที่หายไป ได้แก่ สะพานฟันติดแน่น ซึ่งจะติดแน่นอยู่กับฟันที่เหลืออยู่ในช่องปาก ในการเตรียมฟันเพื่อทำสะพานฟันติดแน่นนั้นจะต้องมีการกรอแต่งฟันซี่ข้างเคียงที่ติดอยู่กับช่องว่างด้วย  วัสดุที่ใช้ทำครอบฟันหรือสะพานฟันนั้นอาจทำมากจากโลหะล้วน โลหะเคลือบกระเบื้องสีเหมือนฟัน หรือ ทำจากกระเบื้องล้วนไม่มีส่วนผสมของโลหะ

ทั้งนี้ฟันเทียมยังหมายรวมถึงรากเทียม (รูปที่3) ซึ่งเป็นวัสดุโลหะที่มีรูปร่างคล้ายรากฟัน นำเข้าไปฝังไว้ในกระดูกขากรรไกร ทดแทนรากฟันที่หายไป จากฟันที่ถูกถอนออกไป ใช้ร่วมกับฟันเทียมแบบถอดได้ หรือฟันเทียมแบบติดแน่น

มีวิธีดูแลรักษาฟันเทียมอย่างไร….

ฟันเทียมทั้งแบบติดแน่น และแบบถอดได้ ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการรักษาสุขอนามัยที่ดีของช่องปาก

กรณีฟันเทียมแบบติดแน่นนั้น จะต้องให้การดูแลเหมือนฟันธรรมชาติคือ แปรงฟันอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้เครื่องมือช่วยอื่น เช่น ไหมขัดฟัน ทั้งนี้ ฟันที่ทำครอบฟันหรือสะพานฟันติดแน่นแล้วนั้น ยังสามารถเกิดรอยผุต่อได้ ซึ่งหากรอยผุลุกลาม จำเป็นต้องให้การรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น ใช้ระยะเวลาในการรักษาและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น วิธีการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันกรณีฟันเทียมติดแน่นนั้น ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์เพื่อให้ใช้ได้อย่างถูกวิธี

ฟันเทียมชนิดถอดได้ ผู้ป่วยควรถอดออกทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร และก่อนนอน ในการทำความสะอาดฟันเทียมถอดได้ ควรใช้แปรงสีฟันขนนิ่มร่วมกับน้ำสบู่อ่อนหรือยาสีฟันชนิดที่ไม่มีผงขัดผสมอยู่มากเกินไป แปรงทำความสะอาดทั้งด้านนอกและด้านในของฟันเทียม เวลาทำความสะอาดจะต้องมีภาชนะใส่น้ำรองรับอยู่ข้างใต้เสมอ กรณีที่ฟันเทียมพลาดตกจากมือจะได้ไม่แตกหักหรือบิดเบี้ยว  ฟันเทียมควรได้รับการถอดออกในตอนกลางคืนหรือตอนนอน เพื่อป้องกันการเกิดเนื้อเยื่อในช่องปากอักเสบ เมื่อถอดฟันเทียมออกแล้วให้ทำความสะอาดแล้วแช่น้ำในภาชนะมีฝาปิด ส่วนฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ในช่องปากนั้นก็จำเป็นต้องได้รับการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้ป่วยมักจะทำความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะฟันด้านที่ติดกับช่องไร้ฟัน อาจใช้แปรงอันเล็ก หรือผ้าก็อซร่วมด้วย

การที่ทันตแพทย์จะทำฟันเทียมให้ผู้ป่วยนั้น จะต้องใช้การตรวจวิเคราะห์ เก็บข้อมูล ทั้งแบบพิมพ์ฟัน และภาพถ่ายรังสี นำมาออกแบบฟันเทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย จากนั้นจะต้องเตรียมช่องปากเพื่อให้พร้อมสำหรับการใส่ฟัน นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนของการประดิษฐ์ฟันเทียมในห้องปฏิบัติการที่ซับซ้อน เป็นเหตุให้อาจจะใช้ระยะเวลานานกว่าที่ผู้ป่วยจะได้รับฟันเทียม หลังจากใส่ฟันเทียมไปในครั้งแรกนั้น อาจมีอาการผิดปกติหรือมีอาการเจ็บเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยจะต้องกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อรับตรวจแก้ไข จนผู้ป่วยใช้งานฟันเทียมได้ดีขึ้น

ฟันเทียมนั้นถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทนแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป แต่หากไม่ใส่ใจดูแลใช้งานฟันเทียมอย่างเหมาะสม อาจทำให้สูญเสียฟันธรรมชาติที่มีอยู่แทนได้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความสะอาด และหมั่นกลับมารับการตรวจจากทันตแพทย์เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ

อ.ทพญ.ธารี จำปีรัตน์

ภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง