ความผิดปกติของการสบฟันในผู้ป่วยวัยเด็ก
การสบฟันลึก หมายถึง ระยะเหลื่อมแนวดิ่งที่ฟันหน้ามากกว่า 1/3 ของความสูงของฟันหน้าล่าง สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะฟันน้ำนมและระยะฟันชุดผสม (ช่วงที่ฟันแท้ยังขึ้นไม่ครบและยังมีฟันน้ำนมเหลืออยู่) ในการรักษาจะอาศัยการแก้ไขด้วยเครื่องมือทันตกรรมจัดฟันชนิดถอดได้ หรือเครื่องมือฟังก์ชันนอล เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรล่าง
การสบฟันเปิด ที่พบได้บ่อย มักพบที่ฟันหน้าบนล่างไม่สบกัน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการดูดนิ้ว การกลืนที่ผิดปกติ โดยในการรักษาควรให้ฝึกวางตำแหน่งลิ้นให้กลืนอย่างถูกต้อง ร่วมกับการใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ โดยอาจเป็นเครื่องที่ช่วยในการขยายขากรรไกร หรือเป็นเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น
ฟันสบคร่อม หมายถึง ลักษณะที่ฟันล่างสบคร่อมฟันบน (โดยปกติฟันบนจะสบคร่อมฟันล่าง) พบได้ทั้งในฟันหน้าและฟันหลัง ฟันสบคร่อมควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ด้วยการใส่เครื่องมือถอดได้ที่ติดสปริงหรือสกรูและเพลทเพื่อยกฟันหลัง และสามารถดันฟันที่สบคร่อมออกมา หรืออาจใช้ร่วมกับเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นก็ได้
ฟันซ้อนเก มักพบในระยะฟันชุดผสม ฟันแท้ที่ขึ้นมาทดแทนจะมีขนาดใหญ่กว่าฟันน้ำนมที่หลุดออกไป ฟันจึงขึ้นมาเบียดซ้อนกัน หรือเกิดจากการสูญเสียฟันน้ำนมบางซี่ไปก่อนกำหนด ทำให้ฟันข้างเคียงเคลื่อนที่เข้ามาแทน การรักษาขึ้นอยู่กับการตรวจวินิจฉัยโดยทันตแพทย์ว่าควรทำเลยหรือรอจนฟันแท้ขึ้นจบครบได้
คราวนี้ทุกคนก็พอจะทราบแล้วว่าลักษณะการสบฟันที่ผิดปกติในวัยเด็กเป็นอย่างไร สาเหตุหลักๆ มักมีด้วยกัน 3 ประการ
1. จากการมีลักษณะนิสัยการดูดนิ้ว, การกลืนที่ผิดปกติ ซึ่งเรื่องนี้คุณแม่คุณพ่อก็ต้องดูกันตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ กันเลย
2. การดูแลฟันน้ำนมไม่ถูกต้อง ทำไมต้องดูแลฟันน้ำนมให้ดี เพราะฟันน้ำนมนอกจากจะมีไว้บดเคี้ยวตามธรรมชาต ช่วยในการออกเสียงแล้วยังเป็นผู้ดูแลช่องว่างเตรียมไว้ให้ฟันแท้ที่จะขึ้นมาทดแทนด้วย ถ้าเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาอันควรช่องว่างสำหรับฟันแท้จะมีไม่พอ เกิดปัญหาฟันซ้อนเกตามมาได้
3. สาเหตุจากกรรมพันธุ์ ไม่เพียงแต่มีผลเฉพาะกับฟัน เช่น ลักษณะรูปร่างของฟัน ขนาดฟัน จำนวนฟัน เท่านั้น ยังส่งผลต่อลักษณะของโครงหน้าอีกด้วย เช่น หน้ากลม หน้ารูปไข่ หน้าเหลี่ยม คางสั้น คางยื่น เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมิน วินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมจากทันตแพทย์เฉพาะทางสาขา ทันตกรรมจัดฟัน
อ.ทพ.พงศธร พู่ทองคำ
ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน