Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ความสำคัญของน้ำลาย

ความสำคัญของน้ำลาย

น้ำลายคืออะไร และ ผลิตจากไหน ?

น้ำลาย (Saliva) คือ ของเหลวที่ถูกหลั่งในช่องปาก ถูกผลิตจากต่อมน้ำลายหลัก (Major salivary glands) และต่อมน้ำลายย่อย (Minor salivary glands) ต่อมน้ำลายหลักมีด้วยกัน 3 คู่ มีขนาดใหญ่ และแต่ละคู่มีตำแหน่งแตกต่างกันในช่องปาก ดังนี้

ส่วนประกอบของน้ำลายมีอะไรบ้าง ?

ส่วนประกอบของน้ำลายมนุษย์ ประกอบด้วย น้ำ ถึงร้อยละ 99.5 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 0.5 ประกอบไปด้วย อิเล็กโทรไลท์ (Electrolytes) หรือเกลือแร่ ได้แก่ โซเดียม โปแตสเซียม คลอไรด์ ไบคาร์บอเนทและฟอสเฟต มูกเมือก (Mucus) ประกอบด้วยแป้งและโปรตีน สารต้านเชื้อแบคทีเรีย และเอนไซม์ย่อยอาหารจำพวกแป้ง และไขมัน

 

น้ำลาย มีประโยชน์อย่างไร ?

  1. ก่อให้เกิดความชุ่มชื่นในช่องปาก และป้องกันเนื้อเยื่อในช่องปากจากภยันตรายต่าง ๆ ระหว่างการเคี้ยว การกลืน และการพูดคุย
  2. ช่วยในการย่อยอาหาร น้ำลายช่วยทำให้อาหารมีความนุ่มง่ายต่อการย่อย และยังมีองค์ประกอบของเอนไซม์ Amylase และ Lipase ที่ช่วยในการย่อยอาหารจำพวกแป้ง และไขมัน ตามลำดับ ก่อนส่งต่อไปยังกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก
  3. ช่วยป้องกันฟันผุ โดยน้ำลายทำหน้าที่เป็นสารบัฟเฟอร์จากองค์ประกอบของอิเล็กโทรไลท์ ควบคุมความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมในช่องปาก อยู่ที่ประมาณ pH 6.2 – 7.4 ซึ่งถ้าสมดุลในส่วนนี้ถูกรบกวน เกิดความเป็นกรดที่สูงขึ้น จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดความเป็นด่างที่สูงขึ้น จะมีโอกาสเกิดหินปูนได้มาก ทำให้เกิดโรคปริทันต์
  4. ช่วยในการรับรส โดยส่งเสริมการทำหน้าที่ของปุ่มรับรส เราจะสังเกตเห็นได้ว่าในคนไข้ที่มีน้ำลายน้อย เช่น ผู้สูงอายุ หรือคนไข้ที่ทานยาที่มีผลต่อการลดการหลั่งน้ำลาย มักจะมีการรับรสที่ผิดปกติ
  5. ในน้ำลายมีสารที่ฆ่าเชื้อโรคได้ คือ สารอิมมูโนโกลบูลินเอ (IgA) แลคโตเฟอริน และแลคโตเพอร์ออกซิเดส เวลามีแผลในปาก สารเหล่านี้จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น  ฆ่าเชื้อโรคได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้น้ำลายมีประโยชน์มากมาย แต่ในขณะเดียวกันน้ำลายอาจเป็นส่วนที่แพร่กระจายเชื้อโรค ทำให้เกิดโรคติดต่อจากบุคคลหนึ่งสู่บุคคลหนึ่งได้เช่นกัน เช่น โรคเริม โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น

 

ปริมาณ น้ำลาย/วัน ในมนุษย์

โดยเฉลี่ยมีการศึกษารายงานว่าปริมาณน้ำลายถูกหลั่งอยู่ในช่วง 0.75 – 1.5 ลิตร/วัน และเป็นที่ยอมรับว่าปริมาณน้ำลายจะมีการหลั่งที่น้อยลง หรือหยุดผลิตระหว่างการนอนหลับ หรือในช่วงเวลากลางคืน จึงเป็นสาเหตุให้มีกลิ่นปาก ไม่มีตัวฆ่าเชื้อในช่องปาก

จากที่กล่าวมาข้างต้น น้ำลายมีความสำคัญอย่างมาก ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นต่อการหลั่งน้ำลายที่น้อยลง ด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิเช่น ภาวะสูงอายุ ยาที่มีผลลดการหลั่งน้ำลาย โรคทางระบบ เช่น เบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำลายติดเชื้อ มะเร็งต่อมน้ำลาย ภาวะหลังการรักษามะเร็งที่ศีรษะและลำคออาจจะด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด ซึ่งจะมีผลต่อต่อมน้ำลาย เมื่อต่อมน้ำลายมีความผิดปกติ หลั่งน้ำลายได้น้อย (Hyposalivation) จะส่งผลให้เกิดสภาวะปากแห้ง (Dry mouth / Xerostomia) เสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ในช่องปาก เช่น ฟันผุ โรคเหงือกและปริทันต์อักเสบ แผลอักเสบในช่องปาก กลิ่นปาก ติดเชื้อราในช่องปาก ถึงตอนนี้เราได้เรียนรู้ว่าน้ำลายไม่ใช่แค่ของเหลวธรรมดา ๆ แต่เป็นของเหลวที่ถูกสร้างขึ้นจากร่างกายมีความสำคัญช่วยทำให้เราดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หากเรามีความผิดปกติของน้ำลาย หรืออยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการหลั่งน้ำลายน้อยตามที่อธิบายข้างต้น เราควรจะสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรมีการดูแลเอาใจใส่สุขภาพช่องปากเป็นพิเศษด้วยตนเองจากทันตแพทย์และแพทย์

รศ.ดร.ทพ. ขจรเกียรติ เจนบดินทร์

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์