เว็บไซต์เก่า

คอฟันสึก

โรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร

MU DENT faculty of dentistry

คอฟันสึก

อ.ทพญ. สุธารัตน์ ชัยเฉลิมศักดิ์

โรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คอฟันสึกคืออย่างไร
หลายคนคิดว่า ต้องแปรงฟันแรงๆ จึงจะสะอาด …
หลายคนคิดว่า การแปรงฟันแบบถูไปๆ มาๆ จะสะอาดได้ดี …
หลายคนคิดว่า ต้องใช้แปรงสีฟันแข็งๆ …
เหล่านี้ก่อให้เกิดผลเสียนะคะ เพราะว่าการแปรงฟันแรงๆ การแปรงฟันแบบถูไปๆ มาๆ การใช้แปรงสีฟันแข็ง จะเป็นเครื่องมือช่วยเสริม ให้เกิดการทำลายเนื้อฟัน โดยเฉพาะบริเวณคอฟันได้ เรียกว่า “ฟันสึก” การสึกของฟันที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เกิดการทำลายของชั้นเคลือบฟัน ทำให้ชั้นเนื้อฟันมีส่วนสัมผัสกับสภาพในช่องปาก มีการพบบ่อยที่ฟันกรามน้อยและฟันเขี้ยว เพราะเป็นตำแหน่งที่สัมผัสกับแปรงสีฟันได้ง่ายและพบมากในคนที่ขยันแปรงฟัน

 

สาเหตุของคอฟันสึก

– แปรงฟันผิดวิธี ใช้ขนแปรงแข็งเกินไป
– ใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดมาก หรือมีลักษณะหยาบมากๆ แล้วใช้ประจำคราบที่ติดตัวฟันอาจจะออกง่าย แต่ก็ทำให้คอฟันสึกได้ง่ายเช่นกัน

 

อาการของผู้ที่มีฟันสึก

ถ้าสึกเล็กน้อยจะไม่มีอาการ แต่ถ้าสึกมากขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด เปรี้ยวจัด เย็นจัด หรือเสียวฟันขณะแปรงฟัน ซึ่งหากปล่อยให้ฟันสึกไปเรื่อยๆ โดยไม่รักษา ฟันจะสึกมากขึ้น เข้าไปใกล้โพรงประสาทฟัน ทำให้เปลี่ยนจากเสียวฟันเป็นปวดฟันได้

 

การรักษา

– ถ้าสึกเล็กน้อย ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องรักษา
– ในคนที่ฟันสึกไม่มาก และมีอาการเสียวฟัน หมอจะแนะนำให้ใช้ยาสีฟันชนิดที่มีส่วนผสมของสารลดการเสียวฟัน ซึ่งก็จะใช้ระงับอาการได้เป็นครั้งคราว
– แต่ถ้าสึกมาก ทันตแพทย์ก็จะอุดบริเวณคอฟัน โดยใช้สารที่เรียกว่า Composite Resin หรือ Glass ionomer
– ถ้าสึกถึงโพรงประสาทฟันผู้ป่วยจะมีอาการปวดต้องทำการรักษาคลองรากฟัน แล้วตามด้วยการอุดฟัน หรือครอบฟัน

 
 
 

การป้องกัน

– แปรงฟันด้วยแปรงขนอ่อน แทนขนแปรงแข็งปานกลาง แปรงให้ถูกวิธี แปรงเบาๆ และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ นาน 2 – 3 นาที วันละ 2 – 3 ครั้ง
– ใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีโพแทสเซียมหรือสตรอนเทียม เพื่อลดอาการเสียวฟัน ยาสีฟันที่ช่วยลดเสียวฟันมักจะมี คำว่า ‘sensitive’ = เซนซิทีฟ หรือไวต่อความรู้สึกพิมพ์อยู่ในฉลาก
– ใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟัน ทำความสะอาดบริเวณซอกฟันเป็นประจำ
– ตรวจสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์ทุกๆ 6 – 12 เดือน

 
 
 
 
 

เสียวฟัน

โรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร

MU DENT faculty of dentistry

เสียวฟัน

อ.ทพญ. สุธารัตน์ ชัยเฉลิมศักดิ์

โรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อาการเสียวฟัน เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน จากหลายการวิจัยพบว่า ร้อยละ ๘ – ๕๗ ประสบปัญหาการเสียวฟันอย่างน้อยครั้งหนึ่งหรือมากกว่า เสียวฟันเป็นอาการที่ไม่พึงปรารถนาทําให้เกิดความรําคาญจนยิ้มไม่ออก และวันนี้เรามาทําความรู้จักกับอาการเสียวฟันกัน เพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุแนวทางป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี

 

อาการเสียวฟันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เกิดจากการตอบสนองของเส้นประสาทในฟันที่ไวกว่าปกติต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก อาทิ อาหาร เครื่องดื่มร้อนหรือเย็น รวมไปถึงลม หรือแม้กระทั่งการแปรงฟัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ทําอันตรายต่อเนื้อเยื่อและฟัน โดยปกติฟันของเราจะถูก ปกป้องด้วยเคลือบฟัน (enamel) และเหงือก เมื่อเคลือบฟันของเราสึก แตกออก หรือเหงือกร้นมากขึ้น เนื้อฟัน (dentine) จะถูกเปิดออกให้สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นภายนอกสิ่งเหล่านี้ทําให้เกิดอาการเสียวฟันไดัง่าย

 
 
 

สาเหตุของอาการเสียวฟัน

อาการเสียวฟันเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หากเกิดในวัยเด็กสาเหตุมาจากฟันผุ ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุนั้น อาการเสียวฟันอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น คอฟันสึก โรคปริทันต์ เหงือกร่น ฟันสึก ฟันร้าว ฟันแตก ฟันผุ ฟันผุซํ้าบริเวณฟันที่ได้รับการอุดแล้ว มีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารรสเปรี้ยว เสียวฟันหลังจากได้รับการอุดฟันมาใหม่ๆ หรือ เสียวฟันหลังจากขูดหินปูนมาใหม่ๆ เป็นต้น

 

การรักษาอาการเสียวฟัน

สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติ คือ ปรึกษาทันตแพทย์ วินิจฉัยว่าอาการเสียวฟันนั้นเกิดจากสาเหตุใดเพื่อที่จะได้รักษาอาการตามสาเหตุนั้นๆ

 

๑. เสียวฟันเนื่องจากฟันผุ หรือฟันที่ได้รับการอุดแล้ว จะรักษาด้วยการอุดฟันโดยเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับ ตําแหน่งและขนาดของรอยโรคนั้นๆ อาการเสียวฟันก็จะหมดไป เนื่องจากวัสดุอุดฟันนั้นสามารถปิดท่อเล็กๆ ภายในเนื้อ ฟันได้ทั้งหมด ป้องกันมิให้มีการกระตุ้นต่อท่อเล็กๆ ดังกล่าว ถ้าเสียวฟันหลังจากอุดฟันไปใหม่ๆ อาจเกิดจากวัสดุอุดสูงเกินไป หรือเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของวัสดุอุดบางจุด หรือเป็นผลข้างเคียงจากวัสดุชนิดนั้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นควรกลับไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการแก้ไข กรณีที่อาการเสียวฟันเกิดหลังจากอุดฟันไปนานสักระยะหนึ่งแล้ว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากฟันผุเพิ่มหรือวัสดุอุดฟันชํารุด ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟันใหม่

๒. เสียวฟันเนื่องจากฟันสึก มักเกิดกับผู้ป่วยที่แปรงฟันแรง นาน ใช่ขนแปรงแข็ง หรือแปรงฟันผิดวิธี หากฟันซี่นั้นๆ สึกมากทันตแพทย์จะทําการอุดฟันซี่นั้น ก็สามารถกําจัดอาการเสียวฟันได้ แต่หากฟันสึกไม่มาก ทันตแพทย์ก็จะใช้ฟลูออไรด์ หรือสารลดอาการเสียวฟันซึ่งมีหลายชนิด เช่น ๐.๔% Stannous Fluoride Gel (Gel-Kam) หรือ duraphat เป็นต้น ทาบริเวณนั้น ร่วมกับปรับพฤติกรรมในการแปรงฟันให้ถูกวิธี

 
 
 

๓. เสียวฟันเนื่องจากโรคปริทันต์และเหงือกร่น หากเป็นโรคปริทันต์ควรรับการตรวจรักษาจากทันตแพทย์ ส่วนอาการเสียว ฟันที่เกิดจากเหงือกร่น ทันตแพทย์จะแก้ไขสาเหตุอาจร่วมกับการใช้ฟลูออไรด์ หรือสารลดอาการเสียวฟันซึ่งมีหลายชนิด เช่น ๐.๔% Stannous Fluoride Gel (Gel-Kam) หรือ duraphat เป็นต้น ทาบริเวณนั้นร่วมกับปรับพฤติกรรมในการแปรงฟันให้ถูกวิธี

 
 
 

๔. เสียวฟันเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ฟันร้าว ฟันแตก ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

 

วิธีป้องกันอาการเสียวฟัน

๑. แปรงฟันถูกวิธี ผู้ที่ชอบแปรงฟันแรงๆ และแปรงฟันผิดวิธี มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอาการเสียวฟันมาก วิธีทําความสะอาดฟันที่มีอาการเสียวฟันอย่างมีประสิทธิภาพ ควรใช้แปรงที่ขนอ่อนนุ่มแปรงรอบๆ และใต้แนวเหงือก ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างเหงือกและส่วนบนของซี่ฟัน ไม่ควรแปรงฟันแรงเกินไป และควรทําความสะอาดให้ทั่วทุกซอกฟันโดยการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี

๒. ควรลดการรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือเปรี้ยวจัด เพราะอาจมีผลให้เคลือบฟันค่อยๆ สึกออกจากผิวฟัน ทําให้เนื้อฟันถูกเปิดออก

๓. พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก ๖ เดือน