เว็บไซต์เก่า

การอุดฟัน เมื่อไหร่…ยังไง

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

MU DENT faculty of dentistry

การอุดฟัน เมื่อไหร่…ยังไง

การรักษารากฟัน

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

MU DENT faculty of dentistry

การรักษารากฟัน

การฟอกสีฟันและการเคลือบผิวฟันต่างกันอย่างไร

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

MU DENT faculty of dentistry

การฟอกสีฟันและการเคลือบผิวฟันต่างกันอย่างไร

อ.ทพญ. มุนินทร์ ชัยชโลธร

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

การฟอกสีฟันคืออะไร?
การฟอกสีฟัน คือ การทำให้ฟันขาวขึ้นโดยใช้สารฟอกสีฟัน

 

สาเหตุที่ทำให้ฟันหมองคล้ำ
อาจเกิดจากการติดสีภายในหรือภายนอกตัวฟันก็ได้ หรืออาจเกิดร่วมกันก็ได้ ซึ่งการติดสีภายในตัวฟันก็มีหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากการได้รับยาบางชนิดในช่วงวัยเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงของการสร้างตัวฟัน หรือการเป็นโรคทางระบบบางชนิด ซึ่งก่อให้เกิดความผิดปกติในโครงสร้างของฟัน หรือการได้รับอุบัติเหตุที่ฟัน การกระแทก รอยผุ ฟันตาย ก็สามารถทำให้ฟันเปลี่ยนสีไปได้ ส่วนการติดสีภายนอกตัวฟันนั้น ส่วนมากมักเกิดจากสีที่อยู่ในอาหารที่เรารับประทาน ไม่ว่าจะเป็น ชา กาแฟ ไวน์แดง รวมถึงคราบบุหรี่

 

วิธีการรักษามีกี่วิธี ? อะไรบ้าง ?
การรักษาเพื่อให้ฟันขาวขึ้นนั้น ต้องพิจารณาวิธีการรักษาจากความรุนแรงของสีฟันที่ผิดปกติไป ขั้นต้นควรลองขัดฟันทำความสะอาดดูก่อนว่าฟันขาวขึ้นหรือไม่ หากยังคงมีสีที่เข้มผิดปกติอยู่จึงพิจารณาฟอกสีฟัน ซึ่งหลักๆ มี 2 วิธี คือ ทำโดยทันตแพทย์ และทำเองที่บ้าน
สำหรับการทำโดยทันตแพทย์ จะใช้สารฟอกสีฟันที่ความเข้มข้นสูงใช้เวลาไม่นาน เห็นผลรวดเร็ว
สำหรับการทำเองที่บ้าน ทันตแพทย์จะพิมพ์ปากเพื่อทำอุปกรณ์ถาดฟอกสีฟัน ให้ผู้ป่วยนำกลับไปใส่ที่บ้าน หรือกรณีที่ทำมาสำเร็จรูปแล้วก็มี

 

ประสิทธิภาพของการฟอกสีฟัน
ฟันที่ถูกฟอกสีจะมีการคืนกลับของสี เข้มขึ้นเล็กน้อยซึ่งเกิดจากการดูดน้ำกลับของฟัน และจะคงที่ภายใน 6 สัปดาห์แรกหลังจากฟอกสี หากทำโดยทันตแพทย์มักเห็นผลว่าขาวขึ้นทันทีภายหลังจากการฟอกสีฟัน แต่หากเป็นการทำเองที่บ้าน ฟันจะค่อยๆ ขาวขึ้น ซึ่งอาจจะเห็นความแตกต่างได้น้อยกว่า และเนื่องจากการฟอกสีโดยทันตแพทย์นั้นใช้เวลาเร็วเพื่อให้ฟันขาวขึ้น ดังนั้นการกลับคืนของสีก็จะเร็วกว่าการฟอกเองที่บ้านด้วย จึงแนะนำให้ทำร่วมกันทั้ง 2 วิธี ภายใต้คำแนะนำของทันตแพทย์

 

ข้อดี – ข้อเสีย และผลข้างคียง
ข้อดี ก็เป็นที่แน่นอนว่าทำให้ฟันขาวขึ้น
ข้อเสีย นั้นในบางกรณีอาจเกิดอาการเสียวฟันได้ และหากน้ำยาฟอกสีฟันไปสัมผัสบริเวณเหงือกก็อาจทำให้เกิดแผลได้ นอกจากนี้การฟอกสีจะเปลี่ยนเฉพาะสีฟันเท่านั้น ไม่มีผลต่อวัสดุอุดเดิมและครอบฟันเดิม หากมีวัสดุอุดเดิมอยู่หรือครอบฟันเดิมอยู่ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนให้มีสีที่เท่ากันกับภายหลังการฟอกสี

 

วิธีการดูแลรักษาเพื่อคงสภาพสีฟันหลังจากการฟอกสีฟัน
งดการรับประทานอาหารที่มีสีเข้ม เพื่อชะลอการติดสีของฟัน และดูแลอนามัยช่องปากให้ดี หากมีอาการเสียวฟันก็อาจใช้ยาสีฟันช่วยลดอาการเสียวฟันได้

 
 
 
 

การเคลือบผิวฟัน ( Veneer )

 

 

การเคลือบผิวฟันคืออะไร ?
การเคลือบผิวฟัน หรือ veneer นั้นคือ การใช้วัสดุสีเหมือนฟันปิดบริเวณผิวหน้าของฟัน

 

เพราะเหตุใดจึงต้องเคลือบผิวฟัน
ทำเมื่อต้องการแก้ไขขนาด รูปร่าง หรือตำแหน่งของฟันที่มีความผิดปกติเล็กน้อย รวมทั้งในบางกรณีสามารถที่จะเปลี่ยนสีของฟันให้เสมอกันได้ด้วย

 

ประเภทของการเคลือบผิวฟัน
หลักๆ มี 2 ประเภท
1. การทำ veneer ขึ้นโดยตรงภายในช่องปากด้วยเรซินคอมโพสิต
2. การสร้างชิ้นงานจากห้องปฏิบัติการแล้วนำมายึดติดในช่องปาก ชิ้นงานอาจทำจากวัสดุเซรามิก หรือวัสดุคอมโพสิตอีกชนิดหนึ่ง จะมีความคงทนมากกว่าประเภทแรก ชิ้นงานที่ทำขึ้นจะมีความหนาประมาณ 0.3 – 0.5 mm. หรือประมาณความหนาของ contact lens

 

ขั้นตอนการรักษา
เริ่มแรกจะต้องได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียดก่อนว่าปัญหาที่ต้องการแก้ไข สามารถแก้ไขด้วยการทำ veneer ได้ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการกรอผิวเคลือบฟันเพื่อเตรียมให้ฟันมีลักษณะที่เหมาะสมต่อการทำ veneer หากเป็นการทำโดยตรงในช่องปากจะสามารถทำ veneer ด้วยเรซินคอมโพสิตต่อได้เลย แต่หากเลือกใช้วัสดุเซรามิก ทันตแพทย์จะพิมพ์แบบจำลองฟัน ในกรณีที่ต้องส่งแล็บเพื่อสร้างชิ้นงาน เมื่อได้ชิ้นงานแล้วก็นำมายึดติดในช่องปากอีกครั้ง

 

ข้อดี – ข้อเสีย
ข้อดี มีความคงทน สวยงาม สีจะขาวขึ้นโดยควบคุมได้มากกว่าการฟอกสีฟัน สามารถเลือกสีที่ต้องการได้ตั้งแต่ต้น
ข้อเสีย คือมีการกรอฟัน ทำให้สูญเสียเนื้อฟัน

 

วิธีการดูแลรักษาหลังทำการเคลือบฟัน
ควรดูแลอนามัยช่องปากให้ดี รวมทั้งควรงดการใช้งานที่ผิดปกติ เช่น นำไปกัดอาหารแข็งหรือเหนียว

 
 
 
 

ช่องว่างระหว่างฟัน แก้ไขอย่างไร

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

MU DENT faculty of dentistry

ช่องว่างระหว่างฟัน แก้ไขอย่างไร

อ.ทพญ.อภิญญา ลิ้มวิศิษฎ์สกุล

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

ช่องว่างระหว่างฟันคืออะไร
โดยลักษณะปกติแล้ว ฟันสองซี่จะอยู่ติดกันโดยปราศจากช่องว่างแต่ถ้าฟันสองซี่ที่ติดกันไม่อยู่ชิดกันด้วยสาเหตุใดๆก็ตาม ก็จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อความสวยงามและเศษอาการติดตรงบริเวณนั้นได้

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันคืออะไร

สาเหตุที่เกิดช่องว่างระหว่างฟันมีด้วยกันหลายสาเหตุ
1. การสูญเสียฟันก่อนกำหนด หรือฟันแท้ไม่ขึ้นในช่องปาก ทำให้มีช่องว่างบริเวณนั้น
2. ความไม่สัมพันธ์กันของซี่ฟันและขนาดขากรรไกร โดยซี่ฟันมีขนาดเล็ก แต่ขากรรไกรมีขนาดใหญ่ แม้ฟันจะขึ้นครบในช่องปากก็ยังเกิดช่องว่างบริเวณนั้นได้
3. ลักษณะนิสัยผู้ป่วยที่มักใช้ลิ้นดุนฟันเวลากลืนทำให้มีแรงดันที่ฟันหน้าเกิดเป็นช่องว่างที่บริเวณนั้น
4. ความผิดปกติของเนื้อเยื่อโยงยึดระหว่างริมฝีปากกับสันเหงือก ที่มีลักษณะหนาหรือแข็งมากกว่าปกติหรือยึดเกาะผิดตำแหน่งทำให้ขวางการเคลื่อนมาประชิดกันของฟันหน้า
5. การได้รับอุบัติเหตุบางประการ ที่ทำให้ฟันโยกเคลื่อนจากตำแหน่งและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
6. เกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์รุนแรง ที่ทำให้ฟันเคลื่อนโยกออกจากตำแหน่งเดิมและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

 

ปัญหาต่างๆนั้นเราสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

สำหรับวิธีการรักษาช่องว่างระหว่างฟัน สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาก็คือสาเหตุการเกิดช่องว่างระหว่างฟันนั้นและทำการแก้ไขให้ถูกต้องตามสาเหตุ

การรักษาที่ 1 คือ การติดตามดูอาการร่วมกับการปรับพฤติกรรมในผู้ป่วยที่มีสาเหตุของช่องว่างระหว่างฟันที่เกิดจากการเอาลิ้นดุนฟัน

การรักษาที่ 2 คือ การจัดฟันโดยใช้เครื่องมือช่วยในการเคลื่อนฟันให้มาประชิดกัน

 
 
 

การรักษาที่ 3 คือ การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันหรือการใช้การเคลือบผิวหน้าฟันที่เรียกว่า วีเนียร์ (Veeneer)

 
 
 

การรักษาที่ 4 คือ ในกรณีที่คนไข้มีช่องว่างระหว่างฟันที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อโยงยึดก็จะต้องทำการผ่าตัดแก้ไขร่วมกับการรักษาอื่นๆ ที่กล่าวไปเบื้องต้น

Frenectomy

 
 
 

Koora K, Muthu M S, Rathna PV. Spontaneous closure of midline diastema following frenectomy. J Indian Soc Pedod Prev Dent 2007;25:23-6

 
 
 

การรักษาสุดท้าย ในกรณีที่ช่องว่างระหว่างฟัน มีขนาดใหญ่ที่จะอุดปิดได้ก็อาจจะต้องพิจารณาในการใช้ฟันทดแทน แต่จะเลือกการรักษาโดยวิธีการใด จำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

การดูแลรักษาหลังจากที่ได้ทำการรักษาไปแล้วควรทำอย่างไร
คือ การแปรงฟันร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันตามปกติ แต่ในกรณีรักษาโดยการอุดปิดด้วยวัสดุสีเหมือนฟันหรือเคลือบผิวฟันอาจต้องระวัง หลีกเลี่ยงการกัดอาหาร แข็งเหนียว เนื่องจากวัสดุอุดหรือบริเวณนั้นมีโอกาสแตกหักได้ง่ายกว่าฟันปกติ

 
 
 
 

รักษารากฟันคืออะไร

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

MU DENT faculty of dentistry

รักษารากฟันคืออะไร

ทำไมต้องอุดฟัน

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

MU DENT faculty of dentistry

ทำไมต้องอุดฟัน

รศ.ดร. ดนุชิษณ์ พนมยงค์

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

การอุดฟันคืออะไร ?

การอุดฟัน คือ การทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปจากกรณีต่างๆ ดังนี้

1. ฟันผุ
2. ฟันสึก
3. ฟันแตกหักหรือบิ่นเนื่องจากอุบัติเหตุ
4. วัสดุอุดเก่าชำรุดหรือบิ่น

เพื่อให้กลับมามีรูปร่างฟันตามปกติ สามารถใช้บดเคี้ยวอาหารได้ รวมถึงมีความสวยงาม โดยเฉพาะในบริเวณฟันหน้า ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและวินิฉัยว่าควรได้รับการอุดฟันหรือไม่

 

มารู้จักวัสดุอุดฟันกันเถอะ
วัสดุอุดฟันที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีดังนี้

1. วัสดุอุดโลหะ (อะมัลกัม)
2. วัสดุอุดสีเหมือนฟัน (เรซินคอมโพสิต)

นอกจากนี้ยังมีวัสดุอุดฟันชนิดอื่นๆ เช่น ทอง กลาสไอโอโนเมอร์ พอร์ซเลน

 

วัสดุอุดโลหะ (อะมัลกัม)
เป็นวัสดุอุดฟันที่คงทน แข็งแรง และราคาไม่แพง แต่เนื่องจากวัสดุมีสีเงิน/สีเทา มองแล้วไม่สวยงาม จึงไม่นิยมใช้ในบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย เช่น ฟันหน้า สำหรับผู้ป่วยที่อุดด้วยวัสดุอุดนี้ ไม่ควรเคี้ยวอาหารด้านที่อุดฟันเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง เนื่องจากวัสดุที่ใช้ ในระยะแรกยังมีความแข็งแรงไม่เต็มที่ มีโอกาสเสี่ยงต่อการแตกหักได้ อย่างไรก็ตามสามารถเคี้ยวอาหารได้ปกติภายหลัง 24 ชั่วโมง

 
 
 

วัสดุอุดสีเหมือนฟัน (เรซินคอมโพสิต)
เป็นวัสดุอุดที่มีสีใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ จึงมักถูกเลือกใช้สำหรับบริเวณที่ต้องการความสวยงาม วัสดุอุดนี้มีความแข็งแรงพอสมควร แต่รับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่าวัสดุอุดโลหะจึงไม่นิยมใช้อุดฟันขนาดใหญ่ อาจจะเกิดการบิ่น แตกหักได้ง่าย และมีราคาแพงกว่าวัสดุอุดโลหะ นอกจากนี้ในระยะยาวสามารถติดสีคราบจากชา กาแฟ หรือยาสูบได้

 
 
 

ฟันที่ได้รับการอุดจะอยู่กับเราได้นานเท่าใด ?

ความคงทนของวัสดุอุดนั้นขึ้นอยู่กับ

• ชนิดของวัสดุอุดที่ใช้
• การบดเคี้ยว การใช้งาน การเลือกรับประทานอาหาร ที่ไม่แข็ง และเหนียวเกินไป
• การดูแลรักษาความสะอาดช่องปากที่ดี
• พฤติกรรมของแต่ละบุคคล เช่น นอนกัดฟัน การแปรงฟันแรงเกินไป เป็นต้น

 

สรุป
การอุดฟัน เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียเนื้อฟันที่เกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ เท่านั้น แต่การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตนเอง ด้วยการแปรงฟันที่ถูกวิธี ลดพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่ดี เช่น การกินอาหารที่เหนียวติดฟัน การใช้ฟันผิดหน้าที่ ชอบเคี้ยวของแข็ง ฯลฯ และมาพบทันตแพทย์เป็นประจำ ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก