INTRANET

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

การแปรงฟันถูกวิธี

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

MU DENT faculty of dentistry

การแปรงฟันถูกวิธี

การแปรงฟันอย่างถูกวิธี

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

MU DENT faculty of dentistry

การแปรงฟันอย่างถูกวิธี

อ.ทพ.คมสัน ลาภาอุตย์

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

1. ฟันด้านนอก

– วางขนแปรงเข้าหาฟันให้ปลายขนแปรงอยู่บริเวณขอบเหงือก
โดยเอียงทำมุม 45 องศา กับตัวฟันและขนานกับแนวฟัน
– ขยับขนแปรงไปมาในแนวหน้าหลัง เป็นระยะสั้นๆ ไม่เกินครึ่งซีฟัน
– ปัดขนแปรงขึ้นในฟันล่างและปัดลงสำหรับฟันบน
– ในแต่ละตำแหน่งควรแปรงประมาณ 10 ครั้ง

2. ฟันด้านใน

– วางขนแปรงบริเวณขอบเหงือกและแปรงฟัน
เช่นเดียวกับการแปรงฟันด้านนอก

3. ฟันด้านบดเคี้ยว

– วางขนแปรงบริเวณด้านบดเคี้ยวของฟัน
โดยวางแปรงให้หน้าตัดขนแปรงอยู่ด้านบนของฟันบดเคี้ยว
ถูไปมาในแนวหน้าหลังทั้งฟันบนและฟันล่าง

4. ฟันหน้าด้านใน

– วางแปรงสีฟันในแนวตั้ง
ใช้ปลายแปรงสีฟันแปรงด้านหลังของฟันหน้าแต่ละซี่
โดยขยับและปัดปลายขนแปรงมาทางปลายขอบฟัน
ทั้งฟันหน้าบนและฟันหน้าล่าง

5. แปรงลิ้น

– อย่าลืมแปรงที่ลิ้นเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์และป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นปาก
โดยการปัดขนแปรงสีฟัน จากโคนลิ้นมาทางปลายลิ้นประมาณ 10 ครั้ง

 

ใช้ไหมขัดฟันอย่างไรให้ฟันสะอาดยิ่งขึ้น ?

1. ดึงไหมขัดฟันออกมา ความยาวประมาณ 18 นิ้ว ให้พันที่นิ้วกลาง ทั้ง 2 ข้าง ดึงให้ไหมขัดฟันตึง

2. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับไหมขัดฟันแล้วค่อยๆ เลื่อนเส้นไหมลงระหว่างซอกฟัน

3. โอบไหมขัดฟันรอบตัวฟันแต่ละซี่และเลื่อนเส้นไหมลงใต้เหงือกแล้วเคลื่อนไหมขึ้นไปทางปลายฟัน ทำซ้ำ 4 – 5 ครั้ง

 

แปรงสีฟัน ยาสีฟัน

– ควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม
– เลือกยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
– แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน
– การแปรงฟันควรใช้เวลาอย่างน้อยครั้งละ 2 นาที
– ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือน

 

น้ำยาบ้วนปากจำเป็นหรือไม่ ?

สำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากนั้น
นอกเหนือจากการทำความสะอาดเศษอาหารที่ตกค้าง
อยู่ในช่องปากโดยการใช้ไหมขัดฟันและการแปรงฟันที่ถูกวิธีแล้ว
ยังควรมีการเสริมสร้างความแข็งแรงของฟันโดยการ
ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
ก็จะสามารถลดโอกาสในการเกิดปัญหาต่างๆ ของสุขภาพช่องปากได้

ข้อควรปฏิบัติก่อนการรักษาทางทันตกรรม

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

MU DENT faculty of dentistry

ข้อควรปฏิบัติก่อนการรักษาทางทันตกรรม

อ.ทพ.คมสัน ลาภาอุตย์

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

8 ข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติก่อนการรักษาทางทันตกรรม

ควรแปรงฟันให้สะอาดก่อนที่จะพบกับทันตแพทย์
ผู้ป่วยหลายๆ คนอาจจะเตรียมตัวมาแล้วในเบื้องต้น
เพราะอาจจะเกิดจากความไม่มั่นใจ อาย กลัวว่ามีกลิ่นปาก
หรือกลิ่นบุหรี่ ผู้ป่วยที่เตรียมตัวมาแล้วจะมีข้อดีอีกข้อคือทันตแพทย์
จะได้ตรวจและประเมินด้วยว่าถ้าผู้ป่วยแปรงอย่างดีที่สุดแล้ว
ยังมีตำแหน่งไหนที่ผู้ป่วยยังแปรงไม่สะอาดอีก
ทันตแพทย์ก็จะได้แนะนำคนไข้ได้ถูกต้อง

ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
โรคหัวใจหรือตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบและ
ควรจะนำใบรับรองแพทย์หรือยาติดตัวมาด้วยเพราะในหลายๆ
กรณีของการรักษาทางทันตกรรมจำเป็นต้องดูว่าผู้ป่วยมีโรคทางระบบ
หรือได้รับยาอะไรอยู่บ้าง ทันตแพทย์จะได้ประเมินแผนการรักษา
ทางทันตกรรมในเบื้องต้นเป็นกรณีไปว่ามีผลต่อการรักษาทางทันตกรรมหรือไม่

ผู้ป่วยที่มีฟันเทียม
ควรนำฟันเทียมติดตัวมาด้วยเพราะจะได้ตรวจทั้งสุขภาพ
ของฟันธรรมชาติและสภาพของฟันเทียมที่ใส่ทดแทน
ดูการถอด การใส่ การยึดติดดูว่ามีกระดกหรือขยับเวลาที่พูดหรือไม่
ใส่ฟันเทียมแล้วเจ็บไหม

กรุณาแต่งกายให้เหมาะสม
ในสุภาพสตรีอาจจะแต่งกายให้มิดชิด
เพราะถ้าผู้ป่วยใส่เสื้อคอกว้างหรือกระโปรงสั้นๆ
อาจจะดูไม่เหมาะสมและอาจจะไม่สะดวก
แก่การเคลื่อนไหวร่างกายในการรักษาทางทันตกรรม

แต่งหน้าหรือทาลิปสติกบางๆ
ผู้ป่วยจะเลือกแต่งหน้าทาลิปสติกสีที่ชอบมาจากบ้าน
แล้วค่อยเช็ดออกหรืออาจจะทำฟันเสร็จแล้วค่อยเข้าห้องน้ำ
แต่งหน้าทาปากสวยๆ ดีกว่า เพราะการทาลิปสติก
จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนตัวฟันและเครื่องมือของทันตแพทย์
หรือบางทีก็จะมีผลต่อการรักษา
เช่น การเทียบสีของวัสดุอุดฟันหรือในการทำฟันเทียมต่างๆ

กรุณาปิดเครื่องมือสื่อสารหรือปิดเสียง
ในการใช้โทรศัพท์อยากให้เป็นมารยาทร่วมกัน
ของทั้งผู้ป่วยและญาติรวมทั้งทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์
ขอความร่วมมือผู้ป่วยช่วยปิดเสียงโทรศัพท์
เพราะทั้งทันตแพทย์และผู้ป่วยก็อยากจะให้การรักษาทางทันตกรรมรวดเร็ว
และราบรื่นหรือถ้ามีธุระจริงๆ อาจรอไว้ทำฟันให้เสร็จก่อนค่อยคุยจะดีกว่า

การวางแผนนัดหมาย นัดหมายล่วงหน้า
ถ้าจะให้ดีที่สุดควรจะติดต่อทำการนัดหมายล่วงหน้ามาก่อน
ซึ่งจะช่วยให้ทันตแพทย์วางแผนและควบคุมเวลา
ทั้งในแง่ของการให้การรักษา การเดินทางหรือกิจธุระอื่นๆ
ของผู้ป่วยไม่ใช่รอให้มีอาการหรือมีปัญหาก่อนแล้วค่อยมาฉุกเฉิน
ทุกอย่างอาจจะวุ่นวาย การรักษาอาจจะไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร

ในกรณีคนไข้เด็ก
ผู้ปกครองควรพาเด็กมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
ก่อนจะมีอาการเจ็บปวดในช่องปาก เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกดีๆ
มาทำความคุ้นเคยกับทันตแพทย์กับเก้าอี้ทำฟันก่อน
และไม่ควรปลูกฝังทัศนคติที่ไม่ดีด้วยการขู่ว่า “เดี๋ยวจะให้หมอฉีดยานะ”
“เดี๋ยวจะให้หมอถอนฟันนะ” ข้อดีคือเด็กจะไม่เกิดความกังวล
ไม่เกิดความกลัวในการรักษาทางทันตกรรม การรักษาก็จะไม่ยุ่งยาก
ซับซ้อน ไม่เจ็บ ไม่แพง ไม่เสียเวลา ในขณะเดียวกัน
ถ้าปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานของท่านมีฟันผุ
จนกระทั่งปวดแล้วค่อยมาหาทันตแพทย์ การรักษาในวันนั้นๆ ก็จะเจ็บ
มีค่าใช้จ่ายที่สูง และสุดท้ายก็ทำให้เด็กเกิดความกลัวในการมารักษาทางทันตกรรม
เมื่อรับการรักษาเสร็จเรียบร้อย ผู้ป่วยควรดูแลปฏิบัติตน
เพื่อเป็นการป้องกันโรคในทุกๆ วัน ซึ่งเป็นการรักษาที่ดีที่สุด
และควรมาพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ตาม
เพราะจะเป็นผลดีต่อตัวท่านเอง ทั้งสุขภาพช่องปากที่ดีและประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

อาหารและของว่าง เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของเด็ก

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

MU DENT faculty of dentistry

อาหารและของว่าง เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของเด็ก

อ.ทพ. ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

 

สุขภาพช่องปากและฟันที่ดีคืออะไร
ถ้าพูดถึงสุขภาพช่องปากแล้ว หลายๆ คนอาจจะคิดถึงแค่สุขภาพฟันเท่านั้น คิดว่าสุขภาพช่องปากที่ดีคือการมีสุขภาพฟันที่ดี แต่ที่จริงแล้วช่องปากของเรามีอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม กล้ามเนื้อบดเคี้ยวหรือแม้แต่ข้อต่อขากรรไกร

ดังนั้นการมีสุขภาพช่องปากที่ดีจะไม่ได้หมายถึง การที่ไม่มีโรคเกี่ยวกับฟันเท่านั้น แต่หมายถึง ภาวะที่ปราศจากโรคของฟัน เหงือก และอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบบดเคี้ยว ไม่มีอาการเจ็บ ไม่ปวด รวมถึงไม่มีความผิดปกติอื่นๆ เช่นกรณีแผลในช่องปากหรือมีหนอง มีกลิ่นปากหรือแม้กระทั่ง การมีเนื้องอกต่างๆ ในช่องปาก ซึ่งการมีสุขภาพช่องปากที่ดีจะส่งผลทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย นั่นก็คือเราจะสามารถรับประทานอาหาร ได้อย่างปกติ มีความสุขในการกิน ซึ่งจะส่งผลให้เราเจริญอาหารและมีสุขภาพร่างกายที่ดี

นอกจากนี้การที่เราไม่มีการผิดปกติต่างๆ เช่น อาการเจ็บ อาการปวดระหว่างรับประทานอาหารหรือว่าระหว่างทำงาน ก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ สุขภาพภาพช่องปากที่ดีก็เกี่ยวกับการเข้าสังคมด้วยเหมือนกัน นั่นก็คือ ถ้าเราไม่ต้องกังวลกับเรื่องความสวยงามหรือเรื่องกลิ่นปากต่างๆ เราก็จะสามารถใช้ชีวิตเข้าสังคมได้อย่างมีความมั่นใจ ไม่เสียบุคลิก

 

ควรจะทำอย่างไรเพื่อจะได้มีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี
การมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดีนั้นไม่ยากเลย แต่ว่าต้องอาศัยความใส่ใจคือต้องรักษาความสะอาดของช่องปากให้ดี นั่นก็คือแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แล้วใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ

 

 
 

รวมถึงในเรื่องของอาหารการกินด้วย เราก็ต้องดูแลใส่ใจในการเลือกอาหารการกิน เช่น เราไม่ควรจะทานอาหารที่มีลักษณะเหนียวและแข็งบ่อยๆ เพราะจะทำให้ช่องปากของเราทำงานหนัก ซึ่งจะมีผลทำให้เราปวดขากรรไกร หรือทำให้ฟันสึกได้ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพราะว่าถ้าเราทานอาหารจุกจิก จะทำให้ฟันเราสัมผัสกับอาหารบ่อยขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ฟันของเรามีโอกาสที่จะผุมากขึ้น

 
 
 

อย่างสุดท้ายที่จะทำให้เรามีสุขภาพช่องปากที่ดี คือ ควรมาพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้ทันตแพทย์ได้ตรวจสุขภาพช่องปากของเราว่ายังอยู่ในสภาวะที่ปกติหรือไม่ ถ้าเจอปัญหาอะไร จะได้แก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ การที่เราไม่มาพบทันตแพทย์เป็นระยะเวลานาน บางครั้งเรามีปัญหาในช่องปากแต่เราอาจไม่รู้ตัว รู้อีกทีก็สายไป เมื่อมาพบทันตแพทย์ การรักษาอาจจะยากขึ้น หรือว่าไม่สามารถรักษาฟันซี่นั้นๆ ได้อีกต่อไป

 

ฟันผุเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

MU DENT faculty of dentistry

ฟันผุเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

อ.ทพ. คมสัน ลาภาอุตย์

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

 

ฟันผุเกิดจากอะไร
ฟันผุเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการทำลายแร่ธาตุ (Demineralize) ของโครงสร้างฟัน ซึ่งมีสาเหตุมาจาการสร้างกรดของแบคทีเรียเพื่อมาย่อยเศษอาหารที่ตกค้างหลังจากที่เราทานอาหารเข้าไปนั่นเอง (ความเชื่อที่ว่า “แมงกินฟัน” นั้นอาจจะหมายถึง “แบคทีเรีย” ที่สร้างกรดซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นไม่ใช่แมงหรือแมลงเป็นตัวๆ !!!)

 
 

ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดฟันผุ
๑. ฟันและสภาพช่องปากของเรา
๒. เชื้อแบคทีเรีย (ซึ่งอยู่ในช่องปากของเราทุกคนเป็นปกติ)
๓. อาหารโดยเฉพาะประเภทน้ำตาล
๔. เวลาและความถี่ในการบริโภค เช่น การทานจุบจิบระหว่างมื้ออาหาร

 

ส่วนไหนของฟันที่มักพบว่าผุได้มากกว่าส่วนอื่น
ฟันของเรามีส่วนที่ราบเรียบและส่วนที่เป็นหลุมร่องฟันต่างๆ ซึ่งส่วนหลุมร่องฟันนี่เองที่มีโอกาสจะเกิดฟันผุได้ง่ายเพราะเป็นตำแหน่งที่มีโอกาสที่เศษอาหารที่ตกค้างจะสะสมอยู่และมักจะไม่สามารถทำความสะอาดได้หมด จึงทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย นอกจากนี้ตำแหน่งที่เรียกว่าซอกระหว่างฟันหรือด้านประชิดของฟันคือตำแหน่งที่ฟันอยู่ติดกับฟันซี่อื่นก็มักจะมีฟันผุได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งฟันผุในลักษณะนี้จะมีการลุกลามอย่างรวดเร็วและในหลายๆ กรณีมักจะเกิดฟันผุติดกันทั้ง ๒ ซี่

 

ถ้าฟันผุแล้วไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น
ปัญหาที่เกิดตามมาจากฟันผุมเยอะมาก ถ้าฟันผุลกมากๆ ก็จะมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน บางกรณีก็จะมีปัญหาเรื่อง บุคลิกภาพ เช่น เรื่องการมีกลิ่นปาก ปัญหาเรื่องความสวยงาม นอกจากนี้หากมีฟันผุลึกมากจนทะลุชั้นเนื้อเยื่อในฟันก็จะเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบ ทำให้มีอาการปวดร่วมกับมีการบวมอาจมีตุ่มหนอง ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาทีมีความร้ายแรงอื่นๆ ต่อได้ เช่น ฟันโยกจนต้องถอนฟันหรือเกิดการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่ระบบอื่นๆ ของร่างกายได้

 

วิธีป้องกันฟันผุมีวิธีใดบ้าง
เป็นเรื่องที่ทุกๆ ท่านทราบกันดีอยู่แล้ว หากพิจารณาจาก ๓

– ๔ ปัจจัยที่ทำให้เกิดฟันผุนั้น ปัจจัยจากเชื้อโรคเราคงควบคุมไม่ได้มาก ปัจจัยจากตัวฟันเราควบคุมได้ในระดับหนึ่ง เช่น การเคลือบหลุมร่องฟัน แต่สิ่งสำคัญคือปัจจัยจากอาหารที่เราทานเข้าไปทุกวัน ซึ่งถ้าเราสามารถทำความสะอาดได้เกลี้ยงดจนไม่เหลือเศษอาหารตกค้างก็จะเป็นอาหารให้เชื้อแบคทีเรียมาย่อยสลายจนเกิดกรดมาทำลายเนื้อฟันได้ ดังนั้นการทำความสะอาดฟันที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดฟันผุได้ ได้แก่ การแปรงฟันอย่างถูกวิธีโดยใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน


นอกจากนี้เรื่องพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ทานอาหารจุบจิบอาหารระหว่างมื้อ การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ การไม่สูบบุหรี่ การไม่ใช้ฟันผิดหน้าที่ เช่น การใช้ฟันเปิดขวด (หรือการแข่งใช้ฟันยกของหนักๆ หรือลากรถเพื่อทำสถิติ!) การไม่ไปรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การจัดฟันแฟชั่น การทำฟันปลอมเถื่อน เป็นต้นสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดฟันผุและรวมไปจนถึงปัญหาอื่นๆ ของสุขภาพช่องปาก (เช่น มะเร็งในช่องปาก) ได้ด้วย


ผู้คนทั่วไปมักละเลยไม่เอาใจใส่สุขภาพช่องปากเห็นว่าปัญหา เช่น ฟันผุนั้นไม่ร้ายแรงไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาโรคในช่องปากนำมาซึ่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยตรงทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจทางด้านสังคม เช่น ความมั่นใจ บุคลิกภาพเด็กที่มีปัญหาฟันผุมากๆ ก็มักจะมีปัญหาในด้านการเจริญเติบโต บางทีอาจถึงขั้นต้องหยุดเรียนจนเสียการเรียนไป หรือหากเป็นผู้ใหญ่ที่ละเลยปล่อยให้ปัญหาฟันผุลุกลามไปมาก ขั้นตอนการรักษาก็ยิ่งต้องซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพิ่มภาระทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษาที่นานมากขึ้น ทั้งที่ในความจริงแล้วเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ด้วยการดูแลสุขภาพช่องปากของเราให้ดี การทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธีและทั่วถึง หมั่นเอาใจใส่ตรวจดูฟันของเราอยู่เสมอและควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง เพื่อตรวจหรือให้การรักษาในขณะที่ปัญหาหรือโรคต่างๆ ยังไม่รุนแรง เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีจะอยู่คู่กับเราไปนานๆ

แปรงฟัน ถูกวิธี ฟันดีตลอดชีวิต

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

MU DENT faculty of dentistry

แปรงฟัน ถูกวิธี ฟันดีตลอดชีวิต

รอยฟันสึก

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

MU DENT faculty of dentistry

รอยฟันสึก

ผศ.ดร.ทพญ. เยาวลักษณ์ เงินวิวัฒน์กุล

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

รอยฟันสึกที่เกิดจากการประกอบอาชีพ (Abrasion from Occupation)

รอยฟันสึกที่เกิดจากการประกอบอาชีพ (Abrasion from Occupation) นั้นสามารถเกิดจากกระบวนการที่เป็นการเสียดสีหรืออาจเกิดจากการทำงานกับสารเคมีบางชนิด ซึ่งในแผ่นพับนี้จะเน้นการเสียดสีที่เกิดได้จากการประกอบอาชีพ

 

รอยฟันสึก (Abrasion)

รอยฟันสึกนี้เกิดจากการที่มีวัตถุแปลกปลอมเสียดสีหรือถูบริเวณผิวฟันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นเวลานาน สาเหตุหลักคือการใช้ฟันหน้าที่ผิดหน้าที่ ได้แก่ การใช้ฟันหน้าในการกัดด้ายเย็บผ้าหรือเข็ม

 

การกระทำเหล่านี้นำไปสู่การสึกของฟันหน้า อาชีพที่พบรอยสึกเช่นนี้ ได้แก่ ช่างเย็บผ้า ช่างไม้ ช่างจักสาน ตามลำดับ ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาแนวคิดการดูแลทันตสุขภาพของผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดารของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในชุมชนที่มีอาชีพจักสานเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมในชุมชนนั้นๆ จะพบว่ามีรอยสึกที่ฟันหน้าด้านเพดานฟันบนและรอยสึกที่ฟันหน้าล่างด้านริมฝีปากซึ่งเป็นการสึกถึงระดับที่ชั้นเนื้อฟัน ในกรณีรุนแรงอาจพบการสึกเกินกึ่งหนึ่งของตัวฟันซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพช่องปากอย่างยิ่ง ดังนั้นการให้ความรู้เพื่อให้เกิดความตระหนักในการใช้ฟันผิดหน้าที่ในกลุ่มเสี่ยงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

 

การวินิจฉัยรอยสึก

โดยทั่วไปเริ่มจากการสอบถาม ซักประวัติ เกี่ยวกับการประกอบอาชีพของครอบครัว ตลอดจนการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน และอาชีพเสริมภายในชุมชน ส่วนการตรวจสอบทางคลินิกของรอยสึกมีสองวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ การบันทึกตำแหน่ง ลักษณะของรอยสึก และระดับความลึกของรอยสึก

การบูรณะฟันที่สึก

วิธีการรักษา ใช้วิธีอุดฟันหรือครอบฟันแต่ทั้งนี้ ความสำเร็จของการรักษาในระยะยาวจะขึ้นกับการดูแลสุขภาพในช่องปากที่ดีควรมีวิธีแนะนำให้ผู้ป่วยทราบถึงสาเหตุและหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดรอยสึกขึ้นอีก

 

การป้องกัน

ควรมีการให้ความรู้เพื่อให้เกิดความตระหนักในการใช้ฟันผิดหน้าที่ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมดังกล่าวตลอดจนมีการดูแลในช่องปากและพบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง