INTRANET

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ความผิดปกติของการสบฟันในผู้ป่วยวัยเด็ก

ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน

MU DENT faculty of dentistry

ความผิดปกติของการสบฟันในผู้ป่วยวัยเด็ก

อ.ทพ.พงศธร พู่ทองคำ

ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน

การสบฟันลึก หมายถึง ระยะเหลื่อมแนวดิ่งที่ฟันหน้ามากกว่า 1/3 ของความสูงของฟันหน้าล่าง สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะฟันน้ำนมและระยะฟันชุดผสม (ช่วงที่ฟันแท้ยังขึ้นไม่ครบและยังมีฟันน้ำนมเหลืออยู่) ในการรักษาจะอาศัยการแก้ไขด้วยเครื่องมือทันตกรรมจัดฟันชนิดถอดได้ หรือเครื่องมือฟังก์ชันนอล เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรล่าง

การสบฟันเปิด ที่พบได้บ่อย มักพบที่ฟันหน้าบนล่างไม่สบกัน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการดูดนิ้ว การกลืนที่ผิดปกติ โดยในการรักษาควรให้ฝึกวางตำแหน่งลิ้นให้กลืนอย่างถูกต้อง ร่วมกับการใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ โดยอาจเป็นเครื่องที่ช่วยในการขยายขากรรไกร หรือเป็นเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น

 

ฟันสบคร่อม หมายถึง ลักษณะที่ฟันล่างสบคร่อมฟันบน (โดยปกติฟันบนจะสบคร่อมฟันล่าง) พบได้ทั้งในฟันหน้าและฟันหลัง ฟันสบคร่อมควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ด้วยการใส่เครื่องมือถอดได้ที่ติดสปริงหรือสกรูและเพลทเพื่อยกฟันหลัง และสามารถดันฟันที่สบคร่อมออกมา หรืออาจใช้ร่วมกับเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นก็ได้

 

ฟันซ้อนเก มักพบในระยะฟันชุดผสม ฟันแท้ที่ขึ้นมาทดแทนจะมีขนาดใหญ่กว่าฟันน้ำนมที่หลุดออกไป ฟันจึงขึ้นมาเบียดซ้อนกัน หรือเกิดจากการสูญเสียฟันน้ำนมบางซี่ไปก่อนกำหนด ทำให้ฟันข้างเคียงเคลื่อนที่เข้ามาแทน การรักษาขึ้นอยู่กับการตรวจวินิจฉัยโดยทันตแพทย์ว่าควรทำเลยหรือรอจนฟันแท้ขึ้นจนครบได้

 

คราวนี้ทุกคนก็พอจะทราบแล้วว่าลักษณะการสบฟันที่ผิดปกติในวัยเด็กเป็นอย่างไร สาเหตุหลักๆ มักมีด้วยกัน 3 ประการ

1. จากการมีลักษณะนิสัยการดูดนิ้ว, การกลืนที่ผิดปกติ ซึ่งเรื่องนี้คุณแม่คุณพ่อก็ต้องดูกันตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ กันเลย
2. การดูแลฟันน้ำนมไม่ถูกต้อง ทำไมต้องดูแลฟันน้ำนมให้ดี เพราะฟันน้ำนมนอกจากจะมีไว้บดเคี้ยวตามธรรมชาติ ช่วยในการออกเสียงแล้วยังเป็นผู้ดูแลช่องว่างเตรียมไว้ให้ฟันแท้ที่จะขึ้นมาทดแทนด้วย ถ้าเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาอันควรช่องว่างสำหรับฟันแท้จะมีไม่พอ เกิดปัญหาฟันซ้อนเกตามมาได้
3. สาเหตุจากกรรมพันธุ์ ไม่เพียงแต่มีผลเฉพาะกับฟัน เช่น ลักษณะรูปร่างของฟัน ขนาดฟัน จำนวนฟัน เท่านั้น ยังส่งผลต่อลักษณะของโครงหน้าอีกด้วย เช่น หน้ากลม หน้ารูปไข่ หน้าเหลี่ยม คางสั้น คางยื่น เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมิน วินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมจากทันตแพทย์เฉพาะทางสาขา ทันตกรรมจัดฟัน

 

ไขปัญหาระหว่างการจัดฟัน

ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน

MU DENT faculty of dentistry

ไขปัญหาระหว่างการจัดฟัน

อ.ทพ.ดร.ณัฐพล ตั้งจิตร

ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน

1. จัดฟันแล้วพูดไม่ชัด,น้ำลายหก เกิดจากสาเหตุใด

Ans : ในระยะแรกที่เริ่มติดเครื่องมือจัดฟันไป ผู้ป่วยส่วนมากจะพบปัญหาการพูดไม่ชัด บางคนถึงขั้นน้ำลายหกโดยไม่รู้สึกตัว เนื่องจากผู้ป่วยยังไม่ชินกับอุปกรณ์ที่ทันตแพทย์ติดที่ผิวฟัน รวมทั้งลวด อุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่มีผลทำให้ขัดขวางการออกเสียง หรือปิดปากได้ไม่สนิท แต่อาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไป หลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มปรับตัวได้โดยที่ร่างกายเราจะปรับตัวได้เอง ซึ่งระยะเวลาในการปรับตัวนั้นช้าหรือเร็วแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นคนที่เริ่มจัดฟันไม่ต้องเป็นกังวลไปนะครับ หลังจากติดเครื่องมือไปใหม่ๆ พยายามจิบน้ำเปล่าบ่อยๆ ไม่ให้ปากแห้ง จะช่วยลดการเสียดสีของเครื่องมือกับริมฝีปากและกระพุ้งแก้มได้ ป้องกันการเป็นแผลในช่องปากและช่วยให้เราปรับตัวกับเครื่องมือได้ง่ายขึ้น

 

2. จัดฟันแล้วมีปัญหากลิ่นปาก

Ans : ปัญหากลิ่นปากเกิดจากการที่มีเศษอาหารตกค้างอยู่ภายในช่องปากเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเครื่องมือจัดฟันไป จะทำให้เศษอาหารตกค้างได้ง่ายกว่าปกติ และทำความสะอาดได้ยาก ดังนั้นระหว่างที่จัดฟันอยู่จำเป็นต้องดูแลทำความสะอาดฟันให้มากกว่าปกติ แปรงฟันทุกครั้งหลังทานอาหารและก่อนนอน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันที่ออกแบบมาสำหรับคนที่กำลังจัดฟัน นอกจากนี้อาจใช้ร่วมกับแปรงซอกฟันและน้ำยาบ้วนปากหลังจากที่แปรงฟันเสร็จแล้ว หลังจากแปรงฟันเสร็จ อย่าลืมแปรงลิ้นด้วยนะครับ เพราะลิ้นเป็นอีกแห่งที่มีการสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้ง่าย นอกจากนี้หมั่นไปตรวจสุขภาพช่องปากและรับการขูดหินปูนเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

 

3. เผลอกลืนอุปกรณ์จัดฟันลงคอ ควรทำอย่างไร

Ans : ในบางครั้งอาจมีการหลุดของอุปกรณ์จัดฟันอย่างเช่น แบร็คเก็ต ยางจัดฟัน ผู้ป่วยบางรายอาจเผลอกลืนลงไป แต่ไม่ต้องกังวลครับ เนื่องจากอุปกรณ์จัดฟันทำมาจากวัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ยกเว้นอุปกรณ์ที่ติดกับหมอเถื่อน ไม่ทราบแหล่งที่มาของอุปกรณ์ได้แน่ชัด อันนี้หมอไม่รับประกันนะครับ โดยปกติหลังจากกลืนลงคอไปแล้ว ร่างกายจะกำจัดออกมาทางการขับถ่ายตามปกติ คำแนะนำจากหมอคือพยายามปฏิบัติตามที่ทันตแพทย์บอก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีลักษณะแข็ง เหนียว หรือชิ้นใหญ่จนเกินไป เพราะจะทำให้อุปกรณ์จัดฟันหลุดได้ นอกจากมีโอกาสกลืนลงคอได้ ยังทำให้การรักษาไม่คืบหน้า ส่งผลให้การรักษาใช้เวลาที่นานขึ้น

 

4. เหล็กจัดฟันชอบหลุดต้องรอให้ถึงกำหนดนัดหรือไม่

Ans : ในกรณีที่สามารถพบทันตแพทย์จัดฟันได้เร็วกว่ากำหนดนัด ก็แนะนำให้ไปพบได้ก่อนเพื่อให้คุณหมอตรวจและแก้ไขแต่เนิ่นๆ เพราะว่าการที่เหล็กจัดฟันหลุดบ่อยจะมีผลให้การรักษาไม่คืบหน้าและต่อเนื่อง หากเหล็กจัดฟันหลุดในตำแหน่งฟันซี่สุดท้าย มักจะทำให้ปลายลวดทิ่มที่กระพุ้งแก้มเป็นแผลได้ ทางที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีผลให้เหล็กจัดฟันหลุดได้ง่าย เช่น การรับประทานอาหารที่แข็งเกินไป หรือมีลักษณะเหนียว เช่น น้ำแข็ง ท้อฟฟี่ ถั่ว ผลไม้ดิบ เป็นต้น แนะนำให้หั่นอาหารเป็นชิ้นเล็กพอคำก่อนทาน แปรงฟันไม่แรงจนเกินไป ระวังปลายหัวแปรงกระแทกกับเหล็ก หรือการใช้ไม้จิ้มฟันไม่ระวังซึ่งอาจทำให้เหล็กจัดฟันหลุดได้

 

5. ลวดทิ่มแก้มหรือเหงือกจนเป็นแผลทำอย่างไรดี

Ans : หากปลายลวดยื่นออกมาไม่มากนัก แนะนำใช้ขี้ผึ้งที่ได้รับจากทันตแพทย์จัดฟัน ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แล้วแปะทับไปที่ลวดหรือเครื่องมือที่แหลมคม แต่ถ้าปลายลวดยื่นออกมามาก หรือปลายลวดหลุดออกมาจากเหล็กจัดฟัน ให้รีบไปพบแพทย์ที่เรารักษาอยู่ เพื่อแก้ไขได้ทันท่วงที

 

6. ยางรัดลวดจัดฟันสีสันมีประโยชน์อะไรหรือไม่

Ans : สีสันต่างๆของยางจัดฟัน ไม่ได้มีผลต่อการรักษา เพราะทำมาจากวัสดุชนิดเดียวกัน คุณสมบัติเหมือนกัน เพียงแต่ใส่สีเพื่อความสวยงาม และมีความหลากหลาย กระตุ้นให้ผู้ป่วยอยากมาเปลี่ยนสียางในทุกๆ เดือน แต่ในบางคนที่อยู่ในวัยทำงานหรือผู้ชายมักจะไม่นิยมสีสัน ไม่อยากให้ดูเด่นจนเกินไป ก็มักจะเลือกสียางที่เป็นสีใส สีเหมือนฟันหรือสีเงินกลมกลืนไปกับเหล็กจัดฟัน

 

7. จัดฟันบนหรือฟันล่างอย่างเดียวได้ไหม เพราะอะไร

Ans : ในกรณีที่จัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติเพียงซี่ สองซี่ สามารถจัดฟันแค่ฟันบนหรือฟันล่างอย่างเดียวได้ แต่โดยทั่วไปแล้วเราจะจัดฟันทั้งฟันบนและฟันล่างเพื่อให้มีการสบฟันที่ดี สบฟันได้สนิท ส่งผลให้ระบบการเคี้ยวอาหารมีประสิทธิภาพ กระจายแรงบดเคี้ยวไปที่ฟันทุกๆ ซี่ ลดปัญหาฟันสึก ประสาทฟันอักเสบ รวมไปถึงป้องกันการเกิดโรคข้อต่อขากรรไกรได้

 

8. ถ้าต้องย้ายที่อยู่หรือต้องการเปลี่ยนหมอควรทำอย่างไร

Ans : อันดับแรกคือต้องไปปรึกษาหมอที่จัดฟันให้เราอยู่ก่อนว่าเราไม่สะดวกจัดฟันต่อ ขอให้คุณหมอช่วยเขียนหนังสือส่งตัว หรือหนังสือย้ายเคส พร้อมทั้งขอแบบพิมพ์ฟันก่อน / ระหว่างการรักษา ฟิลม์เอ็กซเรย์ รูปถ่ายและประวัติการรักษา เพื่อให้คุณหมอที่จะรับทำต่อ สามารถวางแผนการรักษาต่อไปได้ ตามปกติแล้ว จะไม่แนะนำให้ย้ายเคสโดยไม่มีเหตุจำเป็น เพราะทำให้การรักษาเสียเวลานานขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ต้องเริ่มจ่ายใหม่ อีกทั้งหาคุณหมอที่จะรับเคสต่อได้ยาก ดังนั้นก่อนการจัดฟัน เราต้องวางแผนให้ดีก่อนว่าจะสามารถมาทำการรักษากับคุณหมอท่านนั้นได้ต่อเนื่องตลอดการรักษาได้หรือไม่

 

9. หลังจากที่จัดเสร็จฟันจะมีสภาพเรียงตัวเช่นนี้ได้นานเท่าใด ตลอดชีวิตหรือไม่

Ans : การเรียงตัวของฟันหลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันแล้วจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอในการใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน หรือเรียกว่า รีเทนเนอร์ (Retainer) เพราะหลังจากจัดฟันแล้ว ฟันจะมีแนวโน้มเคลื่อนกลับไปสู่ตำแหน่งเดิมก่อนการจัดจากแรงของเนื้อเยื่อภายในช่องปาก จึงจำเป็นต้องใส่รีเทนเนอร์จนกว่าเนื้อเยื่อต่างๆ ภายในช่องปากจะปรับตัวเข้าสู่สมดุลภายใต้สภาพการเรียงตัวของฟันใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจัดฟันเสร็จ ส่วนระยะเวลาในการใส่รีเทนเนอร์ของแต่คนละคนจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์จัดฟันผู้ให้การรักษา ซึ่งโดยปกติจะใส่รีเทนเนอร์อย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป