เว็บไซต์เก่า

การเคลือบผิวฟัน ( Veneer )

การเคลือบผิวฟัน ( Veneer )

การเคลือบผิวฟันคืออะไร ?

ก่อนอื่นขออนุญาติเรียกการเคลือบผิวฟันว่า veneer การเคลือบผิวฟันคือ การใช้วัสดุสีเหมือนฟันปิดบริเวณผิวหน้าของฟัน

 

เพราะเหตุใดจึงต้องเคลือบผิวฟัน

Veneer ทำเมื่อต้องการแก้ไขขนาด รูปร่าง หรือตำแหน่งของฟันที่มีความผิดปกติเล็กน้อย รวมทั้งในบางกรณีสามารถที่จะเปลี่ยนสีของฟันให้เสมอกันได้ด้วย

 

ประเภทของการเคลือบผิวฟัน

หลักๆ มี 2 ประเภท

  • การทำชิ้นงานขึ้นโดยตรงภายในช่องปากด้วยเรซินคอมโพสิต
  • การสร้างชิ้นงานจากแล็บแล้วนำมาติดในช่องปากซึ่งทำจากวัสดุเซรามิก จะมีความคงทนมากกว่าแบบแรก

 

ขั้นตอนการรักษา

เริ่มแรกจะต้องได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียดก่อนว่าปัญหาที่ต้องการแก้ไขสามารถแก้ไขด้วยการทำ veneer ได้ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการกรอผิวเคลือบฟัน เพื่อเตรียมให้ฟันมีลักษณะที่เหมาะสมต่อการทำ veneer หากเป็นการทำโดยตรงในช่องปากจะสามารถทำ veneer ด้วยเรซินคอมโพสิตต่อได้เลย แต่หากเลือกใช้วัสดุเซรามิก ทันตแพทย์จะพิมพ์แบบจำลองฟันในกรณีที่ต้องส่งแล็บเพื่อสร้างชิ้นงาน เมื่อได้ชิ้นงานแล้วก็นำมายึดติดในช่องปากอีกครั้ง

 

ข้อดี – ข้อเสีย

  • ข้อดี มีความคงทน สวยงาม สีจะขาวขึ้นโดยควบคุมได้มากกว่าการฟอกสีฟัน สามารถเลือกสีที่ต้องการได้ตั้งแต่ต้น
  • ข้อเสีย คือมีการกรอฟัน ทำให้สูญเสียเนื้อฟัน

 

วิธีการดูแลรักษาหลังทำการเคลือบฟัน

ควรดูแลอนามัยช่องปากให้ดี รวมทั้งควรงดการใช้งานที่ผิดปกติ เช่น นำไปกัดอาหารแข็งหรือเหนียว

อ.ทพญ. มุนินทร์ ชัยชโลธร

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การรักษารากฟันคืออะไร

การรักษารากฟันคืออะไร

การรักษารากฟัน คือขบวนการกำจัดเนื้อเยื่อในโพรงฟันและคลองรากฟันที่มีการติดเชื้อ และอักเสบ ร่วมกับการทำความสะอาดในคลองรากฟันให้ปราศจากเชื้อโรค จากนั้นจึงอุดคลองรากฟันและบูรณะตัวฟันเพื่อความแข็งแรงและสวยงามให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

สาเหตุ

ฟันที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน ส่วนใหญ่เป็นฟันที่ผุลึกมากจนทะลุโพรงประสาทฟัน ฟันที่ร้าว แตกหัก หรือสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน และฟันที่ได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปในโพรงประสาทฟันและทำให้เกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันได้

อาการ

ฟันที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน มักมีอาการปวดฟันขึ้นมาเอง อาจปวดแบบเป็นๆหายๆ หรือปวดรุนแรงจนนอนไม่หลับ หรือทำให้ต้องตื่นเนื่องจากปวดฟันมาก หรือมีอาการเสียวฟันมากเวลาดื่มของร้อนหรือเย็น รู้สึกเจ็บฟันเวลาเคี้ยวอาหาร บางครั้งอาจพบว่าฟันเปลี่ยนสี มีสีคล้ำ หรือมีอาการเหงือกบวม มีตุ่มหนอง หรือบวมบริเวณใบหน้าได้

วิธีการรักษา

ขั้นตอนการรักษา เริ่มจากการใส่ยาชา ใส่แผ่นยางกันน้ำลาย จากนั้นจึงกรอฟันเพื่อเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟัน กำจัดเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อออกด้วยเครื่องมือที่มีขนาดเล็ก ร่วมกับการล้างคลองรากฟันด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ และใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟัน เมื่อฟันมีอาการที่ปกติแล้วจะทำการอุดคลองรากฟันเพื่อปิดช่องว่างไม่ให้เชื้อโรคกลับเข้ามาอาศัยได้อีก โดยปกติจะใช้เวลาการรักษาประมาณ 2-3 ครั้งขึ้นอยู่กับความยากง่ายและสภาพการติดเชื้อของฟันแต่ละซี่ หลังจากนั้นจึงทำการบูรณะตัวฟันให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

คำแนะนำระหว่างการรักษา

หลังการรักษาในแต่ละครั้งอาจพบอาการปวดได้บ้าง ประมาณ 1-3 วันแรก สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการปวดเป็นมากขึ้น ให้กลับมาพบทันตแพทย์ และไม่ควรใช้ฟันกัดหรือเคี้ยวอาหารแข็งถ้าหากว่ายังไม่ได้บูรณะตัวฟันให้แข็งแรง อาจทำให้ฟันแตกหรือหักได้

ฟันที่ทำการรักษาจะอยู่ได้นานเท่าใด

ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันและบูรณะตัวฟันเสร็จแล้ว จะสามารถอยู่กับเราได้นานเท่ากับฟันที่ปกติ ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพฟันและช่องปากของแต่ละคน

ฟันที่รักษาจะปวดได้อีกหรือไม่

ถ้าสามารถกำจัดสาเหตุและเชื้อโรคได้หมด และการบูรณะฟันทำได้ดีไม่รั่วซึม ร่วมกับการดูแลทำความสะอาดฟันที่ดีไม่มีการผุเพิ่มเติม ฟันก็จะไม่มีอาการปวดกลับมาอีก

การดูแลรักษา

สามารถดูแลรักษาได้เหมือนฟันปกติ โดยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟัน และหมั่นมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟัน อย่างน้อยปีละ2ครั้ง

สรุป

โดยปกติแล้วฟันที่มีการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน การถอนฟันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่การรักษารากฟัน จะเป็นหนทางที่จะช่วยเก็บรักษาฟันให้คงอยู่ในช่องปากต่อไปได้ โดยไม่ต้องสูญเสียฟันและไม่ต้องใส่ฟันเทียม ซึ่งบางชนิดมีราคาที่ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับการรักษารากฟัน และถ้าเราดูแลฟันได้ดี ตรวจฟันสม่ำเสมอ เมื่อฟันผุก็ให้รีบอุดฟันตั้งแต่ที่ยังมีขนาดเล็กๆ อย่ารอจนมีอาการปวด ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะต้องรักษารากฟันได้ครับ

อ.ทพ. ชิตพล ชัยมานะการ

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มารู้จักฟันเทียมกันเถอะ

มารู้จักฟันเทียมกันเถอะ

ฟันเทียมคืออะไร….

ฟันเทียมคือสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว ป้องกันการเกิดปัญหาการล้มเอียงของฟันข้างเคียง การยื่นยาวของฟันคู่สบ ปัญหาข้อต่อขากรรไกร ช่วยในเรื่องการออกเสียงและความสวยงาม ชนิดของฟันเทียมแบ่งออกได้เป็น

ฟันเทียมชนิดถอดได้

หมายถึงสิ่งประดิษฐ์ซึ่งใช้ทดแทนฟันหนึ่งซี่ หรือมากกว่า ได้แก่ ฟันเทียมบางส่วนถอดได้ และ ฟันเทียมทั้งปาก ผู้ป่วยสามารถใส่หรือถอดฟันปลอมชนิดนี้ได้ด้วยตนเอง มีทั้งที่ทำจากเรซินอะคริลิก (พลาสติก) และโลหะ ฟันเทียมชนิดถอดได้นี้ อาศัยการยึดกับตัวฟันด้วยตะขอ หรือความแนบสนิทของฐานฟันเทียมกับเนื้อเยื่อในช่องปาก

ฟันเทียมชนิดติดแน่น

คือสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้บูรณะฟันในกรณีที่มีการสูญเสียเนื้อฟันบางส่วนเนื่องมาจากรอยผุ หรือฟันแตกหักได้แก่ ครอบฟัน หรือกรณีที่ใช้ทนแทนฟันที่หายไป ได้แก่ สะพานฟันติดแน่น ซึ่งจะติดแน่นอยู่กับฟันที่เหลืออยู่ในช่องปาก ในการเตรียมฟันเพื่อทำสะพานฟันติดแน่นนั้นจะต้องมีการกรอแต่งฟันซี่ข้างเคียงที่ติดอยู่กับช่องว่างด้วย  วัสดุที่ใช้ทำครอบฟันหรือสะพานฟันนั้นอาจทำมากจากโลหะล้วน โลหะเคลือบกระเบื้องสีเหมือนฟัน หรือ ทำจากกระเบื้องล้วนไม่มีส่วนผสมของโลหะ

ทั้งนี้ฟันเทียมยังหมายรวมถึงรากเทียม (รูปที่3) ซึ่งเป็นวัสดุโลหะที่มีรูปร่างคล้ายรากฟัน นำเข้าไปฝังไว้ในกระดูกขากรรไกร ทดแทนรากฟันที่หายไป จากฟันที่ถูกถอนออกไป ใช้ร่วมกับฟันเทียมแบบถอดได้ หรือฟันเทียมแบบติดแน่น

มีวิธีดูแลรักษาฟันเทียมอย่างไร….

ฟันเทียมทั้งแบบติดแน่น และแบบถอดได้ ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการรักษาสุขอนามัยที่ดีของช่องปาก

กรณีฟันเทียมแบบติดแน่นนั้น จะต้องให้การดูแลเหมือนฟันธรรมชาติคือ แปรงฟันอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้เครื่องมือช่วยอื่น เช่น ไหมขัดฟัน ทั้งนี้ ฟันที่ทำครอบฟันหรือสะพานฟันติดแน่นแล้วนั้น ยังสามารถเกิดรอยผุต่อได้ ซึ่งหากรอยผุลุกลาม จำเป็นต้องให้การรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น ใช้ระยะเวลาในการรักษาและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น วิธีการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันกรณีฟันเทียมติดแน่นนั้น ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์เพื่อให้ใช้ได้อย่างถูกวิธี

ฟันเทียมชนิดถอดได้ ผู้ป่วยควรถอดออกทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร และก่อนนอน ในการทำความสะอาดฟันเทียมถอดได้ ควรใช้แปรงสีฟันขนนิ่มร่วมกับน้ำสบู่อ่อนหรือยาสีฟันชนิดที่ไม่มีผงขัดผสมอยู่มากเกินไป แปรงทำความสะอาดทั้งด้านนอกและด้านในของฟันเทียม เวลาทำความสะอาดจะต้องมีภาชนะใส่น้ำรองรับอยู่ข้างใต้เสมอ กรณีที่ฟันเทียมพลาดตกจากมือจะได้ไม่แตกหักหรือบิดเบี้ยว  ฟันเทียมควรได้รับการถอดออกในตอนกลางคืนหรือตอนนอน เพื่อป้องกันการเกิดเนื้อเยื่อในช่องปากอักเสบ เมื่อถอดฟันเทียมออกแล้วให้ทำความสะอาดแล้วแช่น้ำในภาชนะมีฝาปิด ส่วนฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ในช่องปากนั้นก็จำเป็นต้องได้รับการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้ป่วยมักจะทำความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะฟันด้านที่ติดกับช่องไร้ฟัน อาจใช้แปรงอันเล็ก หรือผ้าก็อซร่วมด้วย

การที่ทันตแพทย์จะทำฟันเทียมให้ผู้ป่วยนั้น จะต้องใช้การตรวจวิเคราะห์ เก็บข้อมูล ทั้งแบบพิมพ์ฟัน และภาพถ่ายรังสี นำมาออกแบบฟันเทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย จากนั้นจะต้องเตรียมช่องปากเพื่อให้พร้อมสำหรับการใส่ฟัน นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนของการประดิษฐ์ฟันเทียมในห้องปฏิบัติการที่ซับซ้อน เป็นเหตุให้อาจจะใช้ระยะเวลานานกว่าที่ผู้ป่วยจะได้รับฟันเทียม หลังจากใส่ฟันเทียมไปในครั้งแรกนั้น อาจมีอาการผิดปกติหรือมีอาการเจ็บเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยจะต้องกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อรับตรวจแก้ไข จนผู้ป่วยใช้งานฟันเทียมได้ดีขึ้น

ฟันเทียมนั้นถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทนแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป แต่หากไม่ใส่ใจดูแลใช้งานฟันเทียมอย่างเหมาะสม อาจทำให้สูญเสียฟันธรรมชาติที่มีอยู่แทนได้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความสะอาด และหมั่นกลับมารับการตรวจจากทันตแพทย์เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ

อ.ทพญ.ธารี จำปีรัตน์

อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล