เว็บไซต์เก่า

MU DENT faculty of dentistry

รอยฟันสึก

ผศ.ดร.ทพญ. เยาวลักษณ์ เงินวิวัฒน์กุล

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

รอยฟันสึก

 

รอยฟันสึกที่เกิดจากการประกอบอาชีพ (Abrasion from Occupation)

รอยฟันสึกที่เกิดจากการประกอบอาชีพ (Abrasion from Occupation) นั้นสามารถเกิดจากกระบวนการที่เป็นการเสียดสีหรืออาจเกิดจากการทำงานกับสารเคมีบางชนิด ซึ่งในแผ่นพับนี้จะเน้นการเสียดสีที่เกิดได้จากการประกอบอาชีพ

รอยฟันสึก (Abrasion)

รอยฟันสึกนี้เกิดจากการที่มีวัตถุแปลกปลอมเสียดสีหรือถูบริเวณผิวฟันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นเวลานาน สาเหตุหลักคือการใช้ฟันหน้าที่ผิดหน้าที่ ได้แก่ การใช้ฟันหน้าในการกัดด้ายเย็บผ้าหรือเข็ม

 
 

การกระทำเหล่านี้นำไปสู่การสึกของฟันหน้า อาชีพที่พบรอยสึกเช่นนี้ ได้แก่ ช่างเย็บผ้า ช่างไม้ ช่างจักสาน ตามลำดับ ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาแนวคิดการดูแลทันตสุขภาพของผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดารของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในชุมชนที่มีอาชีพจักสานเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมในชุมชนนั้นๆ จะพบว่ามีรอยสึกที่ฟันหน้าด้านเพดานฟันบนและรอยสึกที่ฟันหน้าล่างด้านริมฝีปากซึ่งเป็นการสึกถึงระดับที่ชั้นเนื้อฟัน ในกรณีรุนแรงอาจพบการสึกเกินกึ่งหนึ่งของตัวฟันซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพช่องปากอย่างยิ่ง ดังนั้นการให้ความรู้เพื่อให้เกิดความตระหนักในการใช้ฟันผิดหน้าที่ในกลุ่มเสี่ยงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

การวินิจฉัยรอยสึก

โดยทั่วไปเริ่มจากการสอบถาม ซักประวัติ เกี่ยวกับการประกอบอาชีพของครอบครัว ตลอดจนการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน และอาชีพเสริมภายในชุมชน ส่วนการตรวจสอบทางคลินิกของรอยสึกมีสองวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ การบันทึกตำแหน่ง ลักษณะของรอยสึก และระดับความลึกของรอยสึก

 
 

การบูรณะฟันที่สึก

วิธีการรักษา ใช้วิธีอุดฟันหรือครอบฟันแต่ทั้งนี้ ความสำเร็จของการรักษาในระยะยาวจะขึ้นกับการดูแลสุขภาพในช่องปากที่ดีควรมีวิธีแนะนำให้ผู้ป่วยทราบถึงสาเหตุและหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดรอยสึกขึ้นอีก

การป้องกัน

ควรมีการให้ความรู้เพื่อให้เกิดความตระหนักในการใช้ฟันผิดหน้าที่ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมดังกล่าวตลอดจนมีการดูแลในช่องปากและพบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง