เฝือกสบฟันคืออะไร
เฝือกสบฟัน หรือ Occlusal splint
เป็นเครื่องมือทางทันตกรรมอย่างหนึ่งที่ทันตแพทย์
ทำให้ผู้ป่วยใส่ในช่องปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
ของข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว
และยังป้องกันฟันสึกในกรณีที่ผู้ป่วยนอนกัดฟัน
เฝือกสบฟันเหมาะกับใครบ้าง
เฝือกสบฟันเหมาะสมกับผู้ที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรบางประเภท เช่น
1. มีนิสัยนอนกัดฟัน หรือขบเน้นฟันในเวลากลางวัน
มีการใช้งานกล้ามเนื้อบดเคี้ยวมากกว่าปกติ
ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรได้
2. มีเสียงคลิกและติดขัดเวลาอ้าปากหรือหุบปาก
3. มีภาวะข้อเสื่อมของขากรรไกร
เฝือกสบฟันช่วยคุณได้อย่างไร
เฝือกสบฟันช่วยกระจายแรงสบฟันอย่างเหมาะสม ทำให้ลดแรงที่กล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอาการปวด นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันฟันสึกจากการนอนกัดฟันได้
ชนิดของเฝือกสบฟัน
1. เฝือกสบฟันชนิดอ่อน (Soft Occlusal Splint) เป็นเฝือกสบฟันที่ทำจากวัสดุนิ่ม ทำได้ง่ายและรวดเร็ว มักใช้ในกรณีที่
– ผู้ป่วยอายุน้อย ขากรรไกรยังมีการเจริญเติบโต จึงไม่ขัดขวางการเจริญเติบโตของขากรรไกร
– ใช้บำบัดฉุกเฉินในผู้ป่วยที่มีอาการปวดมาก ใช้ชั่วคราวระหว่างรอทำเฝือกสบฟันชนิดแข็ง
– ใช้ในกรณีอื่นๆ เช่น ป้องกันฟันสึกกร่อนจากการว่ายน้ำที่ต้องสัมผัสน้ำคลอรีนเป็นเวลานานๆ ใช้ป้องกันการกระทบกระแทกขณะเล่นกีฬาบางประเภท เป็นต้น
ข้อเสีย เฝือกสบฟันชนิดอ่อน มีอายุการใช้งานสั้น ไม่ทนทาน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อยๆ และบางครั้งอาจทำให้นอนกัดฟันมากขึ้นได้
2. เฝือกสบฟันชนิดแข็ง (Hard Occlusal splint) ทำจากพลาสติกชนิดแข็ง มีอายุการใช้งานนานกว่าเฝือกสบฟันชนิดอ่อน มักใช้ในกรณีที่
– นอนกัดฟัน เพื่อป้องกันฟันสึก และช่วยลดอาการเมื่อยล้าขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว
– ผู้ป่วยมีนิสัยขบเน้นฟันในเวลากลางวัน แล้วแก้นิสัยไม่หาย
– มีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรบางประเภท เช่น ข้อต่อขากรรไกรเสื่อม หรือมีเสียงคลิกและติดขัดเวลาอ้าปากหรือหุบปาก (บางราย)
ข้อเสีย เฝือกสบฟันชนิดแข็ง ใช้เวลาทำนาน จึงต้องเสียเวลามากกว่าเฝือกสบฟันชนิดอ่อน เฝือกสบฟันชนิดนี้อาจขัดขวางการเจริญเติบโตของขากรรไกรจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้ในเด็กที่ยังมีการเจริญเติบโตของขากรรไกรอยู่
แต่มีข้อดีที่สำคัญ คือ ทำให้การสบฟันมีเสถียรภาพขณะใส่และกล้ามเนื้อผ่อนคลายได้ดีกว่า
ข้อแนะนำในการใช้ เฝือกสบฟัน
– ควรใส่เฝือกสบฟันเฉพาะเวลากลางคืนหรือตามที่ทันตแพทย์ผู้รักษากำหนด
– โดยปกติเมื่อเริ่มใส่เฝือกสบฟัน อาจรู้สึกตึงเล็กน้อยที่ฟันประมาณ 2 – 3 นาที
– หากมีอาการเจ็บฟันจากการใส่เฝือกสบฟันควรถอดออก และรีบมาพบทันตแพทย์เพื่อปรับแต่งแก้ไข
– ขณะใส่เฝือกสบฟัน อาจมีน้ำลายไหลมากกว่าปกติในช่วงแรกๆ เมื่อใส่จนชินแล้วก็จะรู้สึกเป็นปกติ
– เมื่อถอดเฝือกสบฟัน อาจรู้สึกว่าการสบฟันเปลี่ยนไป หรือกัดฟันได้ไม่เหมือนเดิม สักครู่จึงจะรู้สึกกัดฟันได้ตามปกติ
– ควรทำความสะอาดเฝือกสบฟันทุกวัน โดยใช้แปรงสีฟันและยาสีฟันแปรงทั้งด้านนอกและด้านใน และแช่น้ำสะอาดเก็บในภาชนะที่มีฝาปิด เปลี่ยนน้ำทุกวัน