เว็บไซต์เก่า

MU DENT faculty of dentistry

อันตรายจาก…ฟันเทียมเถื่อน

ผศ.ดร.ทพญ. เยาวลักษณ์ เงินวิวัฒน์กุล

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

ฟันเทียม คือ ฟันที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป ฟันเทียมมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ ฟันเทียมชนิดติดแน่น และ ฟันเทียมชนิดถอดได้
ฟันเทียมเถื่อน คือ ฟันเทียมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากบุคคลที่มิใช่ทันตแทพย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ

 

1. ฟันเทียมที่ทำโดยทันตแพทย์ต่างกับฟันเทียมที่ทำตามแผงลอยอย่างไร ?
ฟันเทียมที่ทำโดยทันตแพทย์นั้นจะมีการออกแบบ และทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักการ ซึ่งฟันเทียมที่ได้จะมีการยึดอยู่ และถ่ายทอดแรงสู่ฟันธรรมชาติและเนื้อเยื่อได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ต่างจากฟันเทียมเถื่อนที่มีการออกแบบได้ไม่ถูกต้องตามหลักการ และอาจรวมถึงกระบวนการทำที่ไม่สะอาดปลอดภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาได้

 

2. อันตรายจากการทำฟันเทียมเถื่อน
– เนื้อเยื่อภายในช่องปากอักเสบ บวมแดง อาจรุนแรงถึงขั้นมีการละลายตัวของกระดูกขากรรไกร

 
 
 

– ฟันโยก แตก หรือหัก เหงือกรอบตัวฟันอักเสบ บวมแดง เป็นหนอง

 
 
 

– เกิดการติดเชื้อบริเวณใบหน้าขากรรไกร จากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดถูกหลักอนามัย หรือการใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม

 

3. การแก้ไข และการรักษาเมื่อมาพบทันตแพทย์
ฟันเทียมเถื่อนโดยมากไม่สามารถแก้ไขได้ และควรทำชุดใหม่ ทันตแพทย์จะตรวจภายในช่องปาก และถ่ายภาพรังสีในช่องปากอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนพิจารณาวางแผนการรักษาและออกแบบฟันเทียมชุดใหม่

 

4. คำแนะนำ
ผู้ป่วยส่วนมากเลือกที่จะทำฟันเทียมเถื่อนเพราะสะดวก รวดเร็ว และราคาถูกกว่าการทำฟันเทียมกับทันตแพทย์ ทันตแพทย์อยากให้ผู้ป่วยตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการใส่ฟันเทียมเถื่อนให้มาก ซึ่งบางครั้งอาจไม่คุ้มค่ากับเวลาเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการทำฟันเทียมกับทันตแพทย์จะได้ฟันเทียมที่สวยงาม ใช้งานได้นาน และได้มาตรฐานสะอาดปลอดภัย แม้จะใช้เวลาที่มาพบทันตแพทย์หลายครั้งและราคาสูงกว่า

 

5. สรุป
ทันตแพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยเลี่ยงการทำฟันเทียมกับผู้ที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ และมารับการรักษาที่ดีการทันตแพทย์จะดีที่สุด