เว็บไซต์เก่า

MU DENT faculty of dentistry

ทำไมต้องอุดฟัน

รศ.ดร. ดนุชิษณ์ พนมยงค์

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

การอุดฟันคืออะไร ?

การอุดฟัน คือ การทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปจากกรณีต่างๆ ดังนี้

1. ฟันผุ
2. ฟันสึก
3. ฟันแตกหักหรือบิ่นเนื่องจากอุบัติเหตุ
4. วัสดุอุดเก่าชำรุดหรือบิ่น

เพื่อให้กลับมามีรูปร่างฟันตามปกติ สามารถใช้บดเคี้ยวอาหารได้ รวมถึงมีความสวยงาม โดยเฉพาะในบริเวณฟันหน้า ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและวินิฉัยว่าควรได้รับการอุดฟันหรือไม่

 

มารู้จักวัสดุอุดฟันกันเถอะ
วัสดุอุดฟันที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีดังนี้

1. วัสดุอุดโลหะ (อะมัลกัม)
2. วัสดุอุดสีเหมือนฟัน (เรซินคอมโพสิต)

นอกจากนี้ยังมีวัสดุอุดฟันชนิดอื่นๆ เช่น ทอง กลาสไอโอโนเมอร์ พอร์ซเลน

 

วัสดุอุดโลหะ (อะมัลกัม)
เป็นวัสดุอุดฟันที่คงทน แข็งแรง และราคาไม่แพง แต่เนื่องจากวัสดุมีสีเงิน/สีเทา มองแล้วไม่สวยงาม จึงไม่นิยมใช้ในบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย เช่น ฟันหน้า สำหรับผู้ป่วยที่อุดด้วยวัสดุอุดนี้ ไม่ควรเคี้ยวอาหารด้านที่อุดฟันเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง เนื่องจากวัสดุที่ใช้ ในระยะแรกยังมีความแข็งแรงไม่เต็มที่ มีโอกาสเสี่ยงต่อการแตกหักได้ อย่างไรก็ตามสามารถเคี้ยวอาหารได้ปกติภายหลัง 24 ชั่วโมง

 
 
 

วัสดุอุดสีเหมือนฟัน (เรซินคอมโพสิต)
เป็นวัสดุอุดที่มีสีใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ จึงมักถูกเลือกใช้สำหรับบริเวณที่ต้องการความสวยงาม วัสดุอุดนี้มีความแข็งแรงพอสมควร แต่รับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่าวัสดุอุดโลหะจึงไม่นิยมใช้อุดฟันขนาดใหญ่ อาจจะเกิดการบิ่น แตกหักได้ง่าย และมีราคาแพงกว่าวัสดุอุดโลหะ นอกจากนี้ในระยะยาวสามารถติดสีคราบจากชา กาแฟ หรือยาสูบได้

 
 
 

ฟันที่ได้รับการอุดจะอยู่กับเราได้นานเท่าใด ?

ความคงทนของวัสดุอุดนั้นขึ้นอยู่กับ

• ชนิดของวัสดุอุดที่ใช้
• การบดเคี้ยว การใช้งาน การเลือกรับประทานอาหาร ที่ไม่แข็ง และเหนียวเกินไป
• การดูแลรักษาความสะอาดช่องปากที่ดี
• พฤติกรรมของแต่ละบุคคล เช่น นอนกัดฟัน การแปรงฟันแรงเกินไป เป็นต้น

 

สรุป
การอุดฟัน เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียเนื้อฟันที่เกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ เท่านั้น แต่การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตนเอง ด้วยการแปรงฟันที่ถูกวิธี ลดพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่ดี เช่น การกินอาหารที่เหนียวติดฟัน การใช้ฟันผิดหน้าที่ ชอบเคี้ยวของแข็ง ฯลฯ และมาพบทันตแพทย์เป็นประจำ ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก