เว็บไซต์เก่า

MU DENT faculty of dentistry

ช่องว่างระหว่างฟัน แก้ไขอย่างไร

อ.ทพญ.อภิญญา ลิ้มวิศิษฎ์สกุล

ภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์

ช่องว่างระหว่างฟันคืออะไร
โดยลักษณะปกติแล้ว ฟันสองซี่จะอยู่ติดกันโดยปราศจากช่องว่างแต่ถ้าฟันสองซี่ที่ติดกันไม่อยู่ชิดกันด้วยสาเหตุใดๆก็ตาม ก็จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อความสวยงามและเศษอาการติดตรงบริเวณนั้นได้

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันคืออะไร

สาเหตุที่เกิดช่องว่างระหว่างฟันมีด้วยกันหลายสาเหตุ
1. การสูญเสียฟันก่อนกำหนด หรือฟันแท้ไม่ขึ้นในช่องปาก ทำให้มีช่องว่างบริเวณนั้น
2. ความไม่สัมพันธ์กันของซี่ฟันและขนาดขากรรไกร โดยซี่ฟันมีขนาดเล็ก แต่ขากรรไกรมีขนาดใหญ่ แม้ฟันจะขึ้นครบในช่องปากก็ยังเกิดช่องว่างบริเวณนั้นได้
3. ลักษณะนิสัยผู้ป่วยที่มักใช้ลิ้นดุนฟันเวลากลืนทำให้มีแรงดันที่ฟันหน้าเกิดเป็นช่องว่างที่บริเวณนั้น
4. ความผิดปกติของเนื้อเยื่อโยงยึดระหว่างริมฝีปากกับสันเหงือก ที่มีลักษณะหนาหรือแข็งมากกว่าปกติหรือยึดเกาะผิดตำแหน่งทำให้ขวางการเคลื่อนมาประชิดกันของฟันหน้า
5. การได้รับอุบัติเหตุบางประการ ที่ทำให้ฟันโยกเคลื่อนจากตำแหน่งและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
6. เกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์รุนแรง ที่ทำให้ฟันเคลื่อนโยกออกจากตำแหน่งเดิมและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

 

ปัญหาต่างๆนั้นเราสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

สำหรับวิธีการรักษาช่องว่างระหว่างฟัน สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาก็คือสาเหตุการเกิดช่องว่างระหว่างฟันนั้นและทำการแก้ไขให้ถูกต้องตามสาเหตุ

การรักษาที่ 1 คือ การติดตามดูอาการร่วมกับการปรับพฤติกรรมในผู้ป่วยที่มีสาเหตุของช่องว่างระหว่างฟันที่เกิดจากการเอาลิ้นดุนฟัน

การรักษาที่ 2 คือ การจัดฟันโดยใช้เครื่องมือช่วยในการเคลื่อนฟันให้มาประชิดกัน

 
 
 

การรักษาที่ 3 คือ การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันหรือการใช้การเคลือบผิวหน้าฟันที่เรียกว่า วีเนียร์ (Veeneer)

 
 
 

การรักษาที่ 4 คือ ในกรณีที่คนไข้มีช่องว่างระหว่างฟันที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อโยงยึดก็จะต้องทำการผ่าตัดแก้ไขร่วมกับการรักษาอื่นๆ ที่กล่าวไปเบื้องต้น

Frenectomy

 
 
 

Koora K, Muthu M S, Rathna PV. Spontaneous closure of midline diastema following frenectomy. J Indian Soc Pedod Prev Dent 2007;25:23-6

 
 
 

การรักษาสุดท้าย ในกรณีที่ช่องว่างระหว่างฟัน มีขนาดใหญ่ที่จะอุดปิดได้ก็อาจจะต้องพิจารณาในการใช้ฟันทดแทน แต่จะเลือกการรักษาโดยวิธีการใด จำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

การดูแลรักษาหลังจากที่ได้ทำการรักษาไปแล้วควรทำอย่างไร
คือ การแปรงฟันร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันตามปกติ แต่ในกรณีรักษาโดยการอุดปิดด้วยวัสดุสีเหมือนฟันหรือเคลือบผิวฟันอาจต้องระวัง หลีกเลี่ยงการกัดอาหาร แข็งเหนียว เนื่องจากวัสดุอุดหรือบริเวณนั้นมีโอกาสแตกหักได้ง่ายกว่าฟันปกติ