เว็บไซต์เก่า

การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

MU DENT faculty of dentistry

การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

ผศ.ดร.ทพญ. เยาวลักษณ์ เงินวิวัฒน์กุล

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

การมีสุขภาพช่องปากที่ดีมีความสำคัญกับทุกวัย และยิ่งสำคัญเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุเพราะฟันของผู้สูงอายุที่เหลืออยู่ มีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้งานมายาวนาน หรือมีโรคที่เป็นมาตั้งแต่ก่อนถึงวัยสูงอายุ มีการสูญเสียฟัน เกิดช่องว่าง ทำให้การดูแลรักษาความสะอาดทำได้ยากกว่าฟันทั่วๆ ไป ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพช่องปากดีจะช่วยให้รู้สึกสบาย รับประทานอาหารได้อร่อยและหลากหลายประเภท มีร่างกายแข็งแรง ช่วยการพูดออกเสียงได้ชัดเจน ไม่ต้องกังวลในการเข้าสังคมและส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าสุขภาพช่องปากไม่ดีจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ เพราะจุลินทรีย์จากการติดเชื้อในช่องปากอาจผ่าเข้าสู่กระแสเลือดไปที่หัวใจ โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติความผิดปกติของหัวใจหรือเข้าสู่ทางเดินหายใจ

ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง
ปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือโรคฟันผุและเหงือกอักเสบซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียฟัน ทั้งโรคฟันผุและเหงือกอักเสบหรือปริทันต์อักเสบมีสาเหตุจากคราบจุลินทรีย์ (plaque) คราบจุลินทรีย์คือแผ่นคราบนิ่มๆ สีขาวที่มีเชื้อแบคทีเรีย คราบนี้สะสมที่ฟันและขอบเหงือก ดังนั้นการกำจัดคราบจุลินทรีย์โดยแปรงฟันให้สะอาดทุกวันจะช่วยป้องกันฟันผุ และเหงือกอักเสบ และลดการติดเชื้อในช่องปากได้

การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้สูงอายุที่มีฟันธรรมชาติ

• แปรงฟันให้สะอาดด้วยแปรงชนิดขนแปรงนิ่มร่วมกับยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและก่อนนอน
• ควรเลือกแปรงที่มีด้ามจับถนัดมือ หรือดัดแปลงด้ามจับให้มีขนาดเหมาะสมกับมือผู้สูงอายุ
• พยายามแปรงฟันทุกซี่ ทุกด้าน เพื่อกำจัดคราบอาหารและคราบจุลินทรีย์

• ใช้แปรงที่มีหัวแปรงขนาดเล็ก แปรงฟันซี่ที่อยู่โดดๆ

• ใช้ไหมขัดฟัน (dental floss) เช็ดทำความสะอาดบริเวณซอกฟัน เพราะขนแปรงสีฟันทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงบริเวณนี้ หรืออาจเลือกใช้แปรงซอกฟัน (proxabrush) ที่มีขนาดเหมาะสมกับซอกฟันตามคำแนะนำของทันตแพทย์

• ใช้ผ้าก๊อซพับเป็นแถบขนาดเล็กโอบเช็ดฟันด้านที่ติดกับช่องว่างที่ถอนฟันไปโดยเช็ดให้ชิดกับขอบเหงือก